xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน รอแลนด์สไลด์รอบ 2 !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ - ทักษิณ  ชินวัตร
เมืองไทย 360 องศา

แม้ว่าในเวลานี้ พรรคก้าวไกลกำลังรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค รวมแล้วจำนวน 314 เสียง เกินรัฐบาลผสมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ที่กำหนดเอาไว้ 251 เสียงไปไกลแล้ว แต่ในความเป็นจริงก็ต้องได้เสียงรวมกัน 376 เสียงขึ้นไป สำหรับขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งก็ต้องพึ่งเสียงของ ส.ว.ในส่วนที่เหลือ เพื่อให้ครบจำนวนดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ปัญหาขวากหนามอันสำคัญที่สุดในเวลานี้ นอกเหนือจากเรื่องด่าน ส.ว.แล้ว ยังมาจาก “ปม 112” ของพรรคก้าวไกลเองที่ประกาศเอาไว้เป็นสัญญาประชาคมกับบรรดาแฟนคลับ หรือ “ติ่งส้ม” ทั้งหลายก่อนหน้านี้ ทั้งที่หากลดท่าทีลงมา เชื่อว่าทุกอย่างก็จะผ่านได้สะดวก

แต่เวลานี้สิ่งพรรคก้าวไกลทำได้ก็คือ “อ้ำอึ้ง” ไม่พูดให้เคลียร์ โดยในเวลานี้หากจับอาการล่าสุด ก็คือ ไม่มีการกล่าวถึงใน เอ็มโอยู ไม่มีในนโยบายของรัฐบาล แต่อาจใช้วิธีการเสนอร่างกฎหมายโดยพรรคก้าวไกล เข้าสู่สภา แต่โอกาสผ่านนั้นยากมาก เพราะแทบทุกพรรคไม่เอาด้วย แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นการตอบคำถามว่า ได้ทำเต็มที่แล้ว ไม่ได้ผิดคำสัญญากับมวลชน

นั่นคือ ว่ากันไปตามเกมการเมือง ที่เชื่อว่า พรรคก้าวไกลผ่านยาก และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ว่าที่นายกรัฐมนตรีอาจจะตกเก้าอี้ในที่สุด ด้วยเงื่อนไขจาก มาตรา 112 หากยังไม่ประกาศชัดเจนว่าจะยอมถอย ไม่แตะต้องมาตราดังกล่าว

นอกเหนือจากนี้ ที่ยังต้องจับตา ก็คือ ปัญหาจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง นั่นคือ พรรคเพื่อไทย ที่ต้องยอมรับกันแล้วว่าในเวลานี้และลากยาวไปถึงการเลือกตั้งคราวหน้า ทั้งสองพรรค คือ เพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล จะกลายเป็น “คู่แข่ง” กันอย่างชัดเจน เข้าลักษณะ “มีมึงไม่มีกู” อะไรประมาณนั้นเลยทีเดียว เพราะมันทับเส้นทางกัน

ดังนั้น แม้ว่าจะสามารถตั้งรัฐบาลร่วมกันได้ก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไปเชื่อว่า จะต้องหักเหลี่ยมเฉือนคมกันไปตลอด หรือหากตั้งรัฐบาลไม่ได้จน “ล่มปากอ่าว” ไปก่อน โดยที่พรรคเพื่อไทย “ฉีกขั้ว” ออกไปร่วมกับพรรคอื่น ตามที่มีการคาดการณ์กันไปว่าจะมี พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา รวมไปถึงพรรคประชาชาติ เพื่อไทยรวมพลัง ที่เมื่อพิจารณาจากแบ็กกราวนด์สองพรรคหลังนี้ ล้วนเป็นเครือข่ายเดียวกันกับพรรคเพื่อไทยนั่นเอง

สิ่งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลใหม่ “แท้ง” ไม่ได้เกิดก็คือ มาตรา 112 ที่นอกเหนือจาก ส.ว.จะไม่โหวตให้แล้ว ยังมีท่าทีจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่ผู้สนับสนุนคนสำคัญอย่าง นายทักษิณ ชินวัตร เพิ่งยืนยันว่า เขาและครอบครัวมีความจงรักภักดี และไม่สนับสนุนให้มีการแก้ไข และนี่คือ อุปสรรคสำคัญเป็นด่านแรกที่ยากจะฝ่าไป และนี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ไม่ปรากฏเรื่องดังกล่าวในเอ็มโอยู ของการจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่าพรรคก้าวไกล อาจจะใช้วิธีที่แพลมออกว่า เป็นการเสนอในนามพรรคเข้าสภา ไม่ใช่ในนามรัฐบาล แต่ความหมายก็คือ “ไม่ผ่าน” แต่เพื่อเอาใจแฟนคลับที่ทำเต็มที่แล้วอะไรประมาณนั้น

