xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด ส.ว.คว่ำญัตติส่ง ครม.ทำประชามติแก้ รธน.หวั่นแตะความมั่นคง-สถาบัน รู้ทัน ส.ส.ใช้หาเสียง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วุฒิสภามีมติคว่ำญัตติส่ง ครม.ทำประชามติแก้ รธน. หลัง ส.ว.รุมค้าน “กิตติศักดิ์” ห่วงหากแตะหมวดความมั่นคง- สถาบัน ทำประเทศร้อนเป็นไฟ ก่อสงครามการเมือง “เสรี” หากเตือนเข้าทาง ส.ส.ใช้ ส.ว.เป็นเครื่องมือหาเสียง

วันนี้ (21 ก.พ.) ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบญัตติขอให้ส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมแล้ว

ทั้งนี้ ก่อนการพิจารณา นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาญัตติดังกล่าว ได้รายงานผลสรุปต่อที่ประชุม ซึ่งมีวาระสำคัญ คือ คัดค้านไม่ให้ส่งเรื่องต่อไปยัง ครม. เพราะการทำประชามติดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เนื่องจากเป็นคำถามที่ไม่ชัดเจนอีกทั้งทำให้ประชาชนไม่เกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ชัดเจน

นายสมชาย กล่าวว่า การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญตามข้อเสนอที่ให้ทำวันเดียวกับวันเลือกตั้งที่จะมาถึง กมธ.เห็นว่า มีความเป็นไปไม่ได้ เพราะกรอบการทำประชามติต้องดำเนินการภายในไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่การเลือกตั้งหากยุบสภาต้องเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน หรือครบวาระต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน อีกทั้งจากการรับฟังการชี้แจงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบว่า ต้องใช้งบประมาณ และเจ้าหน้าที่จำนวนมาก โดยในการเลือกตั้งที่จะมาถึงต้องมีหน่วยเลือกตั้ง 9 หมื่นหน่วย มีเจ้าหน้าที่หน่วยละ 9 คน ขณะที่การทำประชามติต้องมีเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการหน่วยละ 5 คน ขณะที่การทำประชามติต้องใช้งบประมาณมาก โดย กมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่าต้องทำประชามติ 3 รอบ รอบแรก คือ ถามว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรมนูญหรือไม่ หาเห็นด้วยต้องกลับมาแก้ไขตามกระบวนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีองค์กรแก้ไขเนื้อหา จากนั้นต้องกลับไปทำประชามติ อีกครั้ง และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญอีกครั้งต้องทำประชามติอีก

จากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้ ส.ว.ร่วมอภิปราย โดยมีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน อาทิ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. อภิปรายสนับสนุนต่อการจัดให้มีการออกเสียงประชามติทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะมองว่าหากผลประชามติเห็นด้วยจะเป็นช่วงที่ส.ว.ชุดปัจจุบันมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียง ส.ว.เห็นชอบด้วยจำนวน 1 ใน 3 ซึ่งสามารถยับยั้งได้ แต่หากปล่อยให้อำนาจ ส.ว.หมดไป รอให้มี ส.ว.ชุดใหม่ที่มาจากพรรคการเมือง ยิ่งแก้ไขง่ายกว่าปัจจุบัน และการกำหนดประเด็นคำถามสามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมได้

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. อภิปรายว่า หากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยากถามว่าสาระที่จะแก้ไข โดยเฉพาะหมวดหนึ่งว่าด้วยความมั่นคงของรัฐ และหมวดสองว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าแตะตรงนั้นประเทศไทยจะร้อนเป็นไฟ และอาจเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ถ้าไม่ผ่านญัตตินี้ ฝ่าย ส.ส.จะหยิบอ้างว่า ส.ว.ไม่เห็นเงาประชาชน อุตส่าห์ให้ประชาชนทำประชามติตัดสินใจจะร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แต่ ส.ว.กลับปิดทาง ซึ่ง ส.ส.จะนำไปกล่าวอ้างในการหาเสียงว่า  ส.ว.เอาพรรคนั้นไม่เอาพรรคนี้ ถามว่า เรารู้ทันหรือไม่การเมืองกำลังจะเอา ส.ว.เป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนเสียง นี่คือการเมือง จึงอยากให้ ส.ว.ค่อยๆ คิด นี่เป็นเพียงแค่ข้อเสนอจากทางสภาผู้แทนราษฎร จะทำได้หรือไม่อยู่ที่ ครม. ดังนั้น เห็นด้วยที่ควรจะรับเรื่องนี้ไว้แล้วให้ไปดำเนินการในชั้น ครม.ต่อไป ไม่มีเหตุผลที่จะไม่รับเรื่องนี้ ส.ว.แค่รับเรื่องเป็นสะพานทอดไปให้ ครม.พิจารณาต่อ เราจะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อให้ ส.ส.หยิบไปกล่าวอ้างได้

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ถ้าเราเห็นด้วยต่อญัตตินี้ มีแต่ได้กับได้ เพราะอาจทำให้ ส.ว.มีโอกาสมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะทำให้วุฒิสภามีภาพพจน์ที่ดี อย่างน้อยที่สุดมีประชาธิปไตยในบางจุด และการเห็นด้วยให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ไม่ทำให้ใครเสียหาย แต่ถ้าไม่เห็นด้วย ส.ว.จะเสียโอกาสสุดท้ายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเสียภาพพจน์ต่อวุฒิสภาอย่างยิ่ง เพียงแค่ข้อเสนอ ส.ว.แล้วยังปฏิเสธจะเป็นการเสริมภาพพจน์ที่คนภายนอกมองอยู่เดิม และเป็นการเติมใส่ไฟป้ายสีของพรรคการเมือง ดังนั้น ตนจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งและสนับสนุนให้รับข้อเสนอของสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง จากนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ให้สมาชิกลงมติ ปรากฏว่า ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบต่อญัตติ ด้วยคะแนน 157 เสียง ต่อ12 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ออกเสียง 1 เสียง โดยประธานวุฒิสภาจะได้แจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น