xs
xsm
sm
md
lg

อุ๊งอิ๊งทิ้งขาดเศรษฐา เหนือกว่าทุกทาง !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร - เศรษฐา ทวีสิน
เมืองไทย 360 องศา


อาจเป็นผลต่อเนื่องมาจากการผลโพลสำนักต่างๆ ที่ออกมากันถี่ยิบในช่วงนี้ ส่วนใหญ่ออกมาตรงกันก็คือ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย มีคะแนนความนิยมทิ้งห่างแคนดิเดตจากพรรคอื่นหลายช่วงตัว และผลโพลยังระบุว่า พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง มีส.ส.จำนวนมากที่สุด ซึ่งผลสำรวจออกมาตรงกันอย่างนั้น


อย่างไรก็ดี ขอตัดตอนในเรื่องคู่แข่งจากพรรคการเมืองอื่นเอาไว้ก่อน แต่ให้มาโฟกัสมาที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเดียวกัน ที่มีข้อสังเกตน่าสนใจก็คือ แคนดิเดตสองคน คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นแคนดิเดตอันดับหนึ่งและสองของพรรค รวมไปถึงอันดับที่สามคือ นายชัยเกษม นิติสิริ

“นิด้าโพล” เผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2” ทำการสำรวจระหว่าง วันที่ 3-7 เม.ย.66 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 35.70 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 2 ร้อยละ 20.25 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) อันดับ 3 ร้อยละ 13.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรครวมไทยสร้างชาติ) อันดับ 4 ร้อยละ 6.10 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 5 ร้อยละ 6.05 นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) อันดับ 6 ร้อยละ 4.15 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) อันดับ 7 ร้อยละ 3.45 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) อันดับ 8 ร้อยละ 2.55 นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) อันดับ 9 ร้อยละ 2.20 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) อันดับ 10 ร้อยละ 1.95 นายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า)

สำหรับพรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 47.20 เป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 21.20 พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 10.80 พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 4.75 พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.75 พรรคภูมิใจไทย

พรรคการเมืองที่ประชาชนจะเลือกให้เป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 47.00 พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 21.85 พรรคก้าวไกล อันดับ 3 ร้อยละ 11.40 พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 ร้อยละ 4.50 พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 5 ร้อยละ 3.00 พรรคภูมิใจไทย

ขณะที่ผลสำรวจของบางสำนัก แม้ว่าจำนวนเปอร์เซ็นต์จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้มากจนมีนัยสำคัญ เช่นผลสำรวจของ “ซูเปอร์โพล” ระบุว่า จำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้ง 400 ที่นั่ง จำแนกตามข้อมูลพื้นฐานการปกครองท้องที่ที่เป็นกลุ่มจังหวัดในแต่ละภูมิภาค พบอย่างชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย มีความเป็นไปได้ที่จะได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. เขตเลือกตั้งแบบแลนสไลด์ ในภาคอีสาน และภาคเหนือ โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะได้ 133 ที่นั่ง หรือ ร้อยละ 33.3 ของจำนวนทั้งหมดทั่วประเทศ โดยจะได้ ส.ส.เขต 24 ที่นั่งในภาคเหนือ ส่วนภาคอีสาน จะได้ ส.ส. 78 ที่นั่ง ส่วนภาคใต้ พรรคเพื่อไทยอาจจะไม่ได้ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเลย ส่วนในกรุงเทพฯจะได้ 8 ที่นั่ง และได้ 18ที่นั่ง ในภาคกลาง ส่วนภาคตะวันออกได้ 4 ที่นั่ง และอีก 1 ที่นั่ง ในภาคตะวันตก

ส่วนพรรคภูมิใจไทย จะได้ส.ส. เขตเลือกตั้ง มาเป็นอันดับสอง คือ 101 ที่นั่ง จากทั่วประเทศ โดยจะได้ ส.ส.เขตเลือกตั้งในภาคตะวันตก 10 ที่นั่ง ส่วนที่เหลือกระจายแทรกเข้าไปแต่ละภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ 5 ที่นั่งกรุงเทพฯ 8 ที่นั่ง ภาคอีสาน 36 ที่นั่ง ภาคกลางจำนวน 26 ที่นั่ง ภาคตะวันออก 6 ที่นั่ง และภาคใต้จำนวน 10 ที่นั่ง

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ กลับขึ้นมาเป็นอันดับสามจำนวน ส.ส.เขต 53 ที่นั่ง โดยภาคเหนือจะได้ 6 ที่นั่ง กรุงเทพฯ 2 ที่นั่ง ภาคอีสาน 10 ที่นั่ง ภาคกลาง 17 ที่นั่ง ภาคตะวันออก 8 ที่นั่ง ภาคตะวันตก 3 ที่นั่ง และภาคใต้ 7 ที่นั่ง