“การเคารพสถาบัน เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ยังไงเนี่ยจุดยืนของพรรคเพื่อไทย และครอบครัวชินวัตร คือ เราเคารพรักสถาบัน ใครจะว่าอย่างไง ผมช่วยไม่ได้ ผมเป็นของผมอย่างนี้ และยินดีต้อนรับว่า คนจะวิจารณ์ว่า เพราะผมไม่ได้สู้เพื่อไปทำอะไรไม่ดีกับสถาบัน ไม่มี ผมสู้เพื่อเอาชนะทางการเมืองเท่านั้นเอง สถาบันนี่ ผมถือว่าผมจงรักภักดี ครอบครัวผมเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว”

รู้มั้ยว่าผมกับคุณหญิงนี่ สมรสพระราชทานนะครับ ผมอาจจะไม่ได้มีพิธีเหมือนสมัยนี้ แต่พิธีของผม คือ สมรสพระราชทาน ฉะนั้น เรื่องความสำนึกอะไรพวกนี้ มันมีอยู่ นะครับมันมีอยู่ จะให้ผมไม่มีมันเป็นไปไม่ได้เลย นะครับ

“แน่นอน สมติว่า พรรคเพื่อไทย ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล สิ่งไหนที่พรรคก้าวไกลจะทำ ซึ่งคิดว่าไม่ทำนะ ทำในสิ่งที่กระทบกระเทือนสถาบันพระมหากษัตริย์ เราก็คงไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา เราไม่ใช่ขวาจัดตกขอบ ไม่ใช่ แต่เราเป็นคนไทย เราเคารพสถาบันพระมหากษัตริย์ เท่านั้นเอง ชัดเจน ไม่มีบิดพลิ้ว”

คำพูดบางช่วงบางตอนของ นายทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับสถาบัน ที่เขาย้ำล่าสุดอย่างชัดเจน เป็นการส่งสัญญาณไปถึงพรรคก้าวไกลโดยตรง และยังพูดในเชิงหลักการสำหรับพรรคที่ได้เสียงอันดับสองมีสิทธิ์ที่จะชัดตั้งรัฐบาลในลำดับถัดไปอีกด้วย

นั่นเป็นการมองถึงปัญหา และอุปสรรคของพรรคก้าวไกลที่มาจากเงื่อนไขที่กำหนดเรื่อง มาตรา 112 ที่เป็นปัญหาทำให้เกิด “เดดล็อก” ตัวเอง

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาอีกมุมหนึ่งอาจเป็นความต้องการจากพรรคก้าวไกลเอง ที่ยังไม่ต้องการเป็นรัฐบาลในตอนนี้ แต่มีเจตนาสร้างเงื่อนไข “ปลุกเร้า” มวลชนไปเรื่อยๆ ทำให้เหมือน “ถูกกระทำ” จนต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน โดยปล่อยให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลไปก่อน ขณะที่ตัวเองเป็นฝ่ายค้าน เพื่อรอโอกาส “แลนด์สไลด์” ครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป เพราะหากเป็นรัฐบาลเที่ยวนี้ อาจเกิดความล้มเหลวจนทำให้ทุกอย่างพังทลายเสียก่อน เพราะนอกจากจุดยืนสุดโต่งแล้ว นโยบายบางนโยบายอาจไม่อาจเดินหน้าได้เต็มกำลัง เพราะเป็นรัฐบาลผสมที่พรรคเพื่อไทย “ขี่คอ” อยู่ตลอดเวลา

ประกอบกับในพรรคก้าวไกลเอง หากมองในกันในเชิงลึก ก็ต้องยอมรับความจริงว่า มีทั้งประเภท “ผู้นำพรรค” คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับคนที่มีความพยายามเป็น “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” อย่าง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นต้น ถามว่า นายธนาธร เป็นคนลงทุนสร้างพรรคขึ้นมา แต่ นายพิธา ส้มหล่นมาเป็นหัวหน้าพรรค และกำลังจะได้ขึ้นเป็นนายกฯ ขณะที่ตัวเองต้องถูก “ตัดสิทธิ 10 ปี” ขณะที่ นายพิธา นาทีนี้กลายเป็น “ไอดอล” แซงหน้า “ธนาธร-ปิยบุตร” ไปไกลแล้ว ลองหลับตานึกภาพก็แล้วกัน และที่ผ่านมา ก็เริ่มปรากฏให้เห็นมาแล้วจากการ “ปีนเกลียว” อย่างรุนแรงระหว่าง นายพิธา กับ นายปิยบุตร

ดังนั้น เมื่อมองรอบด้านแล้ว พรรคก้าวไกลรออดเปรี้ยวไว้กินหวาน รอ “แลนด์สไลด์” ชุดใหญ่ในการเลือกตั้งสมัยหน้า โดยกลับไปเป็นฝ่ายค้าน เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรม รอวันกลับมาแบบถล่มทลายที่วาดฝันตั้งรัฐบาลพรรคเดียวก็เป็นไปได้ ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถึงตอนนั้นก็อาจได้รับการนิรโทษกรรมคืนสิทธิการเมืองได้กลับมา หากไม่แตกหักกันเองเสียก่อน มันก็เป็นไปได้เหมือนกัน !!



กำลังโหลดความคิดเห็น