xs
xsm
sm
md
lg

'ภคอร' ยื่น ร่าง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า กันทุนใหญ่ผูกขาดธุรกิจ ลั่น ไทยศรีวิไลย์ สู้กับนายทุนทุกรูปแบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้(23 ก.พ.)นางสาวภคอร จันทรคณา  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์  กล่าวถึงการยื่นร่าง  (พ.ร.บ.) พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า  (ฉบับที่...) พ.ศ...  ต่อ นายชวน หลีกภัย  ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี น.พ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฏร เป็นผู้รับเรื่อง ว่า ถือเป็นการยื่นกฎหมายฉบับสุดท้าย ในวันสุดท้ายของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 เพื่อคาดหวังว่า สภาผู้แทนราษฎรชุดต่อไป จะได้ผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ที่ตนและเพื่อนสมาชิกเสนอนั้น เป็นกฎหมายเพื่อคุ้มครองการดำเนินธุรกิจของคนตัวเล็ก เอสเอ็มอี เพื่อไม่ให้ทุนใหญ่ครอบงำและเอาเปรียบได้
โดยเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากผู้ผลิต และเกิดการเอาเปรียบและผูกขาดจากผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเกิดการเสียเปรียบทางธุรกิจ เพราะฉะนั้นจึงมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โดยให้ธุรกิจนั้นห้ามผูกขาดทางการค้าเกินกว่า 30% ของตลาด ป้องกันการกำหนดราคากลางสินค้ากลางตลาด  ถ้าเกินต้องขายให้ประชาชนรายย่อย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับของเดิม พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าปี พ.ศ. 2542 ที่ให้การยกเว้นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐานหลักของประเทศอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับใช้กฎหมาย ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและทำลายบรรยากาศการค้าการลงทุน 

         นางสาวภคอร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ถึงแม้ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าฉบับเดิมเมื่อปี 2560 จะมีการพิจารณาในทุกพฤติกรรม จำนวนหุ้นหรือสิทธิในการออกเสียงตามหลักสากลแต่การตกลงร่วมกัน    ถือเป็นคนเดียวกันนั้นยังไม่มีความผิด มีอีกทั้งการรวมธุรกิจกรณีเป็นการรวมธุรกิจในเครือ ไม่ต้องขออนุญาตหรือแจ้งการรวมธุรกิจก็ได้ กับข้อเท็จจริงในทางธุรกิจ  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการเสนอ แก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า เพื่อให้กฎหมายการแข่งขันทางการค้ายังเป็นกฎหมายที่มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองผู้บริโภค โดยพยายามป้องกันผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ผลิต หรือข้อตกลงใดๆระหว่างผู้ผลิตที่จะให้มีการจำกัดการแข่งขัน และมุ่งประสงค์ที่จะรักษาเสริมสร้างสวัสดิภาพของผู้บริโภค เนื่องมาจากกฎหมายนี้จะกระตุ้นให้มีการแข่งขันระหว่างผู้ผลิต จึงทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกสินค้าจากแหล่งผลิตหลายๆราย รวมถึงยังเป็นกฎหมายที่มุ่งจะปกป้องบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ไม่ให้บริษัทขนาดใหญ่กลั่นแกล้งโดยการจำกัดให้บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางนั้นหมดจากตลาดการแข่งขัน อันจะก่อให้เกิดความยุติธรรมและเปิดโอกาสให้บริษัทเหล่านั้นสามารถที่จะต่อสู้กับบริษัทขนาดใหญ่ได้ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยมีสาระสำคัญ คือ
• ให้ยกเลิกมาตรา 51 ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (ร่างมาตรา3)
“มาตรา51 ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการรวมธุรกิจอันก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด เว้นแต่ถ้าเป็นกรณีการรวมธุรกิจต้องห้ามถือหุ้นเกินร้อยละสามสิบ ต้องมีผู้ประกอบธุรกิจอื่นที่อยู่ในโครงสร้างธุรกิจเข้ามาถือหุ้นด้วย
  ผู้ใดฝ่าฝืนตามวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
• ให้ยกเลิกความในมาตรา 81 ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน (ร่างมาตรา4)
“มาตรา 81 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 53 ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละศูนย์จุดห้าของมูลค่าธุรกรรมในการรวมธุรกิจ”
• ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา5)

   "   การยื่นกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นเรื่อง สำคัญมาก เพราะปัจจุบัน เจ้าสัวมีอิทธิพลเหนือรัฐบาล ทั้งสิทธิในการกู้เงินธนาคารเหนือประชาชน การครองตลาดเกือบทั้งหมด อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจค้าหมู-เป็ด-ไก่  ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจโทรศัพท์ ธุรกิจค้าปุ๋ย ธุรกิจน้ำประปา ทางด่วน อื่นๆ ซึ่งพรรคไทยศรีวิไลย์ จะสู้กับนายทุนทุกรูปแบบเพื่อประชาชนไทยทุกคน " น.ส.ภคอรกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น