xs
xsm
sm
md
lg

โพลกระตุ้นเลือกข้างนายกฯ-ขั้วตรงข้าม!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงสัปดาห์นี้จะเห็นผลสำรวจจากสำนักต่างๆในทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อรายงานผลว่า พรรคใดได้รับความนิยมมากที่สุดและลดหลั่นลงมา ขณะเดียวกันก็รายงานถึงความนิยมของตัวเต็งจากพรรคการเมือง ว่าใครที่ชาวบ้านต้องการให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แม้ว่าอย่างหลังอาจต้องมีหมายเหตุเอาไว้ด้วยว่า คนที่โพล บอกว่ามาที่หนึ่ง แต่อาจไม่ได้รับการโหวตในสภาก็ได้ เพราะเงื่อนไขบางอย่างของรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้

หลายโพลผลออกมาตรงกันว่า พรรคเพื่อไทย ได้รับความนิยมมากที่สุด จะได้รับการเลือกตั้ง ได้ส.ส.เข้ามามากที่สุด และจากผลสำรวจก็ยกให้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค มาเป็นอันดับหนึ่ง ทิ้งห่างแคนดิเดตจากพรรคการเมืองอื่น ขณะที่ผลโพลบางสำนักต่างรายงานผลต่างกันไป เช่น เรื่องจำนวนส.ส.ของบางพรรค เช่น ก้าวไกล ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ผลสำรวจต่างรายงานไม่ตรงกัน บางสำนักบอกว่าพรรคนี้มาลำดับที่สอง อีกพรรคมาที่สาม ที่สี่ เป็นต้น รวมไปถึงเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ก็ทำนองเดียวกัน

“นิด้าโพล”เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2” สำรวจระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย.66 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 35.70 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) ,อันดับ 2 ร้อยละ 20.25 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล), อันดับ 3 ร้อยละ 13.60 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) ,อันดับ 4 ร้อยละ 6.10 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ , อันดับ 5 ร้อยละ 6.05 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เป็นต้น

สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 47.20 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 21.20 พรรคก้าวไกล ,อันดับ 3 ร้อยละ 10.80 พรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 4 ร้อยละ 4.75 เป็น พรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 5 ร้อยละ 3.75 พรรคภูมิใจไทย อันดับ 6 ร้อยละ 2.75 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ

ส่วนพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 47.00 เป็น พรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 21.85 พรรคก้าวไกล, อันดับ 3 ร้อยละ 11.40 พรรครวมไทยสร้างชาติ, อันดับ 4 ร้อยละ 4.50 พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.00 พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น

ขณะที่ ซูเปอร์โพล บอกว่า ผลการศึกษาความเป็นไปได้ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้ง 400 ที่นั่ง จำแนกตามภูมิภาค พบอย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย มีความเป็นไปได้ที่จะได้จำนวนที่นั่งส.ส. เขตเลือกตั้งแบบแลนสไลด์ในภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะได้ 133 ที่นั่ง หรือ ร้อยละ 33.3 ของจำนวนทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขต 24 ที่นั่งหรือร้อยละ 64.9 ของจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดในภาคเหนือ และในภาคอีสานพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 78 ที่นั่ง หรือร้อยละ 58.6 ของจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งทั้งหมดในภาคอีสาน แต่พบว่า พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเลย ในภาคใต้ แต่จะได้ 8 ที่นั่ง หรือร้อยละ 24.2 ในกรุงเทพฯ , ได้ 18 ที่นั่ง หรือร้อยละ 20.2 ในภาคกลาง, ได้ 4 ที่นั่งหรือร้อยละ 13.8 ในภาคตะวันออก และ 1 ที่นั่ง หรือร้อยละ 5.0 ในภาคตะวันตก

ที่น่าพิจารณาคือ พรรคภูมิใจไทย ที่ได้จำนวนที่นั่งส.ส. เขตเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง คือ 101 ที่นั่งทั่วประเทศ หรือร้อยละ 25.3 ของจำนวนที่นั่งส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมด โดยภาพของจำนวนที่นั่งส.ส. กระจายไปในทุกกลุ่มจังหวัดของแต่ละภาค โดยจะได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง มากที่สุด ในภาคตะวันตก 10 ที่นั่งหรือ ร้อยละ 50 ส่วนที่เหลือกระจายแทรกเข้าไปแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 5 ที่นั่ง หรือร้อยละ 13.5 กรุงเทพมฯ 8 ที่นั่ง หรือ ร้อยละ 24.2 ภาคอีสาน 36 ที่นั่งหรือร้อยละ 27.1 ภาคกลาง 26 ที่นั่ง หรือร้อยละ 29.2 ภาคตะวันออก 6 ที่นั่ง หรือร้อยละ 20.7 และภาคใต้ 10 ที่นั่ง หรือร้อยละ 16.9 ในการศึกษาครั้งนี้

ในขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ กลับขึ้นมาเป็นอันดับสาม จำนวน ส.ส.เขต 53 ที่นั่งหรือร้อยละ 13.3 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยกระจายไปแต่ละกลุ่มจังหวัดของภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 6 ที่นั่งหรือร้อยละ 16.2 กรุงเทพฯ 2 ที่นั่ง หรือร้อยละ 6.1 ภาคอีสาน 10 ที่นั่งหรือร้อยละ 7.5 ภาคกลาง 17 ที่นั่ง หรือร้อยละ 19.1 ตะวันออก 8 ที่นั่งหรือร้อยละ 27.6 ภาคตะวันตก 3 ที่นั่งหรือร้อยละ 15.0 และภาคใต้ 7 ที่นั่งหรือร้อยละ 11.9

