เมืองไทย 360 องศา
นาทีนี้ไม่รู้ว่า “กลิ่นความเจริญ” กับ “กลิ่นหายนะ” สิ่งไหนจะมาก่อนกัน โดยเฉพาะสำหรับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กำลังลุ้นแบบห้าสิบ ห้าสิบ ว่าจะได้รับเสียงสนับสนุนจำนวน 376 เสียง เพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ได้หรือไม่ แม้ว่าจะสมารถรวบรวมเสียง ส.ส.ทั้ง 8 พรรครวมกันแล้วจำนวน 312 เสียงเกินครึ่งในสภาผู้แทน 251 เสียงไปไกลมากก็ตาม แต่เมื่อตามกติกาต้องพึ่งพาเสียงของส.ว.ในส่วนที่เหลือ ทำให้ต้องมาลุ้นแบบหายใจไม่ทั่วท้องกันต่อไป
ที่สำคัญยังต้องพะวงกับพรรคเพื่อไทยที่ยัง “ขี่คอ” ต่อรองเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่มีส่วนสำคัญต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และการเสนอกฎหมาย และวาระต่างๆในอนาคต ซึ่งหากได้ตำแหน่งดังกล่าวไป ย่อมทำให้พรรคเพื่อไทยมีแต้มต่อเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่อาจจะได้ข้อสรุป ในวันที่ 30 พฤษภาคมนี้ หลังจากมีการถกกันระหว่างสองพรรคเสร็จสิ้นลงก็เป็นได้ ดังนั้น ก็ต้องรอ แต่หากพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว พรรคเพื่อไทยยังไม่มีท่าทีถอย
อย่างไรก็ดี แม้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะสามารถฝ่าด่าน ส.ว. รวมทั้งสามารถเจรจาต่อรองเรื่องเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ได้ลงตัวกับพรรคเพื่อไทย จนได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่เค้าลางความยุ่งยากที่เขาต้องเจอนอกเหนือจากปัญหานโยบายของพรรคหลายเรื่องที่รอการพิสูจน์ และมีความเสี่ยงสูงแล้ว ที่สำคัญที่สุดที่ต้องเจอก็คือ “แรงเสียดทาน” จากคนในพรรคด้วยกันเอง หรือหากพูดให้เห็นภาพก็คือ กลุ่มคนที่มี “อิทธิพล”ในพรรคก้าวไกล นั่นเอง หรือจะเรียกว่า “กลุ่มปูลิตบูโร” หรือ ล่าสุดอาจมองเห็นภาพในลักษณะ “แก๊งสี่คน” ที่ชัดเจนขึ้น แม้อาจไม่ใช่เต็มร้อย แต่ก็ถือว่าใกล้เคียงทีเดียว
สำหรับ “แก๊งสี่คน” ที่ถือว่ามีความโดดเด่นและถูกมองว่ามีความพยายามถึงขั้นจะเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ”กันเลยทีเดียว แน่นอนว่าย่อมต้องเพ่งเล็งไปที่ “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ผู้ก่อตั้งและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ “นายปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ “นายชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล อดีตนักกิจกรรม รวมทั้ง “น.ส.พรรณิการ์ วานิช” ที่ยังมีบทบาทอยู่ในระดับแถวหน้าของพรรค โดยเฉพาะสองคนแรกที่มีที่มาจากอุดมการณ์ “ฟ้าเดียวกัน” มีกิจกรรมร่วมกันตั้งแต่เป็นนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย
แต่หากให้โฟกัสก็ต้องมองไปที่ นายธนาธร กับ นายปิยบุตร เป็นหลัก โดยเฉพาะคนหลังที่เริ่มมีความขัดแย้งกันอย่างชัดเจน และรุนแรงออกมาให้เห็น หากย้อนกลับไปตอนก่อนวันเลือกตั้ง ที่ทั้งคู่ต่างออกมาตอบโต้กันในเรื่องแนวทางการรื้อโครงสร้างทางสังคม โดยเฉพาะในประเด็น มาตรา 112 ที่นายปิยบุตร โพสต์ที่ตำหนิ นายพิธา ในทำนอง “ลดเพดาน”ลง และถูกตอบโต้กลับไป จาก นายพิธา ด้วยวลีเด็ด “มือไม่พายก็อย่าเอาเท้าราน้ำ” หรือ ตั้งขอสงสัยว่า “แท้จริงแล้วศัตรูที่แท้จริงคือใครกันแน่”
จากนั้น เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการร่วมลงนามความร่วมมือ(MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้ง 8 พรรค เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยชี้แจงกรณี นายปิยบุตร ท้วงติงในเรื่องเอ็มโอยูที่ไม่มีเรื่อง มาตรา 112 และการนิรโทษกรรม รวมไปถึงกรณี นายปิยบุตร ออกมายืนกรานว่า พรรคก้าวไกลต้องไม่ปล่อยเก้าอี้ ประธานสภาผู้แทน ให้หลุดมือไปเป็นอันขาด
นี่ยังไม่นับข้อความที่ระบุในเอ็มโอยู พรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องสำคัญ ช่วงหนึ่งว่า “ต้องไม่กระทบต่อการดำรงอยู่ของสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”
