เมืองไทย 360 องศา
เปิดร่าง “เอ็มโอยู” พรรคก้าวไกล
1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ
2. คืนความยุติธรรมผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร
3. กระจายอํานาจสู่ท้องถิ่น
4. ปฏิรูปกองทัพ
5. ยกเลิกผูกขาดอุตสาหกรรมสุรา
6. สมรสเท่าเทียม
7. ยกเลิกเกณฑ์ทหาร
8. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ
9. นิรโทษกรรม (ยกเว้นคอร์รัปชัน-อันตรายถึงชีวิต)
10. แก้ปัญหาค่าครองชีพ (ไฟฟ้า)
11. จัดงบประมาณแบบใหม่ (ฐานศูนย์)
12. เพิ่มสวัสดิการเด็ก-ผู้สูงอายุ
13. สร้างรัฐโปร่งใส
จากนั้น เฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล ระบุข้อความ ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรภายใต้รัฐบาลก้าวไกล? MOU คืออะไร ?
พรรคก้าวไกล ยืนยันมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ว่า การจัดตั้งและร่วมรัฐบาลระหว่างพรรคการเมืองควรต้องเอาวาระ หรือนโยบายเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่กระทรวงหรือตำแหน่งเป็นตัวตั้ง
ในฐานะพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจเป็นอันดับหนึ่ง เราได้เดินหน้าเพื่อเป้าหมายในการจัดตั้งรัฐบาลกับ 8 พรรคการเมือง (รวมทั้งหมด 313 คน) ที่เราเชื่อว่ามีอุดมการณ์และมุมมองต่ออนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น ที่สอดคล้องกันในภาพรวม
ในเมื่อรัฐบาลก้าวไกลเป็นรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมือง เราจำเป็นต้องเคารพความเห็นที่แตกต่างเชิงนโยบายของพรรคร่วมรัฐบาลอื่น โดยคำนึงถึงความไว้วางใจ ที่พรรคการเมืองเหล่านี้ได้รับจากประชาชนมาผ่านคูหาเลือกตั้งเช่นกัน
ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนได้รับความชัดเจนว่า รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคก้าวไกลจะผลักดันวาระอะไรบ้าง เราแบ่งวาระออกเป็น 2 ส่วน
1. วาระ “ร่วม” ของทุกพรรคร่วมรัฐบาล (ระบุใน MOU)
วาระและนโยบายที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน พร้อมผลักดันร่วมกันผ่านกลไกบริหารและนิติบัญญัติ และพร้อมรับผิดชอบร่วมกัน
2. วาระ “เฉพาะ” ของแต่ละพรรคการเมือง (ไม่ถูกระบุใน MOU)
วาระและนโยบายที่แต่ละพรรคขับเคลื่อนเอง เพิ่มเติมจาก (แต่ต้องไม่ขัดแย้งกับ) นโยบายใน MOU ผ่าน 2 กลไกหลัก
2.1. ผลักดันผ่านกลไกบริหารของกระทรวงที่พรรคมีตัวแทนเป็นรัฐมนตรี
– เช่น (หากพรรคก้าวไกลบริหารกระทรวงศึกษาธิการ) นโยบายการศึกษานอกเหนือจากใน MOU ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ
2.2. ผลักดันผ่านกลไกนิติบัญญัติของระบบรัฐสภาโดยผู้แทนราษฎรของพรรค
– เช่น กฎหมาย 45 ฉบับที่พรรคพร้อมเสนอสู่สภาทันทีที่สภาเปิด ไม่ว่าจะปรากฎอยู่ใน MOU หรือไม่
พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าจะพยายามเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกลที่เราสื่อสารกับประชาชนก่อนเลือกตั้งให้สำเร็จ โดยการพยายามบรรจุนโยบายเข้าไปใน วาระ “ร่วม” หรือ MOU ให้ได้เยอะที่สุด ในขณะที่นโยบายอะไรที่ไม่ถูกบรรจุใน MOU เราจะผลักดันต่อผ่านกระทรวงที่พรรคก้าวไกลบริหารและผ่านจำนวนผู้แทนราษฎร 152 คน ที่เรามีในสภาผู้แทนราษฎร
