แกนนำก้าวหน้า ปลุกเร้าก้าวไกล อย่ายอมยก ปธ.สภา ให้ พท.เป็นอันขาด หลังประนีประนอมยอมถอยใน MOU และคาดยอมเฉือนกระทรวงเกรด A ชี้ ต้องใช้ ปธ.พรรคตัวเองคุมเกม โดยเฉพาะปมนิรโทษ-แก้ ม.112 รวมถึงการเลือกนายกฯ หวั่นเจออุปสรรค
วันนี้ (23 พ.ค.) นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ว่า “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด
การเมือง คือ ศิลปะของการทำสิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ แต่เมื่อดุลกำลังอำนาจยังไม่เพียงพอ การประนีประนอมกันเพื่อรักษาสถานะความเป็นไปได้ของการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ก็เป็นเรื่องจำเป็น
พรรคก้าวไกล มี ส.ส. 152 คน ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเพื่อไทยซึ่งมี ส.ส.141 คน
เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ค่อยปรากฏในแวดวงการเมืองทั้งไทยและต่างประเทศเท่าไรนัก หากพรรคก้าวไกลต้องการเป็นรัฐบาล ก็ต้องมีพรรคเพื่อไทยร่วมด้วยสถานเดียว หากไม่มีพรรคเพื่อไทยร่วมด้วย ก็ไม่มีทางที่พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล
สองสามวันมานี้ มีข่าวปรากฏออกมาตามสื่อมวลชน ว่า พรรคเพื่อไทยขอให้พรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย
ผมเห็นว่า พรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งนี้ให้กับพรรคใดๆ ไม่ได้
การเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดเนื้อหาใน MOU ได้ผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลได้ถอยในหลายประเด็น จนเหลือแต่ประเด็นที่ทุกพรรคยอมรับได้ และยอมเพิ่มอีกหลายข้อความเพื่อให้ทุกพรรคคลายความกังวลและสบายใจมากขึ้นแล้ว
เมื่อถึงคราวจัดสรรกระทรวงให้แต่ละพรรค พรรคก้าวไกลก็คงต้องยินยอม “เฉือน” อีกหลายกระทรวงให้กับพรรคอื่นๆ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยเฉพาะกระทรวงที่สังคมจัดให้เป็นเกรด A โดยพิจารณาจากงบประมาณและโครงการ “เป็นเนื้อเป็นหนัง”
เมื่อถึงช่วงเขียนนโยบายของรัฐบาลเพื่อแถลงต่อสภา พรรคก้าวไกลก็ต้องประสานเอาความต้องการของทุกพรรคเข้ามาไว้ด้วยกัน
สภาพการประนีประนอม การเจรจาต่อรอง ระหว่างพรรคการเมือง และการยอมถอยให้พรรคการเมืองอื่น จะดำเนินเช่นนี้เรื่อยไปตลอดระยะเวลาของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดในทางการเมือง และเป็นเรื่องปกติในรัฐบาลผสม
ปัญหามีอยู่ว่า พรรคก้าวไกลจะต้องถอยจนถึงเมื่อไร ต้องยินยอมถึงขนาดไหน เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและตั้งรัฐบาลได้? และไปต่อได้?
ผมเห็นว่า การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกล จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้กับ ส.ส.พรรคอื่น โดยทั่วไป ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับที่หนึ่งอยู่แล้ว
กรณีสมัยที่แล้ว เป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง เพราะจำนวน ส.ส.ซีกรัฐบาลมีมากกว่าอีกฝ่ายไม่กี่เสียง ทำให้พรรคพลังประชารัฐ ต้องยอมเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแลกกับการสนับสนุนประยุทธ์
ในเมื่อครั้งนี้ ใครๆ ต่างก็บอกว่า ประสงค์จะให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการเมืองไทยที่ใช้กันในสภาวะปกติ ก็ต้องถูกนำมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลเสียงข้างมาก รัฐบาลรวมเสียงได้กว่า 300 ก็ถือว่ามากพอแล้ว รวมไปถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏร ต้องมาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับหนึ่ง
นอกจากนี้ นโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ใช้รณรงค์หาเสียงจนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ของพรรคตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระและญัตติ
กล่าวจำเพาะกรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไข ป. อาญา มาตรา 112 (ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ไม่อยู่ใน MOU และไม่อยู่ในวาระร่วมหรือนโยบายของรัฐบาลแน่ๆ) พรรคก้าวไกลก็ต้องใช้กลไกสภาในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้
มิพักต้องกล่าวถึง พรรคก้าวไกลต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมเกม ใช้และตีความข้อบังคับการประชุม และกำหนดทิศทางในการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
การประนีประนอมและการเจรจาทางการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ในการตั้งรัฐบาลผสม
แต่การถอยถึงขนาดยอมยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคอื่น เป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้
หวังว่า พรรคก้าวไกลจะพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่