เมืองไทย 360 องศา
เริ่มเห็นแนวโน้มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า ในที่สุดการเมืองก็จะแบ่งเป็น “สองขั้ว” เหมือนเดิม ระหว่างกลุ่มที่ “เอาบิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ “เอาทักษิณ” นายทักษิณ ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย
โดยแบ่งเป็นพรรคการเมืองคร่าวๆ คือ กลุ่มพรรคฝ่ายค้านเดิม ที่มี พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย และประชาชาติ เป็นต้น กับอีกฝ่ายที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน คือ พรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา โดยรวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เพิ่งแยกออกมา
ที่ต้องย้ำให้เห็นถึงแนวโน้มการเมืองกลับมาแบ่งเป็นสองขั้วแบบชัดเจนอีกรอบ ก็น่าจะเริ่มมาจากที่ “โทนี่” นายทักษิณ ชินวัตร ออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายสนับสนุน หรือกลุ่มมวลชนให้ “เลือกแบบมียุทธศาสตร์” ความหมายก็คือ ให้ตัดสินใจเลือกพรรคเพื่อไทยให้ชนะขาด ซึ่งล่าสุด ก็ได้เปลี่ยนเป้าหมายใหม่จากเดิม แลนด์สไลด์ 251 ที่นั่ง มาเป็น 310 ที่นั่ง ซึ่งหากพิจารณาจากเป้าหมายดังกล่าว มันก็เหมือนกับการ “บีบให้การเมืองกลับมาสองขั้ว” โดยปริยาย นั่นคือ “เอา” กับ “ไม่เอา” ทักษิณ
ขณะเดียวกัน ด้วยจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ที่วาดฝันแบบที่ว่ามันก็จะทำให้พรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกันเสี่ยงสูญพันธุ์กันเลยทีเดียว ซึ่งก็เหมือนกับ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. วิเคราะห์เอาไว้ว่า ตามธรรมชาติแล้วจะ “ไม่มีการโหวตข้ามฟาก” นั่นคือ หากโหวตให้พรรคเพื่อไทยแล้ว มันก็ทำให้พรรคอื่นไม่ได้รับเสียงโหวต
ส่วนอีกขั้วหนึ่ง หากโหวตแบบยุทธศาสตร์ที่ว่า ก็ต้องหันมาโหวตให้กับฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งหากพิจารณากันตามความเป็นจริงแล้ว มันก็มีแนวโน้มที่จะโหวตให้กับพรรคการเมืองไม่กี่พรรคเท่านั้น เช่น พรรคภูมิใจไทย ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พรรคพลังประชารัฐ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทีนี้หากมาโฟกัสถึงความเป็นไปได้ใน 3 คนดังกล่าว ระหว่าง นายอนุทิน พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะมีการโหวตให้ใคร และพรรคการเมืองใดมากกว่ากัน แม้ว่านาทีนี้ยังไม่อาจฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะโหวตให้ใครมากกว่ากัน เพราะการรณรงค์หาเสียงอย่างเป็นทางการยังไม่เริ่มต้น
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากแบ็กกราวนด์แล้ว หรือย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ตอนนั้นมีการสนับสนุนให้ “บิ๊กตู่” เป็นนายกรัฐมนตรี กับอีกฝ่ายสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ในตอนนั้นได้เกิดปรากฏการณ์หลังจากที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ปล่อยคลิป ย้ำชัดๆ ว่า “ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์” ซึ่งก็ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงนั่นคือ ทำให้พ่ายแพ้การเลือกตั้งมีผลอย่างมีนัยสำคัญ เช่น สูญพันธุ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นครั้งแรก รวมทั้งพื้นที่ภาคใต้ ที่เคยเป็นฐานการเมืองสำคัญมาตลอด ก็พ่ายแพ้ให้กับพรรคพลังประชารัฐ ที่สนับสนุน “บิ๊กตู่” ในเวลานั้น กับพรรคภูมิใจไทย
