xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ได้ดั่งใจ! “ปิยบุตร” ฟาดแรง MOU ฉบับ “กินปูนร้อนท้อง-วัวสันหลังหวะ” “อ.ไชยันต์” มีรัฐธรรมนูญ ต้องมีสถาบันฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ เปิด MOU ร่วมรัฐบาลก้าวไกล ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จาก เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
“ปิยบุตร” ฟาดแรง MOU ฉบับ “กินปูนร้อนท้อง-วัวสันหลังหวะ” ชี้ เพิ่มข้อความปกป้องสถาบันฯ เงื่อนรัดคอ แก้ ม.112 และไม่นิรโทษกรรมคดีการเมือง เสียมวลชน “อ.ไชยันต์” ลั่น ระบอบ “ปชต.ไทย” มีรัฐธรรมนูญ ต้องมีสถาบันฯ

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (22 พ.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า
“[สองประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยกับ MOU การร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล]

ผมขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกล ที่สามารถเจรจาการจัดตั้งรัฐบาลคืบหน้าไปอีกขั้นตอน และสนับสนุน เอาใจช่วยให้ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จภายใต้การนำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ผมได้อ่าน MOU การร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลแล้ว ผมไม่เห็นด้วยในสองประเด็น ซึ่งแตกต่างไปจากเนื้อหาที่ปรากฏในร่าง MOU สุดท้ายที่หลุดออกมาทางสื่อ

ภาพ ปิยบุตร แสงกนกกุล จากแฟ้ม
ประเด็นแรก
การเพิ่มข้อความที่ว่า “ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”

เหตุผล
ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้วว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และรูปแบบของรัฐได้

การบัญญัติข้อความนี้ซ้ำลงไป ไม่ส่งผลใดๆ ในทางกฎหมายและในทางการเมือง เพราะอย่างไรเสีย รัฐบาลใดที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและระบอบการปกครองได้อยู่แล้ว พวกที่ทำแบบนี้ได้ คือ พวกก่อการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ตรงกันข้าม การเขียนลงไปแบบนี้ คือ การแสดงออกแบบ “กินปูนร้อนท้อง” หรือ “วัวสันหลังหวะ” เสียมากกว่า

นอกจากนั้น การเพิ่มถ้อยคำที่ว่า “สถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขององค์พระมหากษัตริย์” ก็อาจเป็น “บ่วงรัดคอ” ที่ทำให้พรรคก้าวไกลต้องประสบปัญหาในการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ในอนาคต

ตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี ผมแสดงความเห็นทางวิชาการไว้หลายครั้งเกี่ยวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแบบมาตรา 6 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” โดยเฉพาะประเด็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบทบัญญัตินี้ การเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญต่างประเทศ แนวทางการตีความของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่ตีความกว้างขวางออกไปเกินความเป็นจริงจากเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้ และเห็นว่า ควรปรับแก้บทบัญญัตินี้เสียใหม่ ให้สอดคล้องกับหลัก “พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจทางการเมือง การบริหาร โดยแท้ แต่เป็นรัฐมนตรีผู้มีอำนาจและต้องรับผิด” แต่นั่นเป็นความเห็นส่วนตัวของผม ส่วนพรรคก้าวไกลจะคิดอ่านแก้ไขเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของพวกเขา (ซึ่งผมคิดว่าพวกเขาคงไม่แตะ)

ผมเห็นว่า การเพิ่มถ้อยคำนี้ลงไปใน MOU อาจจะไป “รัดคอ” พรรคก้าวไกลในภายหลังได้ เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ตามที่เคยเสนอไป และตามที่เคยแถลงเป็นนโยบาย) ก็อาจจะถูก ส.ส. ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ นำมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญมาผสมผสานกับข้อความใน MOU ดังกล่าว มาขยายความตีความแบบพิสดาร เพื่อมัดไม่ให้พรรคก้าวไกลได้ใช้กลไกสภาแก้ไขมาตรา 112 ได้

