xs
xsm
sm
md
lg

“ดรีมทีม” ส่อล่ม ปธ.สภา ชนวนแตกหัก!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว - น.ต.ศิธา ทิวารี
เมืองไทย 360 องศา

ทำไปทำมาปัญหาเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภา ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ กำลังกลายเป็นชนวนความขัดแย้ง ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหลัก ทั้งกับพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย โดยมีพรรคไทยสร้างไทย ผสมโรงเข้ามาด้วย เรียกว่า กลายเป็นความขัดแย้งแบบ “งูกินหาง” โดยสาเหตุมาจากการ “คงอำนาจต่อรอง” และชิงการนำในทางการเมือง ทั้งในปัจจุบัน และต่อเนื่องไปถึงอนาคตอีกด้วย

หากแยกความเป็น “คู่ขัดแย้ง” มีอยู่ 3 ขั้วหลัก แต่เชื่อมโยงถึงกันแบบ “งูกินหาง” และยังซ่อน “ความแค้นส่วนตัว” แฝงมาด้วย เริ่มจากขั้วหลักก่อน คือ พรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย ที่โดยธรรมชาติแล้วถือว่า เป็นคู่แข่งทางการเมืองกันไปแล้ว และในวันนี้ทั้งสองพรรค ก็มีเสียงก้ำกึ่งกัน แม้ว่าพรรคก้าวไกล จะมีเสียงมากที่สุด แต่ก็มากกว่าเพื่อไทยแค่ 11 เสียงเท่านั้น ดังนั้น หากเป็นรัฐบาลผสมเกิดขึ้นจริง พรรคเพื่อไทย จะเป็น “ตัวแปร” และจะ “ขี่คอ” ก้าวไกล ไปตลอด

จากนั้น ก็มาอีกขั้วหนึ่งหรืออีกกลุ่มหนึ่ง คือ เพื่อไทย กับ พรรคไทยสร้างไทย ที่หากพิจารณาจาก “แบ็กกราวด์” มันก็มีผลต่อเนื่องหลังจากการแยกตัวออกมาตั้งพรรคใหม่ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นั่นแหละ ที่ถูกไล่หลังมา และมีการ “ตัดญาติ” ในช่วงเลือกตั้ง ว่า ไม่มีพรรคพี่พรรคน้อง หรือ “ไม่มีขายพ่วง” อะไรประมาณนั้น

ความขัดแย้งที่ดูเป็นเนื้อเป็นหนัง หลังจากที่มีการลงนามเอ็มโอยูระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคผ่านไปแล้ว โดยไม่มีการพูดถึงเรื่องมาตรา 112 โดยมีการประกาศการคงไว้ และพระมหากษัตริย์ที่ต้องเป็นที่เคารพสักการะจะละเมิดไม่ได้ ไม่มีเรื่องนิรโทษกรรม หลักๆ จะประมาณนี้

แม้ว่าต่อมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกล ที่ถูกมองว่า พยายามมีอิทธิพลในพรรคก้าวไกล ได้สื่อสารออกมาแสดงความผิดหวัง ที่พรรคก้าวไกลไปมีเอ็มโอยูแบบนั้น และบอกว่า การถอยทั้งสองเรื่องดังกล่าวจะเป็น “บ่วงรัดคอ” พรรคก้าวไกลในวันหน้า สำหรับการผลักดันเรื่องนี้เข้าสภา

แต่ที่ถือว่าร้อนแรง และกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งระหว่างสองพรรคหลัก ก็คือ การโพสต์ของ นายปิยบุตร ที่เร่งเร้าให้พรรคก้าวไกล อย่ายอมยกเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้กับพรรคเพื่อไทย เป็นอันขาด

“ผมเห็นว่า การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกล จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.พรรคอื่น โดยทั่วไป ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับที่หนึ่งอยู่แล้ว
กรณีสมัยที่แล้ว เป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง เพราะจำนวน ส.ส.ซีกรัฐบาลมีมากกว่าอีกฝ่ายไม่กี่เสียง ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแลกกับการสนับสนุน ประยุทธ์

ในเมื่อครั้งนี้ ใครๆ ต่างก็บอกว่า ประสงค์จะให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการเมืองไทยที่ใช้กันในสภาวะปกติ ก็ต้องถูกนำมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลเสียงข้างมาก รัฐบาลรวมเสียงได้กว่า 300 ก็ถือว่ามากพอแล้ว รวมไปถึง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องมาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับหนึ่ง

นอกจากนี้ นโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ใช้รณรงค์หาเสียงจนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ของพรรคตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระ และญัตติ

กล่าวจำเพาะกรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไข ป อาญา มาตรา 112 (ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ไม่อยู่ใน MOU และไม่อยู่ในวาระร่วม หรือนโยบายของรัฐบาลแน่ๆ) พรรคก้าวไกล ก็ต้องใช้กลไกสภาในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้