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาอันดับที่สี่ จำนวน ส.ส.เขต 44 ที่นั่ง หรือร้อยละ 11.0 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.เขตเลือกตั้ง1 ที่นั่ง หรือร้อยละ 2.7 ในภาคเหนือ ได้ 3 ที่นั่ง หรือร้อยละ 9.1 ในกรุงเทพฯ ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 1.5 ในภาคอีสาน ได้ 1 ที่นั่ง หรือร้อยละ 1.1 ในภาคกลาง ได้ 7 ที่นั่ง หรือร้อยละ 24.1 ในภาคตะวันออก ได้ 2 ที่นั่ง หรือร้อยละ 10.0 ในภาคตะวันตก และได้ 28 ที่นั่ง หรือร้อยละ 47.5 ในภาคใต้ ที่อาจกล่าวได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ แลนด์สไลด์ในภาคใต้แบบยกจังหวัดก็เป็นไปได้

พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อันดับห้า จำนวน ส.ส.เขต 35 ที่นั่ง หรือร้อยละ 8.8 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพรรครวมไทยสร้างชาติ จะได้ส.ส.เขตเลือกตั้ง 1 ที่นั่ง หรือร้อยละ 2.7 ในภาคเหนือ และได้ 6 ที่นั่ง หรือร้อยละ 18.2 ในกรุงเทพฯ ได้ 1 ที่นั่ง หรือร้อยละ 0.8 ในภาคอีสาน ได้ 13 ที่นั่ง หรือร้อยละ 14.6 ในภาคกลาง ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 6.9 ในภาคตะวันออก ได้ 3 ที่นั่ง หรือร้อยละ 15.0 ในภาคตะวันตก และได้ 9 ที่นั่งหรือร้อยละ 15.3 ในภาคใต้

ในขณะที่ พรรคก้าวไกล ได้อันดับที่หก จำนวน ส.ส.เขต 10 ที่นั่งหรือร้อยละ 2.5 ของจำนวนที่นั่ง ส.ส.เขตเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ โดยพรรคก้าวไกลไม่ได้ ส.ส.เขตเลยในภาคเหนือ ได้ 1 ที่นั่งหรือร้อยละ 3.0 ในกรุงเทพฯ ได้ 2 ที่นั่งหรือร้อยละ 1.5 ในภาคอีสาน ได้ 5 ที่นั่งหรือร้อยละ 5.6 ในภาคกลาง ได้ 2 ที่นั่ง หรือร้อยละ 6.9 ในภาคตะวันออก ในขณะที่ไม่พบเลยในภาคตะวันตก และภาคใต้

แน่นอนว่าจากผลสำรวจดังกล่าวอาจมีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ แล้วแต่มุมมองและต่างฝ่ายต่างนำมาหาประโยชน์ทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งจะมาถึง และเป็นการชี้นำก่อนที่กฎหมายจะห้ามเผยแพร่ผลโพล ก่อนการเลือกตั้ง 7 วัน แต่ระหว่างนี้ ถือว่าสามารถนำไปหาประโยชน์ทางการเมืองในช่วงรณรงค์หาเสียงได้อย่างเข้มข้น

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากผลโพลดังกล่าวที่ออกมา ทำให้เห็นแนวโน้มของคนที่มีความเป็นไปได้ว่าใครจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในแบบที่ความน่าจะเป็นลดหลั่นลงมา

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งหากผลสำรวจออกมาแบบนี้ และพิจารณาจากการเมืองแบบ “สองขั้ว” มันก็อาจมองเห็นตัวนายกรัฐมนตรีคนต่อไปแล้วว่าเป็นใคร แต่หากมองในแบบที่ว่าผลของโพลดังกล่าวจะเป็นการ “กระตุ้น” ให้อีกฝ่ายต้อง “ตัดสินใจ” หรือเร่งเร้าให้ต้องออกมาให้มากที่สุด เพื่อเลือกฝ่ายตัวเอง หรือไม่ก็ต้องออกมาโหวตเพื่อสกัดกั้นไม่ให้อีกฝ่ายเข้ามาได้ อะไรประมาณนี้

ดังนั้น หากเชื่อในแบบการเมืองสองขั้ว มันก็มีความหมายในแบบฝ่ายที่ “เอาทักษิณ” กับฝ่ายตรงข้าม ซึ่งฝ่ายหลังน่าจะโน้มเอียงมาทาง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรครวมไทยสร้างชาติ มากกว่าใคร หากเป็นการเลือกแบบยุทธศาสตร์ หรือ “เลือกนายกฯ” เชื่อว่าในช่วงโค้งสุดท้าย น่ามีกระแสแบบนี้เข้มข้นจนถึงจุพีคแน่นอน และการเลือกตั้งคราวนี้น่าจะเกิดขึ้นไม่ต่างจากการเลือกตั้งคราวที่แล้ว หรืออาจดุเดือดกว่าเดิม เพราะเดิมพันของแต่ละฝ่ายสูงมาก!!


กำลังโหลดความคิดเห็น