“อดีตรองอธิการ มธ.” ออกโรงเตือนคนไทยเตรียมรับมือเหตุรุนแรง จากความขัดแย้งแตกแยกทางการเมือง จนเกิด “สงครามกลางเมือง” มาแล้ว 3 นิ้ว อ้าง “มติ ปชช.” ปลุกม็อบ ชุมนุมหน้ารัฐสภา กดดัน “ส.ว.” โหวตให้ “พิธา” นั่งนายกฯ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 พ.ค. 66) รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า
“ความแตกแยกในบ้านเมืองเราเริ่มตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร แบ่งเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง คุณหมอตุลย์ สิทธิสมวงศ์ จึงนัดชุมนุมให้ผู้มาชุมนุมใส่เสื้อหลากสี เพื่อหลีกเลี่ยงเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่เพราะความหลากสีกลับเป็นเหตุผู้ที่ต่อต้านระบอบทักษิณถูกฝ่ายตรงข้ามที่นิยมชมชอบคุณทักษิณเรียกว่าพวก “สลิ่ม (ความจริงควรเป็น ซาหริ่ม)” ต่อมาคำว่า “สลิ่ม” ถูกใช้เพื่อตีตราว่าเป็นพวกที่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ฝ่ายที่ไม่เอาระบอบทักษิณถูกเหมารวมตีตราว่าเป็นพวก “เผด็จการ” ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารก็ตาม พวกที่ชื่นชอบระบอบทักษิณ รวมทั้งพรรคอนาคตใหม่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” หลังการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลผสม พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคจึงถูกตีตราว่าเป็น “ฝ่ายเผด็จการ” ไม่ว่าพฤติกรรมจริงจะเป็นเผด็จการหรือไม่ก็ตาม และยังคงเรียกพวกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ไม่ว่าพฤติกรรมจริงจะเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ก็ตาม หากผู้ใดที่ถูกตีตราว่าเป็นเผด็จการอยากเป็นนักประชาธิปไตย ก็เพียงย้ายพรรค หรือหันมาเชียร์พรรคฝ่ายค้าน ก็กลายเป็นนักประชาธิปไตยไปโดยทันที
ใครที่ร่วมขบวนการ กปปส. รวมทั้งร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ถูกเหมารวมว่าเป็นพวกเผด็จการ เพราะร่วมขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในความคิดของพวกเขา ประชาชนที่เห็นว่ารัฐบาลกระทำการที่ผิดทำนองคลองธรรม ไม่มีสิทธิไปขับไล่หากรัฐบาลชุดนั้นมาจากการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลเพิ่งโดนด้อมส้มถล่มแหลกหลังมีข่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้าจะเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาล hashtag “มีกรณ์ไม่มีกู“” ถึงกับติดอันดับ 1 ใน Twitter ทำให้พรรคก้าวไกลรีบถอยแทบไม่ทัน แรกๆ ก็แปลกใจว่า ทำไมคุณกรณ์จึงตอบรับเข้าร่วมรัฐบาล ล่าสุดเมื่อได้เห็นโพสต์ของคุณกรณ์ที่ออกมาแก้ข่าวแล้วจึงเข้าใจ งานนี้อาจทำให้ถึงขั้นพรรคชาติพัฒนากล้าแตกได้
อย่างไรก็ดี ก่อนการเลือกตั้งครั้งล่าสุดไม่นานนัก สื่อต่างๆ ที่ยืนอยู่ข้างฝ่ายค้านพร้อมใจกันเรียกฝ่ายที่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์คงอยู่ต่อไป และไม่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินว่า “ฝ่ายอนุรักษนิยม” และเรียกฝ่ายตนเองว่า “ฝ่ายเสรีนิยม” หรือแม้แต่ใครที่มีความเห็นที่ไม่เหมือนกับฝ่ายเสรีนิยมก็จะถูกเรียกว่า “ฝ่ายอนุรักษนิยม” เป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปีทั้งสิ้น นั่นคงเป็นเพราะว่าไม่รู้จะโต้เถียงอย่างไรที่จะเรียกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกันว่า “รัฐบาลเผด็จการ”
เมื่อพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง และกำลังพยายามรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล ความแตกแยก ความขัดแย้งดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นยิ่งกว่ายุคใดๆ มีการข่มขู่คุกคาม ส.ว.ซึ่งมีอำนาจลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลและคำถามพ่วงท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งผ่านประชามติมาด้วยคะแนนมากว่า 16 ล้านเสียง นอกจากคุกคาม ส.ว.แล้วยังคุกคามว่าที่ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมให้ลงคะแนนให้หัวหน้าพรรคก้าวไกลซึ่งชนะการเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