ต้องไม่ลืมว่า ในส่วนแนวทางปฏิบัติ ข้อที่ 5 ใน MOU นี้ เปิดทางให้ ส.ส.ของแต่ละพรรคทำเรื่องอื่นๆได้ผ่านการตรากฎหมายในสภา แต่ “ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงนี้”

ประเด็นที่สอง
การตัดเรื่องการผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง ผ่านกลไกรัฐสภา ออกไป

เหตุผล
พรรคก้าวไกลมีพันธกิจสำคัญที่รับมาจากความคาดหวังของประชาชน เยาวชน จำนวนมาก ในการยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่พัวพันกันมาตั้งแต่รัฐประหารปี 49 ผ่านเหตุการณ์ปี 53 ผ่านรัฐประหาร 57 และการชุมนุมของ “ราษฎร” ในปี 63-65

การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ ต้องใช้กลไกการนิรโทษกรรม ให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองเสียก่อน

กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน พวกเขาเพียงแต่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน เห็นไม่ตรงกันเท่านั้น

แน่นอน การทำเรื่องเหล่านี้ได้สำเร็จ สุดท้ายต้องไปจบที่สภา เพราะต้องตราเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม แต่มันจะผ่านได้ ก็ต้องมีเสียงข้างมากในสภาสนับสนุน ดังนั้น ถ้าทุกพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล 313 เสียง เห็นตรงกันตั้งแต่วันนี้ ก็เป็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” ให้ประชาชนคนธรรมดาทุกกลุ่ม ทุกฝักฝ่าย ที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง แสดงออกทางการเมือง”

ภาพ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“มีผู้สอบถามผมเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 โดยเชื่อมโยงกับพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 วันที่ 4 ธันวาคม 2548 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการวิจารณ์พระมหากษัตริย์

ผมมีความเห็นดังนี้ครับ

“เท่าที่ผมเข้าใจนะครับ คือ ท่านบอกว่า แม้ the king can do no wrong และท่านก็พยายามที่จะไม่ให้ wrong แต่ก็ย่อมเป็นไปได้ที่จะผิดพลาด ถ้าผิดพลาด ก็บอก ก็วิจารณ์กันดีๆ ถ้าวิจารณ์กันดีๆ แต่ไปใช้มาตรา 112 กับคนที่วิจารณ์กันดีๆ ท่านก็เดือดร้อน”

และผู้ที่ถามได้ตอบผมกลับมาว่า

“ใช่ครับ ตามนั้น ผมเข้าใจว่าท่านมีเพื่อนเป็นกษัตริย์ต่างประเทศหลายพระองค์ ก็คงเห็นว่า ที่อื่นไม่ได้จับคนเข้าคุกแบบเรา เช่น อังกฤษ ญี่ปุ่น ท่านเลยตรัสบอกว่า นัยๆ ว่า เปิดให้วิจารณ์ได้ครับ อย่าเอาคนเข้าคุกเลย (จริงๆก็สอดคล้องกับการแก้112นะคับ)”

ผมได้ให้ความเห็นกลับไปว่า

“ท่านน่าจะเปิดให้วิจารณ์ได้ครับ แต่คงไม่ได้เปิดให้ด่าทอ ใส่ร้าย ถึงแม้ตัวท่าน โดยส่วนตัวอาจจะทนได้ รับได้ แต่นั้นคือ ตัวท่านในฐานะ กษัตริย์ (king) แต่ในฐานะสถาบัน (crown or monarch) ท่านก็ต้องมีหน้าที่รักษา ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ด้วยครับ เพราะสถาบันไม่ใช่ตัวบุคคล และเป็นส่วนสำคัญของระบอบการปกครอง ในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

มีรัฐธรรมนูญ ก็ต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ต้องมีรัฐธรรมนูญ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ไม่สามารถเป็น ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ได้ครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น