xs
xsm
sm
md
lg

“โทนี่” ว่าไง ก้าวไกล เขี่ย พท. ลั่น “สู้กับลุง”!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทักษิณ ชินวัตร - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เมืองไทย 360 องศา


นาทีนี้ก็ต้องถือว่ามีความชัดเจนในทางการเมือง ไม่ต้องอ้อมค้อมกันอีกต่อไปแล้ว นั่นคือ ความเป็น “คู่แข่ง” กันโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมา หลายคนก็มองอยู่แล้ว เพียงแต่ต่างฝ่ายต่างพยายามเก็บอาการเอาไว้ อาจมีเล็ดรอดออกมาให้เห็นข้างนอกบ้าง ก็พอช่วยกันกลบเกลื่อนออกไปได้ อีกทั้งในตอนแรกยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องแข่งขันแย่งชิงกันแบบเข้มข้น ด้วยไทม์มิ่ง และจังหวะเวลายังมาไม่ถึงจุดสำคัญ ที่ต้องถล่มแบบให้พังกันไปข้างหนึ่งนั่นเอง


แต่มาถึงวันนี้มันเหมือนกับว่าทั้งคู่ไม่อาจอดทนอดกลั้นได้อีกต่อไปแล้ว เพราะทั้งคู่เดินมาถึง “ทางแคบ” ที่ต่างฝ่ายจะต้องเดินฝ่าไปข้างหน้า มันก็ต้องเขี่ยอีกฝ่ายให้พ้นทาง

กล่าวให้กระชับแบบเห็นภาพที่หลายคนอาจมองออกมาตั้งนานแล้วว่า ในที่สุดแล้วทั้งสองพรรคนี้จะต้องฟาดฟันกันเอง เนื่องจากมีฐานเดียวกัน ประกอบกับบรรยากาศเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อน ภาพจำต่างๆ ในอดีตก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

หากความเชื่อเรื่องการเมืองแบบ “สองขั้ว” แน่นอนว่า ขั้วหนึ่งก็ต้องมี พรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ที่ภาพปรากฏว่าอยู่ภายใต้การนำของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นพรรคหลักอยู่ในกลุ่มนี้ ขณะที่อีกขั้วหนึ่ง ก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่มี พรรครวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ เป็นต้น แม้ว่าทั้งสองกลุ่มอาจมีรายละเอียดตามมาบางอย่างก็ตาม แต่ก็พอแบ่งแยกได้กว้างๆ แบบนี้

แน่นอนว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล อยู่ในฟากเดียวกัน มีฐานเสียงกลุ่มเดียวกัน ตามความเชื่อที่ว่า “ไม่มีทางโหวตข้ามฟาก” อย่างแน่นอน ดังนั้น เมื่อพรรคหนึ่งโตอีกพรรคหนึ่งก็ต้องลดลง ซึ่งนาทีนี้สภาพการณ์ก็เป็นพรรคก้าวไกลที่กำลังโต ขณะที่เพื่อไทยกำลังหดตัวนั่นเอง ซึ่งหากเชื่อจากผลโพล รวมถึงพิจารณาจากบรรยากาศ และความเคลื่อนไหวก็ย่อมเป็นอย่างที่ว่านั่นแหละ

อย่างที่รับรู้กันดีว่า การขยายตัวของพรรคก้าวไกล จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ล้วนได้อานิสงส์มาจากพรรคเพื่อไทยที่พลาดมาจากพรรคไทยรักษาชาติ ที่ถูกยุบไปจากแผนการ “แตกแบงก์พัน” ที่ล้มเหลว เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 มีการเทเสียงให้กับพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น และต่อมาพรรคเพื่อไทย ก็ยังมาโหวตหนุน นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในขณะนั้น เป็นนายกรัฐมนตรีเสียอีก แทนที่จะสนับสนุนแคนดิเดตของตัวเอง ที่มีอยู่สามคน เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายชัยเกษม นิติสิริ

แม้ว่าจะพอเข้าใจได้ว่า นี่คือ เกมการเมือง เป็นการสร้างแนวร่วมไว้ล่วงหน้า อีกทั้งคงรับรู้อยู่แล้วว่าถึงอย่างไรโหวตไปก็คงแพ้อีกฝ่ายที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถึงอย่างไรคิดว่าเป็นสร้างพันธมิตรเอาไว้ รวมไปถึงยังมองออกว่า นายธนาธร กำลังอยู่ในความเสี่ยงเรื่องการยุบพรรค ถูกตัดสิทธิการเมือง ก็เป็นไปได้สูง งานนี้อาจมองเป็นการซื้อใจกันไว้ อีกทั้งเพื่อเอาใจฐานเสียงของตัวเองบางส่วน ที่ต้องเทไปให้อดีตพรรคอนาคตใหม่ นั่นแหละ