ขณะเดียวกัน เมื่อวกกลับมาพิจารณาถึงการโหวตแบบ “ยุทธศาสตร์” มันก็คือ การบีบการเมืองให้เหลือ “สองขั้ว” นั่นคือ ฝ่ายหนึ่งให้เลือกพรรคเพื่อไทย แต่สำหรับอีกฝ่ายหนึ่งในการเลือกตั้งปี 2566 อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อการเลือกตั้งคราวที่แล้ว เพราะมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น อย่างน้อยในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ที่ประกาศความพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ
อย่างไรก็ดี หากแนวโน้มการเมืองแบ่งเป็น “สองขั้ว” แล้วสิ่งที่ต้องจับตา ก็คือ “เอาทักษิณ (เพื่อไทย)” กับฝ่าย “ไม่เอาทักษิณ” คำถามก็คือ ฝ่ายที่ “ไม่เอาทักษิณ” แล้วจะ “เอาใคร” คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุด ก็คือ “เอาประยุทธ์” เพื่อมาขัดขวาง พรรคเพื่อไทย และ นายทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ
แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างเมื่อถึงตอนนั้นมันก็ขึ้นอยู่กับว่า “กระแสแบ่งข้าง” จะแรงแค่ไหน หากแรงพอมันก็จะส่งผลในทางบวก เพิ่มจำนวน ส.ส.ให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ แต่หาก “ไม่แรง”พอ ก็จะกระจายไปตามพรรคร่วมรัฐบาลตามที่แต่ละพรรคมีฐานเสียงหนักแน่นในแต่ละพื้นที่ ซึ่งลักษณะแบบนี้ยังรวมถึงกระแส “เอาทักษิณ” ด้วย เพราะหากไม่แรงพอ มันก็จะทำให้การโหวตพรรคเพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์แน่นอน
หากพิจารณาจากการเรียกร้องให้โหวตแบบ “ยุทธศาสตร์” ของ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ส่วนสำคัญมีความเป็นไปได้หรือไม่ ว่า มาจากความไม่มั่นใจแล้วว่าเป้าหมายแบบ “แลนด์สไลด์” เริ่มเป็นไปไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้เห็นถึงความหนักแน่นของฐานเสียงของพรรคก้าวไกล ที่แม้ไม่อาจเอาชนะพวกเขาได้ แต่อย่างน้อยเชื่อว่ายังยึดกุมฐานเสียงบรรดาเด็กวัยรุ่นที่เป็น “คนรุ่นใหม่” ได้อย่างมั่นคง รวมไปถึง “คนเสื้อแดง” ที่เคยเป็นฐานเสียงเก่าให้หันกลับมาโหวตให้อีกครั้ง แต่ด้วยตัวเลขที่ตั้งเอาไว้ ไม่จะเป็น 251 หรือ 310 เสียง บรรดากูรูการเมือง ก็ยังมองว่ายังไม่พอสำหรับการตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะพรรคเดียวหรือผสมกับพรรคอื่นที่เป็นพรรคฝ่ายค้านเดิม เพราะยังมี ส.ว.อีก 250 เสียงเป็นอุปสรรคชิ้นโต
ขณะที่อีกด้านหนึ่งในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล หากพิจารณาถึงความเป็นไปได้แล้ว แม้ว่าตอนนี้ยังไม่อาจฟันธงได้ว่าพรรคไหนจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล ต้องมานับจำนนวน ส.ส.หลังการเลือกตั้งก่อน ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ที่ต้องแข่งขันเพื่อเข้าวิน แต่นาทีนี้ “เริ่มเหลื่อม” มาทาง “บิ๊กตู่” และพรรครวมไทยสร้างชาติ มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็ล้วนมาจากการที่ นายทักษิณ ชินวัตร “จัดให้” ด้วยการเรียกร้องให้โหวตแบบยุทธศาสตร์นั่นเอง !!