มิพักต้องกล่าวถึง พรรคก้าวไกล ต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมเกม ใช้และตีความข้อบังคับการประชุม และกำหนดทิศทางในการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

การประนีประนอมและการเจรจาทางการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ ในการตั้งรัฐบาลผสม

แต่การถอยถึงขนาดยอมยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้พรรคอื่น เป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้

หวังว่า พรรคก้าวไกลจะพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่

ขณะเดียวกัน ก็มีการตอบโต้ออกมาจากคนของพรรคเพื่อไทยอย่างทันควันเช่นเดียวกัน ทำนองว่า ในเมื่อก้าวไกลได้ตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารไปแล้ว ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ควรเป็นของพรรคอันดับสอง และย้ำว่า “อย่ากินรวบ” เรียกว่า ท่าทีก็ไม่ยอมลดราวาศอก เข้มข้นดุดันเลยทีเดียว และยังเลยเถิดไปถึงกรณี “นายอดิศร เพียงเกษ” ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เยาะเย้ยก้าวไกลที่เคยเหน็บแนม ว่า “สู้ไปกราบไป” แต่พอชนะการเลือกตั้ง ไม่มีเรื่อง 112 พร้อมกับตั้งคำถามว่า “สู้ไป โกหกไป” หรือเปล่า เรียกว่ามันหยดกันเลยทีเดียว

นอกเหนือจากนี้ ยังมีประเด็นวิวาทะร้อนแรงเป็น “ลูกพ่วง” เข้ามาอีก ก็คือ คู่ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับ น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคไทยสร้างไทย ที่เริ่มจุดชนวนจากวันที่มีการแถลงเอ็มโอยูพรรคร่วมรัฐบาลที่นั่งอยู่ในวงสื่อมวลชน ได้เรียกร้องให้ลงนามเอ็มโอยูแบบแอดวานซ์ ในความหมายว่า แม้จะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ให้เป็นฝ่ายค้านร่วมกันตลอดไป จนทำให้ นพ.ชลน่าน ไม่พอใจ กล่าวว่า น.ต.ศิธา เสียมารยาท มีการตอบโต้กันไปมาและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และล่าสุด นพ.ชลน่าน ถึงขั้นกดดันให้พรรคก้าวไกล เข้ามาเคลียร์โดยให้ น.ต.ศิธา ขอโทษ พร้อมกับระบุว่า หากเห็นพรรคที่มี 6 เสียง (ไทยสร้างไทย) สำคัญกว่า 141 เสียง ก็บอกมา และล่าสุด นพ.ชลน่าน ก็ให้สัมภาษณ์อีกครั้งหลังการสัมมนาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย อย่างมีอารมณ์ว่า “ผมเดือด ผมมีอารมณ์ ถ้าชกได้ ผมชกไปแล้ว!!”

ทำให้นาทีนี้ ทุกอย่างเริ่มชุลมุน เริ่มจะบานปลาย หากไม่มีการระงับยับยั้ง หรือ “เคลียร์” กันให้ลงตัวก็มีสิทธิที่จะทำให้รัฐบาลผสมที่กำลังจะเริ่มตั้งไข่อาจล้มครืนในอีกไม่กี่วัน โดยประเด็นหลักก็ต้องเป็นเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทน หรือประธานรัฐสภา ที่ต่างฝ่ายยังไม่มีท่าทีจะถอย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันจะต้องได้นั่งเก้าอี้ตัวนี้ ขณะที่พรรคก้าวไกล ก็ถอยไม่ได้ เพราะจะเสียดุลทางการเมืองทันที และมีผลต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วย รวมไปถึงการเสนอกฎหมายสำคัญๆ ของพรรคในวันหน้า หากตกไปอยู่กับพรรคอื่นก็จะทำให้เสี่ยงต่อการผลักดันนโยบายที่เคยหาเสียงเอาไว้

ดังนั้น หากพิจารณาจากท่าทีและบรรยากาศยามนี้ ก็พอประเมินได้ว่า การจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค 314 เสียง ยังอยู่ในความเสี่ยง ไม่แน่นอนตลอดเวลา โดยเฉพาะปมขัดแย้งใหม่ เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทั้งพรรคก้าวไกล และ เพื่อไทย ต่างถอยไม่ได้ เพราะหากเสียไป นั่นย่อมหมายถึงการ “เสียดุล” ทางการเมืองในอนาคต และนี่อาจก้าวไปถึงจุดหักเหที่ล้มครืนลง โดยพรรคก้าวไกล อาจไปเป็นฝ่ายค้าน และเพื่อไทยจะ “พลิกขั้ว” จัดตั้งรัฐบาลแทนในที่สุด !!



กำลังโหลดความคิดเห็น