xs
xsm
sm
md
lg

โหวตนายกรัฐมนตรี ชี้ชะตาอนาคตของจริง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา -แพทองธาร ชินวัตร -พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เมืองไทย 360 องศา

ขยับเข้ามาใกล้อีกนิดสำหรับ วันเลือกตั้ง คือ วันที่ 14 พฤษภาคม เพราะเหลือเวลาไม่ถึงสัปดาห์แล้ว ดังนั้น จึงได้เห็นแต่ละพรรคการเมืองต่างระดมสรรพกำลังเท่าที่มี รวมไปถึงระดมกลยุทธ์ต่างๆ ที่เชื่อว่าเป็นทีเด็ดออกมาเพื่อหวังให้ได้รับเลือกตั้งเข้ามามากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ขณะที่บางพรรคการเมืองที่เป็นพรรคใหญ่ พรรคตัวเต็งที่จะได้ ส.ส.จำนวนมาก หรือพรรคที่เป็นตัวเต็งสำหรับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ต่างก็ลุ้นกันเต็มที่ กำหนดการเดินสายหาเสียงของแต่ละพรรค ออกมาเป็นคิวเดินสายหาเสียงแบบแน่นเอี๊ยด

ยังเน้นย้ำความเชื่อเช่นเดิมว่า การเมืองถูกบีบให้เหลือ “สองขั้ว” อีกครั้ง คราวนี้ถูกเรียกขานในความหมายใหม่ที่ย้ำกันก็คือ “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับฝ่ายตรงข้าม แน่นอนว่า ฝ่ายแรกรับรู้กันอยู่แล้วว่ามี พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล ไทยสร้างไทย และพรรคเล็กๆ อย่างประชาชาติ เสรีรวมไทย เป็นต้น

ขณะที่อีกฝั่งที่เป็นฝ่ายตรงข้าม จะเรียกว่า “เผด็จการ” หรือ อนุรักษนิยม สลิ่ม สารพัด ก็มี พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ชัดเจนที่สุด นอกนั้นที่แม้จะถูกโยงให้อยู่ฝั่งนี้ แต่ก็พยายามแสดงท่าทีให้ออกมา “กลางๆ” แบบ “ข้ามความขัดแย้ง” เช่น พรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย หรือแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ระยะหลังโดยเฉพาะในการเลือกตั้งคราวนี้จะพยายามบอกว่า จะอยู่กลางๆ มีแนวทางของตัวเอง เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี ก็ยังมีแนวโน้มว่า หากมีการจัดตั้งรัฐบาล การรวบรวมเสียงเป็นรัฐบาลผสมเกิดขึ้นมาก็น่าจะได้เห็นพรรคการเมืองดังกล่าวในขั้วนี้ จับมือกันได้ในที่สุด และที่สำคัญ หากสังเกตให้ดี จะเห็นว่าในระดับแกนนำ หรือระดับหัวหน้า แม้แต่ผู้สมัครก็จะไม่มีการหาเสียงโจมตีกันอย่างรุนแรง เพราะเป้าหมายจะพุ่งไปยังฝั่งตรงกันข้ามมากกว่า เรียกว่าพวกเขายัง “รักษาความสัมพันธ์” ที่ดีเอาไว้ เพียงแต่ว่า นาทีนี้ต้องรอผลการเลือกตั้งเท่านั้น เนื่องจากแต่ละพรรคดังกล่าวล้วนมีแคนดิเดตนายกฯ ด้วยกันทั้งนั้น

ดังนั้น หากพิจารณากันถึงแนวโน้มในการเลือกตั้งคราวนี้จะเริ่มเห็นชัดกว่าเดิม นั่นคือ จะเป็นลักษณะการ “โหวตนายกรัฐมนตรี” ที่ชัดเจนมากขึ้น ทำให้เชื่อว่าในที่สุดแล้วจะมีความเป็นไปได้ที่มีการโหวตในทิศทางเดียวกัน คือ “เลือกทั้งสองใบ” คือเลือกพรรคและคน คือ ส.ส.เขต เป็นแพกเกจ นั่นเอง

แม้ว่าในบางพื้นที่ในต่างจังหวัดหลายเขตชาวบ้านยังมีความผูกพันกับ ส.ส. หรือผู้สมัคร อาจจะมีวิธีเลือกในแบบ “เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ” อะไรประมาณนี้ แต่สำหรับในเขตเมือง ในหลายพื้นที่ยังมีแนวโน้มออกมาในทางอย่างแรก นั่นคือ เลือกทั้งคนทั้งพรรค