แม้กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลลักษณะนี้อาจเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย แต่พรรคก้าวไกลเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวที่อ้างอิงจากหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทั่วโลก จะเป็นกระบวนการที่สร้างบรรทัดฐานใหม่ในประเทศ ที่ยกระดับความมั่นใจของประชาชนต่อระบบการเมืองไทย และเพิ่มความชัดเจนกับประชาชนว่าในบริบทของรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วยหลายพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยนโยบายที่ทั้งมีจุดร่วมและจุดต่างกัน รัฐบาลผสมนี้จะร่วมผลักดันและรับผิดชอบวาระอะไรเพื่อประชาชน
แน่นอนว่า ใน 13 ข้อข้างต้น ที่เป็นร่างคร่าวๆ ของเอ็มโอยู ที่พรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรคลงนามร่วมกันในวันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งเมื่อพิจารณาทั้ง 13 ข้อแล้วไม่ปรากฏเรื่องการแก้ไข มาตรา 112 เพราะหลายฝ่ายมองว่าเป็น “ของร้อน” ที่จะทำให้รัฐบาลพังง่ายๆ โดยเฉพาะบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายที่กังวล และมีจุดยืน “ไม่แก้ไข”
อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากเรื่องแก้ไข มาตรา 112 แล้ว ยังเชื่อว่ายังมีอีก “จุดตาย” สำคัญไม่แพ้กันที่จะเป็นชนวนทำให้รัฐบาล “พังครืน” ลงไปในพริบตาไม่แพ้กันก็คือ การ “นิรโทษกรรม” โดยที่ผ่านมา บรรดาแกนนำพรรคก้าวไกลออกมาออกมาแสดงท่าทีชัดเจนว่า วาระเร่งด่วนก็คือ การออกพระราชบัญญัติ “นิรโทษกรรม” ที่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งแน่นอนว่า การเมืองในความหมายของพวกเขา ก็ย่อมรวมถึงผู้ที่กระทำความผิดตาม มาตรา 112 ไปด้วย อธิบายให้เห็นชัดก็คือ กลุ่มพวก “ม็อบสามนิ้ว” ที่คนพวกนี้อ้างว่า มาจาก “เรื่องการเมือง” โดยอ้างความยุติธรรม และการ“สมานฉันท์”
ดังนั้น หากรัฐบาล โดยพรรคก้าวไกลเดินหน้าเรื่องดังกล่าวจริง เชื่อว่าจะต้องการประท้วงขนานใหญ่ตามมาแน่นอน แน่นอนว่าอาจจะเป็นการประท้วงใหญ่ซ้ำรอย ม็อบกปปส. รวมไปถึงกรณีของกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งบางทีบรรดาเด็กๆ ในยุคนี้อาจจะไม่เคยสัมผัสกับบรรยากาศแบบนั้นมาก่อน ว่ามันร้อนแรงแค่ไหน
ที่ผ่านมา สำหรับเรื่องกฎหมาย “นิรโทษกรรมสุดซอย” ที่เสนอโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ครอบคลุมไปถึง นายทักษิณ ชินวัตร จนเกิดการชุมนุมใหญ่ที่มีมวลชนออกมาเป็นล้านคน จนในที่สุดรัฐบาลที่คิดว่ามั่นคงที่สุด ก็ต้องล้มครืนลง และนำไปสู่การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา
คราวนี้ เมื่อพิจารณาจากท่าทีของพรรคเพื่อไทยกลับไม่ค่อยเห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเชื่อว่าจะมีการพาดพิงไปถึง นายทักษิณ ชินวัตร อีกครั้ง และอาจกลายเป็นชนวนต่อต้านครั้งใหญ่อีกครั้ง โดยถือว่าเป็นบทเรียนได้ไม่คุ้มเสียอะไรประมาณนั้น
ดังนั้น แม้ว่า ทั้งเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 จะไม่บรรจุในเอ็มโอยู ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยจะเป็นวาระเฉพาะของพรรคการเมือง หรือ พรรคก้าวไกล ที่จะเสนอเข้าสภาในนามพรรค ซึ่งน่าจะสำเร็จยาก อีกทั้งเสี่ยงต่อการเกิดการชุมนุมใหญ่ และเสี่ยงต่อการล่มสลายของรัฐบาลผสม 8 พรรค เพราะเวลานี้เริ่มมีแรงต้านที่เข้มข้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่เป็นจุดตายไม่แพ้กัน ก็คือ “นิรโทษกรรม” ที่รับรองว่าเป็น “ของร้อน” ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการนิรโทษฯ ให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีความผิดตามมาตรา 112 หากยังคิดเดินหน้า ก็ลองเสี่ยงดู จะได้รู้ว่านรกมีจริงหรือเปล่า !!