xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยกระอัก ขั้วพรรคร่วมฯเข้าวิน !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุทิน-ชาญวีรกูล - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าทางตรงถึงเส้นชัยกันแล้ว สำหรับการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม ซึ่งหากว่ากันตามโพล กลายเป็นว่าเวลานี้พรรคเพื่อไทย กำลังถูกไล่บี้จากพรรคก้าวไกล แบบหายใจรดต้นคอ หรือบางโพลไปไกลถึงขนาดแซงนำหน้าไปแล้วก็มี นั่นก็หมายความว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ มากกว่า “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทย

นั่นว่ากันตามโพล ซึ่งหลายคนไม่เชื่อ มองว่า เป็นไปแบบนั้นได้ยาก บางคนถึงขนาดกล่าวหาว่า “มั่ว” มีเจตนา “คิดไม่ซื่อ” หรือมี “เจตนาชี้นำ” ให้กับบางพรรคไปเลยก็มี ซึ่งอย่างหลังก็เป็นไปได้สูงเหมือนกัน แต่ถึงอย่างไรใครแม่น ไม่แม่น หรือใครมั่ว ใคร “รับจ้าง” อีกไม่กี่วันก็จะได้เห็นกันอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี นาทีนี้ต้องการประเมินสถานการณ์ไปอีกแนว อาจจะต้องขัดแย้งกับโพลของหลายสำนัก โดยความเชื่อหลักยังเป็น “การเมืองแบบสองขั้ว” ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยเป็นมามากนัก เพียงแต่ว่าคราวนี้มีรายละเอียดเพิ่มเข้ามาบ้าง นั่นคือ “เสียงของเด็กๆ รุ่นใหม่”

วกกลับมาเรื่องการเมืองสองขั้วดังกล่าว “ขั้วแรก” แน่นอนว่า พวกเขาสถาปนา หรือ “เคลม” ว่า ตัวเองอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย กลุ่มพรรคการเมืองพวกนี้จะมี เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ และล่าสุด ก็ยังรวมถึงพรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แม้ว่าพรรคหลังนี้จะมีความ “แปลกแยก” กันในรายละเอียด นั่นคือ ตอนนี้กำลังถูก “ตัดญาติขาดมิตร” จากพรรคเพื่อไทย อย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากผลโพลมา “ประกอบบางส่วน” มันก็พอประมวลให้เห็นภาพ ก็คือ เวลานี้กลายเป็นว่า พรรคก้าวไกล กำลัง “รุกไล่” พรรคเพื่อไทย เข้ามาเรื่อยๆ และคาดว่า อีกไม่นานข้างหน้า พรรคก้าวไกลนี่แหละจะกลายเป็น “คู่ต่อสู้” กับพรรคเพื่อไทยที่จะใช้ “ข้ออ้างทางอุดมการณ์” แบบเดียวกัน

ครั้งนี้ หากไม่อยากฟันธงว่าพรรคไหนนำ พรรคไหนตามหลังก็ได้ แต่เอาเป็นว่า ก้าวไกลกำลังเติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หากเปรียบให้เห็นภาพขึ้นมาอีก มันก็คล้ายกับว่า “ลูกกำลังจะฆ่าพ่อแม่” เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อการเลือกตั้งปี 62 พรรคอนาคตใหม่ ก่อนมาเป็นก้าวไกล ก็ได้แรงส่งหลังจากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบไป รวมถึงได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

แต่คราวนี้ กลายเป็นว่า การเติบใหญ่ของก้าวไกล ส่วนใหญ่ก็ล้วนมาจากการ “ส่งเสริมแบบไม่ตั้งใจ” ของแกนนำพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร ที่ประกาศเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” เร่งเร้าให้ “เลือกให้ขาด” ความหมายก็คือ ให้เลือกแต่พรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ไม่ต้องแบ่งให้ใคร “ไม่มีพรรคพี่พรรคน้อง” หรือ แบบ “ขายพ่วง” อย่างเด็ดขาด เอาตรงๆ ก็คือ ตัดขาด ทั้งก้าวไกล และไทยสร้างไทย อย่างชัดเจน เพราะทั้งสองพรรคกลายเป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะใน กรุงเทพมหานคร ภาคอีสาน รวมถึงอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ความเชื่อที่ว่านี้ ก็คือ มาจากการเมือง “แบบสองขั้ว” ที่จะ “ไม่โหวตข้ามฟาก” แน่นอนแบบฝ่ายหนึ่งก็มีฐานเสียงแน่นอน เหมือนกับที่คนเสื้อแดง หรือคนที่ “นิยมทักษิณ” มาก่อนก็จะเลือกพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล (อนาคตใหม่) หลังจากที่พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบไป แต่ที่บอกว่าพรรคเพื่อไทยได้หนุนส่งพรรคก้าวไกลแบบก้าวกระโดด ก็คือ “ความไม่ชัดเจน” ตั้งแต่แรกนั่นเอง จากความเชื่อที่ว่าจะจับมือกับ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ถึงขนาดมีข่าว “ดีลลับ” หนาหู และก่อนหน้านี้ ทางแกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ไม่ออกมาปฏิเสธให้เด็ดขาดชัดเจน จนมาถึงตอนท้ายแล้วที่พูดแบบ “กัดฟัน” ทำนองว่า “ไม่จับมือทั้งสองลุง” แต่มันก็น่าจะสายไปแล้ว