ขณะเดียวกัน การเลือกดังกล่าวยังถูกเร่งเร้ามาจากพรรคการเมืองขั้วหลัก อย่างพรรคเพื่อไทย ที่ “เล่นใหญ่” มาตั้งแต่ต้น ที่ประกาศ “แลนด์สไลด์” เลือกให้ขาด แน่นอนว่าเขามี “เดิมพันสูงมาก” เพราะถูกมองว่าโยงใยกับ “คนนอก” ที่อยากกลับเข้ามาเต็มที จึงต้องดิ้นรนอย่างเต็มที่ เพราะนี่คืออาจเป็นครั้งสุดท้ายแล้วก็ได้ที่จะมีโอกาส อีกทั้งยังคิดว่า พรรคของตัวเองยังอยู่ในกระแสความนิยมอยู่ในระดับนำ แม้ว่าจะเสื่อมถอยลงไปไม่น้อยก็ตาม แต่ก็ยังมั่นใจว่า “ชนะแน่”

อย่างไรก็ดี การสร้างกระแสดังกล่าวมันกลับกลายเป็นว่าไป “ทำลายพวกเดียวกัน” ไม่ต่างจากลักษณะ “เอาตัวรอด” เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายครั้งสุดท้ายของ “ใครบางคน” เท่านั้น นั่นคือความหมายมีเจตนาทำลายพรรคก้าวไกล ขัดขวางไม่ให้พรรคไทยสร้างไทย ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เพิ่งแตกตัวออกมาได้เติบโต

จะมีเพียงพรรคประชาชาติ ของ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เท่านั้นที่ไม่กระทบ เพราะมีฐานเสียงเฉพาะในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะว่าไปแล้ว พรรคหลังนี่แหละคือ การ “แตกแบงก์ย่อย” ของจริง เพราะเมื่อพิจารณาทั้งจากหัวหน้าพรรคโดยเฉพาะตัวเลขาธิการพรรค คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นี่ก็ชัดเจนที่สุด เพราะเส้นทางในอดีตชัดเจน ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใคร

แต่กลายเป็นว่า นาทีนี้กำลังกลายเป็น “จุดแตกหัก” เร็วก่อนกำหนด เพราะแม้ว่าทั้งสองพรรคดูเหมือนเป็นพันธมิตรกันก็ตาม แต่ในทางลึกแล้วมันตรงกันข้ามอย่างชัดเจน ดังนั้น ในนาทีนี้เมื่อต้องมาแตกหักกันเร็วขึ้น มันก็ต้องใส่กันเต็มที่เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องการเอาตัวรอดไม่ต่างกัน ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องฐานเสียง “ในเข่งเดียวกัน” ก็ต้องแย่งกันสุดฤทธิ์ แม้ว่าในช่วงแรกๆ พรรคเพื่อไทยอาจจะดูใหญ่กว่า แต่มาถึงตอนนี้อาจจะกลายเป็นตรงกันข้ามแล้วก็ได้ อย่างน้อยก็เริ่มหายใจรดต้นคอ แบบจี้เข้ามาติดๆ หรือบางทีอาจจะแซงไปแล้วก็ได้ หากเชื่อตามโพลบางสำนัก

กลายเป็นว่า เวลานี้คนที่กำลังเป็นตัวเต็งที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีในฝั่งนี้เพิ่มขึ้นมา ก็คือ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากพรรคก้าวไกล นอกเหนือจาก “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย

หันมาฝั่งตรงข้ามบ้าง ที่เป็นฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ นำโดย “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ และ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ นี่คือแคนดิเดตนายกฯ เป็นพรรคหลักๆ ซึ่งก็กลายเป็นว่า “ตัดคะแนน” กันเองไม่น้อยเหมือนกัน แต่เป็นลักษณะบางพรรคและบางพื้นที่ เช่น รวมไทยสร้างชาติ ตัดกับประชาธิปัตย์ ในภาคใต้ ภูมิใจไทย ตัดกับพลังประชารัฐ ในภาคอีสานบางจังหวัด

แต่หากการเมืองแบ่งเป็น “สองขั้ว” และเป็นการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พรรคที่ชัดเจนน่าจะได้น้ำได้เนื้อที่สุดน่าจะเป็น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ มากกว่าใคร เพราะฝั่งที่ “ไม่เอาทักษิณ” และไม่ให้แตะ มาตรา 112 ที่มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน พิจารณาจากการเลือกตั้งคราวที่แล้ว และย้อนกลับไปสมัยการชุมนุม ทั้งในนามของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาจนถึง กปปส.แนวทางของคนกลุ่มนี้ ก็ยังไม่ได้แยกจากกันมากนัก

ขณะที่ฝั่งที่อ้างว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” มีเพื่อไทย กับก้าวไกล ที่ตัดกันเอง จะทำให้ “ตาอยู่” จากอีกฝั่งได้เข้าวิน และเมื่อพิจารณาจากบรรยากาศทุกด้าน โดยเฉพาะ “ความกลัว” และ “ความอยาก” จะเป็นแรงกระตุ้นให้มีการโหวตนายกรัฐมนตรีชัดเจนขึ้นมากกว่าทุกครั้ง และมีแนวโน้มเป็นกระแสแรงขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายจริงๆ !!


กำลังโหลดความคิดเห็น