หาก ส.ส.พรรคอื่นๆ ที่เขาไม่ได้เห็นว่าหัวหน้าพรรคก้าวไกลมีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไปบังคับให้เขาลงคะแนนให้ในสภา เพียงเพราะพรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.มาเป็นที่ 1 เราจะต้องไปลงคะแนนในสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีกันไปเพื่ออะไร พรรคไหนได้จำนวนส.ส.มากที่สุดก็ให้แคนดิเดตของพรรคนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีไปเลยโดยไม่ต้องลงคะแนนกันในสภาไม่ดีกว่าหรือ
บรรยากาศขณะนี้ในบ้านเมืองจึงเป็นบรรยากาศของความขัดแย้ง ไม่ใช่มีกลิ่นของความเจริญ แต่มีกลิ่นของความรุนแรงที่อาจเป็นระดับสงครามการเมืองเลยก็เป็นได้
วันจันทร์ที่ 22 พ.ค. นี้ พรรคก้าวไกลและพรรคการเมืองต่างๆที่ได้รับเชิญให้ร่วมรัฐบาล จะได้แถลงผลของการทำ MOU หรือบันทึกความเข้าใจ หรือจะเรียกว่าเป็นข้อตกลงร่วมก็ได้ต่อสาธารณะ ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็รอดูอย่างใจจดใจจ่อว่า ใน MOU จะมีวาระของการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ข่าวที่ออกมาขณะนี้บอกว่า จะไม่มีเรื่องมาตรา 112 ระบุไว้ใน MOU ดังกล่าว
ทุกคนโดยเฉพาะนักการเมืองเขี้ยวลากดิน คงรู้ดีว่า ไม่ว่าจะมีระบุไว้ใน MOU หรือไม่ พรรคก้าวไกล ซึ่งอยู่ภายใต้เงาของคุณธนาธร อ.ปิยบุตร จะไม่มีทางล้มเลิกการแก้ไขมาตรา 112 อย่างแน่นอน นอกจากเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของคุณธนาธรและอ.ปิยบุตร บรรดาแฟนคลับหรือด้อมส้มทั้งหลายต่างก็รอดูอย่างใจจดใจจ่อว่าเมื่อใดจะแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 และเมื่อใดจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมเสียที
คุณศิธา ทิวารี แห่งพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว โดยมีคุณหญิงยืนยิ้มอยู่ข้างๆว่า การแก้ไขกฎหมายไม่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องนิติบัญญัติ เป็นเรื่องของสภา ไม่ว่าเป็นรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้าน ก็สามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้ นั่นก็ใช่อย่างที่คุณศิธาพูด แต่นั่นเป็นเพียงการเบี่ยงประเด็น ประเด็นสำคัญคืออย่างที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยประกาศ ซึ่งพูดชัดเลยว่า เขาไม่ต้องการร่วมรัฐบาลกับพรรคที่ต้องการแตะต้องมาตรา 112 เนื่องจากพรรคเขามีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรคไทยสร้างไทยเพียงขอให้ไม่บรรจุลงใน MOU นอกนั้นโยนไปให้สภาตัดสิน อย่างนั้นก็ได้หรือ
การขอแก้ไขมาตรา 112 ไม่ใช่เป็นเป้าหมายสุดท้ายของพรรคก้าวไกล เป้าหมายสุดท้ายคือการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวทางที่แกนนำม็อบ 3 นิ้ว เคยประกาศไว้ 10 ข้อ ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งถ้าทำได้ทั้ง 10 ข้อ จะทำให้มีพระมหากษัตริย์ก็เหมือนไม่มี
หลายคนคงลืมไปแล้วว่าการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ มีอะไรบ้าง เรามาลองทบทวนกันดังนี้
1. ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร สามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งเปิดให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ที่ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
4. ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้สถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจนเช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้นให้ยกเลิกเสีย
6. การบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์ อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์ หรือมีความข้องเกี่ยวใดๆกับสถาบันกษัตริย์
