xs
xsm
sm
md
lg

ศึก 2 ขั้วเดือดปุด พี่ตู่-อุ๊งอิ๊ง เดิมพันอยู่รอด !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา


เหลือไม่ถึง 10 วันแล้วสำหรับการหย่อนบัตรเลือกตั้ง เพื่อชี้ชะตาอนาคตประเทศไทย รวมไปถึงหลักการ แนวทางในบ้านเมืองที่เคยเป็นมาช้านานว่าจะพังทลายกันไปแค่ไหน หรือว่าถึงคราวที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ “ถอนราก” กันไปเลย ผลจากการเลือกตั้งคราวนี้จะได้พิสูจน์กัน

ขณะเดียวกันแนวโน้มการเมืองยังถูกบีบให้กลายเป็น “สองขั้ว” อีกครั้ง ซึ่งหากพิจารณากันแบบแบ่งให้ชัดก็คือ ฝั่งเพื่อไทย กับอีกฝั่งคือ รวมไทยสร้างชาติ ฝั่งแรกนำโดย “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวทายาทสายตรงของ นายทักษิณ ชินวัตร ส่วนอีกฝั่งก็คือ “ลุงตู่” หรือ “พี่ตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้ว่าในแต่ละขั้วแต่ละฝั่งจะมีรายละเอียดมากมาย แต่เพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ก็จะประมาณนี้ ซึ่งจะต้องไล่เรียงตามมา ที่ต้องบอกว่าทั้งสองขั้วดังกล่าวที่นาทีนี้เป็นการ “วางเดิมพัน” สูงโดยเฉพาะหัวขบวนทั้งที่ออกหน้ากันอย่างเปิดเผย คือ “พี่ตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนอีกฟากก็คือ “อุ๊งอิ๊ง” แม้ว่าถูกมองว่าเป็น “หุ่นเชิดของพ่อ” ก็ตามที แต่มาถึงตอนนี้แล้วภาพการแบ่งขั้วจะออกมาในลักษณะดังกล่าว

อย่างไรก็ดี หากจะว่าไปแล้วภาพการ “แบ่งขั้ว” ที่เริ่มเห็นภาพชัดตั้งแต่แรกก็ต้องเริ่มมาจาก ฝั่งเพื่อไทย ที่มี “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร ผู้สนับสนุนคนสำคัญที่ออกมาเร่งเร้าให้ “เลือกให้ขาด” เลือกแบบยุทธศาสตร์ ตามเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” เพื่อหวังกลับมาเป็นรับบาลโดยไม่ต้องหวังพึ่งเสียงของส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา ที่ต้องใช้เสียงสนับสนุนถึง 376 เสียง แม้ว่ายังได้เสียงไม่ถึงแต่หากเป็นไปตามเป้าหมายที่ว่านั้นจริงมันก็กลายเป็นแรงบีบทำให้มั่นใจว่าจะมี ส.ว.บางส่วนมาโหวตให้

หากมองทีละช็อตแล้วจะพบความจริงว่า “แผนแลนด์สไลด์” ดังกล่าวของ นายทักษิณ ชินวัตร กลับกลายเป็นเป็น “ทิ่มแทง” ตัวเองแบบคาดไม่ถึง เพราะแม้ว่าหากทำได้จริงมันก็กลายเป็น “กัดกินเนื้อตัวเอง” เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าเมื่อการเมืองแบ่งเป็นสองขั้ว ซึ่งแต่ละขั้วก็จะโหวตในฝั่งของตัวเองอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกพรรคไหนในกลุ่มตัวเอง โดยพิจารณาจากความเชื่อว่าจะให้ใครมาเป็นผู้นำรัฐบาลหรือ “เลือกนายกรัฐมนตรี” นั่นเอง

พรรคเพื่อไทยก็เช่นเดียวกัน ตอนแรกคิดว่า เมื่อดัน “อุ๊งอิ๊ง” ทายาทสายตรงทักษิณ ลงมาแล้วจะยิ่งทำให้บรรดาผู้สนับสนุนเดิมๆ กลับมาแบบเต็มร้อยเหมือนเดิม ซึ่งในช่วงแรกๆ ก็อาจจะมองได้แบบนั้น แต่เอาเข้าจริงด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พรรคเพื่อไทยห่างหายจากอำนาจรัฐมานานกว่า 8 ปี ฝ่ายตรงข้ามก็มีการปรับตัว ไม่ใช่ “เผด็จการแบบโบราณ” อีกแล้ว

ขณะเดียวกันเมือหันมาพิจารณาฝั่งเดียวกัน ในตอนแรกหวังว่าจะ “ตามเก็บเบี้ย” ที่หล่นหายไปอยู่กับอดีตพรรคอนาคตใหม่จนมาถึงพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน แต่กลายเป็นว่า เสียงเดิมที่เคยอยู่กับก้าวไกล มาถึงตอนนี้ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ แถมยังมีเด็กๆรุ่นใหม่มาสบทบสร้างกระแสขึ้นมาอีก ทำให้ก้าวไกลเริ่มแรงขึ้น และกระทบเข้ากับเพื่อไทยอย่างจัง เพราะยิ่งก้าวไกลแรง มันก็ทำให้เพื่อไทยหดตัวมากเท่านั้น เพราะอย่างที่รู้กันว่าไม่มีการโหวตข้ามฟากไปอีกฝั่งแน่นอน