เพราะความไม่ชัดเจน และทำให้มวลชนที่เคยสนับสนุน ต้องหันหลังให้เพราะถูกฝังหัวมานานว่า “ไม่เอาฝ่ายเผด็จการ” เข่นฆ่าคนเสื้อแดง อะไรประมาณนี้ คนพวกนี้เลยเทกลับมาก้าวไกล ประกอบกับพรรคก้าวไกลที่มีพวกเด็กๆ รุ่นใหม่ ไล่ไปตั้งแต่พวกอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่เพิ่งใช้สิทธิครั้งแรก ไปจนถึงพวก “ม็อบสามนิ้ว” ที่รับข้อมูลเรื่อง “มาตรา 112” ก็มักจะเอาก้าวไกลทั้งนั้น ประกอบกับความชัดเจนในท่าที คือ “มีเราไม่มีลุง” เมื่อรวมเสียงจาก “สองก้อน” นี้ทำให้แรงหนุนพรรคก้าวไกล มีเป็นกอบเป็นกำมากขึ้น

แต่อย่างที่ว่าเอาไว้ ก็คือ ถึงอย่างไรฐานเสียงที่เทให้ทั้งสองพรรคก็ล้วนอยู่ในฐานเสียงเดียวกัน ใน “เข่งเดียวกัน” นอกเหนือจากเด็กรุนใหม่ ที่เป็นฐานหลักของก้าวไกล มาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว นี่จึงเป็นคำตอบว่าพรรคก้าวไกลกำลังรุกขยายกินแดนพรรคเพื่อไทย เข้ามาเรื่อยๆ แม้ว่าไม่ต้องฟันธงว่าใครแพ้หรือใครได้ ส.ส.มากกว่ากัน แต่ตราบใดที่ก้าวไกลโตขึ้น พรรคเพื่อไทยก็จะหดลงเท่านั้น ยิ่ง “สูสี” มากเท่าไหร่ ในแต่ละพื้นที่สำคัญ หรือพื้นที่ยุทธศาสตร์ ทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ รวมไปถึงกรุงเทพมหานคร มันก็จะกลายเป็นว่า “ตัดกันเอง” จะกลายเป็น “ตาอยู่” จากอีกฝั่ง “เอาไปกิน” หน้าตาเฉย

หันมาอีกฟาก คือ ฝั่ง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เมื่อบีบให้ “เหลือสองขั้ว” มันก็ต้องเลือกในกลุ่มในพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่มีพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ เป็นหลัก เมื่อต้องโหวตมันก็มีแนวโน้มเทมาทาง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อที่จะไปสู้กับอีกฝั่งได้สมน้ำสมเนื้อ และมั่นใจได้ ขณะที่ “ลุงป้อม” จากพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” อาจมองว่าเป็น “ภาพกลางๆ” ในช่วงแรกๆ แต่เมื่อแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน มันก็ส่งผลกระทบเข้าอย่างจัง เพราะเหมือนเจตนา “ข้ามขั้ว” ไม่ใช่ข้ามความขัดแย้ง นั่นคือ พร้อมร่วมมือกับ “ฝ่ายทักษิณ” นั่นเอง ซึ่งฐานเดิมของแต่ละฝั่ง ทั้งเพื่อไทย และฝั่งตรงข้าม ก็ไม่เอาด้วย

อย่างไรก็ดี ภาพของ “ลุงป้อม” และพรรคพลังประชารัฐ อาจแตกต่างไปจากพรรคภูมิใจไทยของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่แม้จะพยายามสร้างภาพ “กลางๆ” เหมือนกัน แต่ไม่ค่อยกระทบนัก อย่างน้อยพวกเขาก็มีฐานเสียงในภาคอีสาน ที่แผ่ขยายออกมาจาก แนว “อีสานใต้” จากกลุ่มชิดชอบ เมื่อภูมิใจไทยติบโตในภาคอีสานแน่นอนว่ามันก็ไปกัดกินเพื่อไทย เข้าไปอีก เรียกว่าเวลานี้เพื่อไทยโดนสองเด้ง จากทั้งพรรคก้าวไกล และภูมิใจไทย

ดังนั้น เมื่อสภาพการเมืองถูก “บีบให้เป็นสองขั้ว” แบบนี้ เป็นการแย่งจากฐานเสียงเดียวกัน “ตัดแต้ม” กันเอง ไม่มีทางข้ามฟาก โดยเฉพาะก้าวไกลกับเพื่อไทยแข่งขันกันแทบทุกพื้นที่แบบนี้ มันก็ทำให้พวก “ตาอยู่” เข้าวิน ในที่นี้ย่อมหมายถึงพวกพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ทั้ง ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ รวมกันจะ “เข้าวิน” ในที่สุด แต่ขณะเดียวกัน ให้จับตากลุ่ม “ผู้สูงวัย” ที่มีจำนวนไม่น้อย มีความยึดมั่นใน “สถาบันหลัก” จะเทเสียงมาที่พรรครวมไทยสร้างชาติ และ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยให้จับตา “คะแนนปาร์ตี้ลิสต์” จะถล่มทลายหรือไม่ เอาเป็นว่าสถานการณ์แบบนี้ “พรรคร่วมเดิม” น่าจะกอดคอกันเข้าป้ายมากกว่า ส่วนใครจะมากกว่า ค่อยมาว่ากันอีกที !!


กำลังโหลดความคิดเห็น