10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามแนวทางนี้เป็นการจำกัดเสรีภาพ และไม่ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจใดๆ ไม่ให้รับเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ถูกใครฟ้องก็ได้ และให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาความผิดของพระมหากษัตริย์ได้ ทั้งยังปรับลดงบประมาณ ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่ให้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ไม่ให้มีกองทหารรักษาพระองค์เพื่อถวายการอารักขาพระมหากษัตริย์ ไม่ให้มีองคมนตรี ไม่ให้เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์จนเกินงาม กล่าวหาว่า อาจมีการเข่นฆ่าราษฎร และไม่ให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
จำกัดกันขนาดนี้ จะเรียกว่าเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ได้อย่างไร ผู้ที่คิดทำเช่นนี้ได้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าไม่เรียกว่า “เผด็จการ” จะเรียกว่าอะไร
ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ในแนวทางการปฏิรูปทั้ง 10 ข้อนี้ เป็นข้อมูลที่ใช้ป้อนให้คนหนุ่มคนสาว คนรุ่นใหม่มาโดยตลอด จนทำให้คนรุ่นใหม่เชื่อและเกลียดชังพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ แนวทางการปฏิรูปข้อ 10 ก็เป็นการกล่าวหาว่า พระมหากษัตริย์ทรงให้การสนับสนุนการทำรัฐประหารแต่ละครั้ง ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อมีการทำรัฐประหารสำเร็จ หัวหน้าคณะรัฐประหารก็จะเสนอรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย ถามว่าพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงมีทางเลือกอื่นหรือ แต่ขณะนี้บรรดาด้อมส้ม ต่างก็มีความเชื่อแบบนี้ทั้งสิ้น
น่ากลัวมากที่ พรรคการเมืองที่มีความคิดเช่นนี้ มีโอกาสมีอำนาจเข้ามาบริหารประเทศ และหากเข้าไปดูเนื้อในของนโยบาย เช่น การปฏิรูปกองทัพ ที่จะยกเลิกสภากลาโหม และอาจไปไกลถึงขั้นไม่ให้มีผู้บัญชาการเหล่าทัพ ให้พลเรือนเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารแต่ละเหล่าทัพแทน
คำถามคือ พรรคการเมืองที่มีความคิดและนโยบายแบบนี้ หากเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศ จะไปรอดหรือ คำถามที่สำคัญกว่านั้นคือ พรรคการเมืองที่ยังเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าต้องคงอยู่ในประเทศไทยต่อไป และรู้ทั้งรู้ว่าพรรคนี้กำลังจะทำอะไร ยังยินดีร่วมงานด้วยหรือ ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ เพราะทุกพรรคที่เข้าร่วมทำ MOU ยังคงเล่นเกมการเมืองกันอยู่ แต่อีกไม่นานเราก็คงจะทราบได้ แต่ไม่ว่าจะออกทางไหน โอกาสที่จะมีการลงถนนประท้วง และมีการปะทะกันถึงขั้นเลือดตกยางออก มีความเป็นไปได้สูงมาก
ขอให้ทุกท่านเตรียมรับมือกันไว้ให้ดีก็แล้วกัน”
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration โพสต์ข้อความระบุว่า
“การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถสะท้อนความต้องการและเจตจำนงของประชาชน เมื่อเสียงของประชาชนต้องการที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลง ตามหลักการของประชาธิปไตยก็ควรต้องเป็นไปตามนั้น แต่ด้วยกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ได้ให้อำนาจแก่สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งแหล่งที่มาในอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาไม่มีส่วนใดที่เกี่ยวโยงกับประชาชน
แม้การเลือกตั้งในครั้งนี้จะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนมากแค่ไหนก็ตาม แต่ดูเสมือนว่าสมาชิกวุฒิสภาบางคนจะแสดงถึงความไม่เห็นด้วยในหลักการประชาธิปไตย พร้อมที่จะคัดค้านตัวแทนที่มาจากการเลือกของประชาชน และพร้อมที่จะยับยั้งความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในทุกวิถีทาง
วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป ณ หน้ารัฐสภาฝั่งบุญรอด (รัฐสภาเกียกกาย) ขอเชิญพี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง มาร่วมกันยืนยันในหลักการว่าสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่โหวตสวนมติของประชาชน และชัยชนะของประชาชนในครั้งนี้ต้องไม่ถูกทำลายโดยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา
........
ทั้งนี้ วันอังคารที่ 23 พ.ค.จะมีการประชุมวุฒิสภา นัดพิเศษตั้งแต่ 09.30.น.และจะเลิกประชุมประมาณ 17.00 น.