นั่นเป็นท่าทีและคำพูดที่สะท้อนให้เห็นภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างทั้งคู่คือ นายปิยบุตร แสงกนกกุล กับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แม้ว่าที่ผ่านมาก่อนการเลือกตั้งจะเห็นภาพ “เคลียร์” กันได้แล้ว โดยมี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นคนกลางก็ตาม เพื่อรักษางานใหญ่ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งในตอนนั้นก็ตาม แต่เชื่อว่ายังมีความ “คุกรุ่น” อย่างต่อเนื่อง และพร้อมปะทุ ขึ้นมาอีกได้ตลอดเวลา และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน ก็เริ่มเกิดขึ้นอีกครั้งในเรื่องหัวข้อเอ็มโอยู ที่ไม่มี มาตรา 112 และ นิรโทษกรรม เป็นต้น
ขณะเดียวกันหากย้อนกลับพิจารณา “แบ็กกราวด์” มันก็ย่อมพอเห็นภาพได้ไม่ยาก หากเชื่อมโยงไปถึงอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ริเริ่มก่อตั้งและลงทุนโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และดึงนายปิยบุตร แสงกนกกุล นายชัยธวัช ตุลาธน รวมถึงดึงน.ส.พรรณิการ์ วานิช มาร่วมด้วย แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุไม่คาดหมาย พรรคถูกยุบจากกรณี “ปล่อยเงินกู้” และต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา10 ปี จำเป็นต้องวางทายาทสืบต่อ จนส้มหล่นมาถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่หากสังเกตให้ดี จะเห็นว่าก็ยังอยู่ภายใต้ “เงา” ของคนพวกนี้ โดยเฉพาะ “ธนาธร-ปิยบุตร” ที่พยายามสื่อให้เห็นในทำนอง “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” มาตลอด
แต่กลายเป็นว่า ในช่วงเลือกตั้ง บทบาทการนำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกลกลับโดดเด่นอย่างเหลือชื่อ จะด้วย “หน้าตาหล่อเหลา” การพูดจาฉะฉาน มีพื้นฐานการศึกษาดี จบจากนอก ที่สำคัญพูดจาภาษาอังกฤษคล่องแคล่ว จนเป็นที่หลงไหลของ “ด้อมส้ม” หรือจะเรียกว่าเป็นการ “คลั่งใคล้” กลายเป็นความหวัง เป็นความฝันของพวกเขาไปแล้วก็ว่าได้ แน่นอนว่าหากมองในเชิง “คับแคบ” มันก็ย่อมกระทบไปถึง “สถานะ” ของอดีตผู้นำพรรคทั้งคู่โดยตรงที่จะต้องถูกกลืนหายลงไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว
อีกด้านหนึ่ง หากพิจารณาในมุมของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นาทีนี้ถือว่าเขามีความเสี่ยงสูงมาก ทั้งในเรื่องของการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะต้องฝ่าด่านสำคัญคือ ส.ว.และเรื่องการ “ถือหุ้นสื่อ” ที่แม้ว่าตามกระบวนการถึงที่สุดแล้ว ต้องใช้เวลาจนถึงต้นปีหน้าก็ตาม แต่บอกได้เลยว่า “เสี่ยงสูงมาก” นี่ยังไม่นับแรงกดดัน แรงบีบจากพรรคเพื่อไทยในเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่อาจทำให้ต้อง “ยอมถอย” ก็เป็นได้ ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าต้องเจอกับแรงกระแทกจาก “คณะผู้นำเงา” จากทีม “แก๊งสี่คน” ดังกล่าวอย่างแน่นอน เพราะถือว่าห่างไกลจากเป้าหมายหลัก
อย่างไรก็ดีสำหรับ นายพิธา แล้ว เชื่อว่าเขาต้องการนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีให้ได้ แม้ว่าเฉพาะหน้าจะต้องยอมถอยกรูดก็ตาม เพื่อให้ถึงเป้าหมาย “มีอำนาจ” ไว้ก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหาทีละเปลาะ ตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง เหมือนกับยอมถอยเรื่อง มาตรา 112 และนิรโทษกรรม ที่ไม่ปรากฏในเอ็มโอยู รวมถึงข้อความ “การดำรงอยู่ของพระมหากษัตริย์ที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้” ถือว่าชัดเจนที่สุด อย่างน้อย ก็สามารถเดินตามความฝันของตัวเอง และแฟนคลับ “แฟนด้อม” ที่ต้องการให้เป็นอย่างน้อยก็ไปจนถึงวันชี้ขาดในเรื่องการ “ถือครองหุ้นสื่อ”
ดังนั้นหากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว ต้องบอกว่าสำหรับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องเจอกับ “ด่านหิน” หลายด่าน ทั้งนอกทั้งในพรรคก้าวไกล เพราะหากผ่านการโหวตจาก ส.ว.ไปได้แล้ว ยังต้องเจอเกม “ขี่คอ” จากพรรคเพื่อไทยแล้ว ยังต้องเจอด่านสำคัญคือ “แก๊งสี่คน” ที่คงจะไม่ยอมให้ถูกลดทอนความสำคัญด้วยบุคลิกที่เหนือกว่าเป็นอันขาด !!