ประกอบด้วยเหตุผลจากการที่พรรคเพื่อไทยไม่ชัดเจนตั้งแต่แรกในหลายเรื่อง ทั้งเรื่อง “ดีลลับ” ข่าวร่วมมือ “แบ่งเค้ก” กันกับ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ มันกลายเป็นส่งผลกระทบกันทั้งสองพรรคที่ว่า เพราะกลุ่มฐานเสียงทั้งสองขั้วลังเลหันไปตัดสินโหวตให้อีกพรรคในแต่ละขั้ว ความหมายก็คือ ฝ่ายเดิมที่หนุนเพื่อไทยบางส่วนกลับไปหนุนพรรคก้าวไกล ขณะที่อีกฝั่งไปตัดสินใจไปหนุน “ลุงตู่” และพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นการเลือก นายกฯและแบบยุทธศาสตร์ของจริง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การประกาศของพรรคก้าวไกล ที่ย้ำว่า “มีเราไม่มีลุง” มันก็ชัดเจนทำให้ฝั่งนั้นเทมาให้ โดยเฉพาะพวก “นิวโหวตเตอร์” เด็กรุ่นใหม่ รวมไปถึงคนเสื้อแดงที่มีความแตกแยก และเคยได้บทเรียนจาก นายทักษิณ ชินวัตร อย่างน้อยก็เห็นตัวอย่างจากการออกมาเปิดโปงของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำคนเสื้อแดง ที่แฉรายวันจนสั่นสะเทือนไม่น้อย จนเวลานี้หากมองตามโพลโซเชียลแล้วพรรคเพื่อไทย และ “อุ๊งอิ๊ง” เสียงตกลง และหดตัวจากการเติบโตของพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจน ทำให้เป้าหมายแลนด์สไลด์ห่างไกลทุกทีจนหลายฝ่ายฟันธงตรงกันว่า เป็นแค่ “ฝันกลางวัน” เท่านั้น และไม่ต้องแปลกใจที่จะเห็นชัดเจนมากว่าขึ้นถึงการประกาศท่าทีว่า “ไม่ร่วมกับสองลุง” แต่จนถึงเวลานี้อาจช้าไปหรือเปล่า

หันมาอีกฟาก คือฝั่ง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เมื่อบีบให้ “เหลือสองขั้ว” มันก็ต้องเลือกในกลุ่มในพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่มีพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์เป็นหลัก เมื่อต้องโหวตมันก็มีแนวโน้มเทมาทาง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อที่จะไปสู้กับอีกฝั่งได้สมน้ำสมเนื้อ และมั่นใจได้ ขณะที่ “ลุงป้อม” จากพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” อาจมองว่าเป็น “ภาพกลางๆ” ในช่วงแรกๆ แต่เมื่อแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน มันก็ส่งผลกระทบเข้าอย่างจัง เพราะเหมือนเจตนา “ข้ามขั้ว” ไม่ใช่ข้ามความขัดแย้ง นั่นคือพร้อมร่วมมือกับ “ฝ่ายทักษิณ” นั่นเอง ซึ่งฐานเดิมของแต่ละฝั่ง ทั้งเพื่อไทย และฝั่งตรงข้ามก็ไม่เอาด้วย

อย่างไรก็ดี ภาพของ “ลุงป้อม” และพรรคพลังประชารัฐ อาจแตกต่างไปจากพรรคภูมิใจไทยของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่แม้จะพยายามสร้างภาพ “กลางๆ” แต่ไม่ค่อยกระทบนัก อย่างน้อยพวกเขาก็มีฐานเสียงในภาคอีสาน ที่แผ่ขยายออกมาจาก แนว “อีสานใต้” จากกลุ่มชิดชอบ เมื่อภูมิใจไทยติบโตในภาคอีสานแน่นอนว่ามันก็ไปกัดกินเพื่อไทยเข้าไปอีก เรียกว่าเวลานี้เพื่อไทยโดนสองเด้ง จากทั้งพรรคก้าวไกลและภูมิใจไทย

อีกทั้งเมื่อพิจารณาให้ลึกลงไปอีกต่อเนื่องมาจากการรุกเข้ามาของก้าวไกล กับภูมิใจไทย มันก็ยิ่งทำให้เสียงในภาคอีสานมีการเปลี่ยนแปลง นั่นคือในหลายเขต ที่มีการขับเขี้ยวกันสองพรรคคือเพื่อไทยกับก้าวไกล มันกลายเป็นส่งผลดีกับภูมิใจไทย และพลังประชารัฐเหมือนกัน กลายเป็น “ตาอยู่” ในบางเขตที่มีคะแนนตามหลังไม่มาก อาจจะเข้าวินได้ง่ายขึ้น

ดังนั้นการเมืองแบบสองขั้วดังกล่าวแม้ว่าผลโพลจะออกมาในแบบสองพรรคหลักคือเพื่อไทยกับก้าวไกลแย่งกันเป็นที่หนึ่งกับสอง แต่นั่นส่วนใหญ่จะเป็นกระแสตามโซเชียล และนั่นก็เป็นการแย่งกันในฝั่งของตัวเอง แต่สำหรับอีกฝั่งยังเชื่อว่ายังต้องเทมาทาง “ลุงตู่” และพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มคน “สูงวัย” ที่บางคนบอกว่าเป็น “พลังเงียบ” ก็มีอยู่ไม่น้อยจะเทมาให้มากกว่าจะไปพรรคอื่น หรือข้ามไปอีกฟาก โดยเฉพาะให้จับตา “คะแนนพรรค” ที่มั่นใจกันว่าจะได้ไม่น้อยกว่าการเลือกตั้งปี 62 ที่พรรคพลังประชารัฐเคยได้ และที่สำคัญยังเป็นการตัดสินความอยู่รอดของทั้งสองฝั่งอีกด้วย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น