xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” แจงเลื่อนอ่าน พ.ร.ฎ.ปิดประชุมรัฐสภา นัดคุยด่วนหลัง รบ.ให้ถก กม.อุ้มหาย คาด 27-28 ก.พ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.สภา แจงที่ประชุม เลื่อนอ่าน พ.ร.ฎ.ปิดประชุมรัฐสภา เร่งหารือ “ฝ่ายค้าน-รัฐบาล” นัดประชุมด่วนสัปดาห์หน้า หลังเพิ่งได้รับแจ้งจากรัฐบาล ให้ถก “กม.อุ้มหาย” คาด สะดวก 27-28 ก.พ.

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 4 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลา 18.20 น. ระหว่างที่สมาชิกกำลังอภิปรายเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆ พิจารณาเสร็จแล้ว นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะวิปฝ่ายค้าน ได้สอบถามถึงความชัดเจนว่าจะมีการประชุมสภา ในสัปดาห์หน้าหรือไม่

นายชวน หลีกภัย สภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม จึงชี้แจงว่า เมื่อประมาณเวลา 16.15 น. มีหนังสือมาจากสำนักนายกรัฐมนตรีส่งมายังสภา และมาถึงตนเมื่อประมาณ 18.00 น. เรื่อง พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ความว่า เรียน สภาผู้แทนราษฎร สิ่งที่ส่งมาด้วยพระราชกำหนดในเรื่องนี้ ด้วยได้มีประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 เป็นกฎหมายแล้ว ดังที่ได้ส่งมาพร้อมด้วยนี้ จึงขอเสนอพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว มาเพื่อขอให้สภาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป ลงชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

นายชวน ชี้แจงต่อว่า เมื่อหนังสือนี้ส่งมาวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ซึ่งสภาเราปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ดังนั้น เรายังมีเวลา 5 วัน ด้วยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 172 เมื่อเรารับเรื่องมา จึงจำเป็นต้องมีการประชุมสภา ถ้าอยู่นอกฤดูกาล รัฐบาลต้องดำเนินการให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ แต่เมื่อส่งเรื่องมาในวันนี้ (23 ก.พ.) จึงอยู่ในเวลาที่เราต้องรับผิดชอบ ตนจึงคิดว่าจะประสานงานกับทุกฝ่ายเพื่อดูวันที่เหมาะสม โดยคาดว่าจะจัดประชุมได้ในช่วงวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ แต่ถ้าเห็นเหมาะสมอย่างไร ตนจะเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ว่า ทุกฝ่ายจะพร้อมวันไหน ดังนั้น วันนี้จึงยังไม่จบและคงต้องเลื่อนการอ่านพระบรมราชโองการปิดสมัยประชุมไปก่อน แต่จะประสานพวกเราอีกครั้งหนึ่ง

“ถ้ารัฐบาลส่งมาอาทิตย์หน้า หรือต่อให้ส่งมาในวันจันทร์ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการส่งระเบียบวาระต้องส่งล่วงหน้า 3 วัน แต่เมื่อส่งมาแบบนี้ก็เหมือนกับโยนมาให้เราต้องรับแก้ปัญหา แต่เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเรา เราก็ทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ จนนาทีสุดท้าย” นายชวน กล่าว

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า หลังจากที่ นายชวน ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบ ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล หยิบยกเรื่องนี้มาหารือกันอย่างเคร่งเครียด เนื่องจากว่าการต้องนัดประชุมเพิ่มเติม โดยประธานสภาต้องนัดประชุมอย่างไม่ชักช้า ว่า สภาจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือไม่ จึงมีแนวทาง 3 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะประชุมกันในวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30 น. เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดนี้ ไปตามปกติของข้อบังคับการประชุมสภา หากสภาอนุมัติพระราชกำหนด ก็จะต้องส่งไปให้วุฒิสภาว่าจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติอีกครั้งหนึ่ง ถ้าอนุมัติพระราชกำหนดนี้ จะทำให้นายกฯ ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนกรณีไม่อนุมัติก็ให้มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายชินวรณ์ กล่าวว่า ยกเว้นจะต้องเป็นไปในแนวทางที่ 2 คือ ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาจะได้อนุมัติพระราชกำหนดใด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภามีสิทธิเข้าชื่อเสนอความเห็นต่อประธานที่ตัวเองเป็นสมาชิกว่าพระราชกำหนดนั้นไม่เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง คือ พระราชกำหนดนั้นไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินอันนี้ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อส่งให้ประธานส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็น เพื่อวินิจฉัยและให้รอการพิจารณาพระราชกำหนดนั้นไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คือ รอไป 60 วันตั้งแต่วันรับเรื่องจนถึงวันที่ศาลรัฐธรรมมนูญแจ้งไปยังประธาน ที่ส่งเรื่องนั้นมาให้ทราบว่าพระราชกำหนดนั้น เป็นไปตามมาตรา 172 วรรคหนึ่งหรือไม่ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนแนวทางที่ 3 คือ หากสภายังไม่เห็นพ้องต้องกัน จนมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม ถ้ามีความจำ เป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือสมาชิกสภา จำนวน 1 ใน 10 ของสามาชิกเท่าที่มีอยู่ สามารถเข้าชื่อเพื่อเสนอให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาพระราชกำหนดนี้ แต่ขณะนี้คาดว่าจะเป็นไปในแนวทางที่ 2 เพราะอยู่ในสมัยประชุม จึงสามารถนัดประชุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น