พรรคประชาธิปัตย์ ตามมาอันดับที่สี่ จำนวน ส.ส.เขต 44 ที่นั่ง โดยจะได้ 1 ที่นั่งในภาคเหนือ ได้ 3 ที่นั่ง ในกรุงเทพฯ ได้ 2 ที่นั่งในภาคอีสาน ได้ 1 ที่นั่ง ในภาคกลาง ได้ 7 ที่นั่งในภาคตะวันออก ได้ 2 ที่นั่งในภาคตะวันตก และได้ 28 ที่นั่ง ในภาคใต้

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้อันดับห้า จำนวน ส.ส.เขต 35 ที่นั่ง โดยภาคเหนือจะได้ 1 ที่นั่ง กรุงเทพฯได้ 6 ที่นั่ง ภาคอีสานได้ 1 ที่นั่ง ภาคกลางได้ 13 ที่นั่ง ภาคตะวันออกได้ 2 ที่นั่ง ภาคตะวันตก ได้ 3 ที่นั่งและภาคใต้จะได้ 9 ที่นั่ง

แน่นอนว่า ผลสำรวจของสำนักโพลดังกล่าว จะถูกตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า มีความน่าเชื่อถือเพียงใด เป็นลักษณะชี้นำหรือ “รับงาน” มาหรือไม่ รวมไปถึงวิธีการสำรวจถูกต้องตามหลักวิชาการมากน้อยแค่ไหน ก็ว่ากันไป ขึ้นอยู่กับว่า เชียร์พรรคไหน และสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ดี นาทีนี้อยากให้โฟกัสไปที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทยเป็นหลัก นั่นคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับ นายเศรษฐา ทวีสิน ส่วนอีกคนหนึ่งคือ นายชัยเกษม นิติสิริ แม้ว่าจะเป็นแคนดิเดตอันดับสาม แต่ทุกโพลที่ผ่านมาจนถึงผลสำรวจล่าสุด ไม่เคยมีปรากฏชื่อ หรือไม่มีจำนวนเปอร์เซ็นต์การได้รับคามนิยมจากชาวบ้าน เรียกว่า “หายไปจากสารบบ”เลย

ดังนั้น ที่ต้องนำรายชื่อสองคนดังกล่าวมาเปรียบเทียบ และตั้งข้อสังเกต เนื่องจากมีการตั้งคำถามในเรื่องของความรู้ความสามารถ รวมไปถึงประสบการณ์ความสำเร็จในการทำงาน หรือความนิยมที่ว่านั้นมาจากอะไรกันแน่ หรือมาจากเหตุผลอะไร

เพราะเปรียบเทียบประสบการณ์ทำงาน และความสำเร็จ ระหว่าง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับ นายเศรษฐา ทวีสิน เชื่อว่าหลายคนก็น่าจะยอมรับว่า นายเศรษฐา น่าจะมีมากกว่า “อุ๊งอิ๊ง” ค่อนข้างแน่ เพราะเขาเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทอสังหาชื่อดังมาก่อน รวมไปถึงความรู้ความสามารถ ก็ไม่น่าจะเป็นรองเธอ รวมไปถึงการ “พูดภาษาอังกฤษ” ที่มักชอบนำมาประกอบ สำหรับการวิจารณ์ฝ่ายตรงข้ามเสมอ

หากพิจารณากันด้วยข้อมูลจริงแบบนี้ ก็ต้องบอกว่า นายเศรษฐา น่าจะมีความสามารถ และประสบความสำเร็จมากกว่า “อุ๊งอิ๊ง” มากมาย แต่อย่างไรก็ดี สำหรับในทางการเมืองเรื่องดังกล่าวอาจไม่ใช่เหตุผลหลักในการตัดสินใจก็ได้ เพราะจากผลสำรวจที่ออกมาปรากฏว่า “อุ๊งอิ๊ง” มีคะแนนทิ้งห่าง นายเศรษฐา แบบไม่เห็นฝุ่น นั่นคือหากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ล่าสุด พบว่า “อุ๊งอิ๊ง” ได้ถึงร้อยละ 35.70 ขณะที่ นายเศรษฐา ได้แค่ร้อยละ 4.15 เท่านั้น เรียกว่าไม่เห็นฝุ่นกันเลยทีเดียว

ดังนั้นหากผลสำรวจดังกล่าวออกมาเป็นของจริงและเชื่อถือได้มันก็ทำให้น่าคิดเหมือนกันว่า ความนิยมที่ว่านั้นมันมาจากพื้นฐานอะไรกันแน่ ระหว่างความรู้ความสามารถ รวมทั้งประสบการณ์ความสำเร็จที่ผ่านมา หรือว่าเรื่องแบบนั้นมันไม่มีจริง และไม่ใช่เหตุผลรองรับ เพียงแต่ว่ามีที่มาจากไหนเท่านั้น ซึ่งในกรณีของ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นเพราะเป็นทายาทสายตรงของ นายทักษิณ ชินวัตร หรือเปล่า !!



กำลังโหลดความคิดเห็น