อย่างไรก็ดี เมื่อรู้กันว่า ทั้งสองพรรคล้วนมีฐานเดียวกัน ไม่มีทางโหวตข้ามฟาก ดังนั้น เมื่อถึงเวลาต่างฝ่ายก็ต้องเอาตัวรอด และไปให้ถึงเป้าหมายของตัวเอง สำหรับพรรคเพื่อไทย ที่มีคนสนับสนุนคนสำคัญอย่าง “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร ที่มีเป้าหมายสำคัญที่สุดเพื่อให้ได้กลับเข้ามาเป็นรัฐบาลหลังจากห่างหายไปพักใหญ่ อย่างน้อยก็ช่วงสี่ปีหลัง หรือก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ยุค คสช.ซึ่งกินเวลาไม่น้อยกว่า 8-9 ปีเลยทีเดียว

แต่คราวนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว นายทักษิณ ชินวัตร ที่อาจเคยยิ่งใหญ่เมื่อยี่สิบปีก่อน ตั้งแต่ยุคสมัยพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี 2544 เรื่อยมา แต่หลังจากยุคคสช. เขาก็กระเด็นจากอำนาจอย่างชัดเจน อำนาจกลับมาอยู่ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมไปถึง “กลุ่มสาม ป.” ทำให้เครือข่ายทุกอย่างเท่าทีเคยมีเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเด็กๆ รุ่นใหม่ ที่ไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์ในอดีต ไม่เคยรับรู้กับบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร ขณะที่ฐานเสียงเดิมที่เรียกว่า “คนเสื้อแดง” เวลานี้ก็แตกฉานซ่านเซ็นไปคนละทิศละทาง บางกลุ่มก็ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่งแล้ว ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 62

ดังนั้น เมื่อการเลือกตั้งคราวนี้หากเป้าหมายของ พรรคเพื่อไทย และ นายทักษิณ ชินวัตร ต้องการกลับมาเป็นรัฐบาล และต้องการเรียกมวลชนที่เคยแตกออกไปกลับมา โดยเฉพาะมวลชนที่เคยเทมาให้อดีตพรรคอนาคตใหม่ หรือ ก้าวไกล ในปัจจุบันกลับมา กับเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” แต่การจะถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ มันก็ย่อมส่งผลกระทบกับก้าวไกลที่มีฐานเสียงเดียวกัน และรับรู้แล้วว่า ต้องเป็น “คู่แข่ง” กัน

การเร่งเร้าให้ “เลือกให้ขาด” มันก็ยิ่งกระทบอีกพรรคอย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ดี เกิดความผิดพลาด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมั่นใจในมวลชนว่าต้องกลับมา แต่ด้วยความ “คลุมเครือ” ในเรื่อง “ดีลกับลุง” ทำให้มวลชนคนเสื้อแดงบางส่วนหันหลังให้ ประกอบกับพวกมวลชน “สามนิ้ว” ที่เป็นเด็กๆ รุ่นใหม่ ที่อยู่กับก้าวไกลในเรื่อง มาตรา 112 ก็เทมาทางนี้ จนเติบใหญ่ และในที่สุดก็ต้องเผชิญหน้ากันเองอย่างชัดเจน แบบ “ผีไม่เผา เงาไม่เหยียบ” แม้ว่าภายนอกอาจดูเหมือนกับการรักษาน้ำใจกันไว้ก็ตาม

แต่จากการทวีตข้อความล่าสุดของ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แกนนำพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ความมั่นใจของพรรคก้าวไกล ว่าอยู่ “เหนือกว่า” พรรคเพื่อไทยแล้ว ถึงขนาดมองข้าม ไม่อยู่ในเกมแล้ว กลายเป็นว่าสิ่งที่เขากล่าวถึงก็คือ “คู่ต่อสู้” ระหว่าง “ก้าวไกลกับลุง” เท่านั้น

ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ ของนายวิโรจน์ ตอกย้ำว่า โค้งสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นการระดมนักร้องมารุม พิธา หรือการทำคลิปไข่พะโล้ มาสวนพรรคก้าวไกล สะท้อนว่า ฝ่ายลุงมองว่าพรรคก้าวไกล เป็นคู่ปรับตัวฉกาจไปแล้ว

ยกสุดท้าย เหมือนเหลือดวลกันตัวต่อตัวระหว่าง ก้าวไกล VS ลุง มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง

แม้ว่าไม่ได้กล่าวถึงพรรคเพื่อไทย แต่ความหมายอีกด้านหนึ่ง ก็คือ พรรคเพื่อไทยไม่ใช่คู่ต่อสู้ กลายเป็นว่า “มองข้าม” หรือเขี่ยออกไปแล้ว และกลายเป็นผู้นำขั้วหลัก ที่กำลังต่อกรกับ “ลุง” ซึ่งในที่นี้ย่อมหมายถึง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ นั่นเอง !!



กำลังโหลดความคิดเห็น