xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.โวย “ชวน” ไม่หารือประชุมนัดพิเศษ ชี้ลาแยะไป ตจว.มองฝ่ายค้านหวังหลอกด่าแก้ รธน.อีกยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตัวตึง ส.ว. พากันโวย ไม่พอใจ “ชวน” ติงทำไม่เหมาะ จัดประชุมนัดพิเศษ โดยไม่หารือก่อน อ้างส่วนใหญ่ติดภารกิจลงพื้นที่เยอะ “สมชาย” ย้ำ ลาประชุมมาก เพราะไป ตจว. มองเกมฝ่ายค้านแค่หลอกด่า กระบวนการแก้ รธน.ยังอีกยาว เสร็จไม่ทันอายุสภา

วันนี้ (8 ก.พ.) นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งใน ส.ว.ที่ลาประชุมในวันที่ 8 ก.พ.นี้ สาเหตุที่ ส.ว.ลาประชุมกันมากในวันที่ 8 ก.พ. เนื่องจาก ส.ว.ไม่พอใจการจัดประชุมร่วมรัฐสภานัดพิเศษ ที่ไม่ได้มีการหารือกับ ส.ว.ล่วงหน้า โดยนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ใช้อำนาจประธานรัฐสภา จัดระเบียบวาระประชุมนำเรื่องร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาแทนที่ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ แบบปัจจุบันทันด่วน โดยที่ ส.ว.ไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจ แม้เป็นอำนาจประธานรัฐสภา ที่สามารถทำได้ แต่ ส.ว.ส่วนใหญ่มองว่า นายชวน ทำไม่เหมาะสม จึงไม่ให้ความร่วมมือในการมาร่วมประชุม หรือลงมติใดๆ โดยเฉพาะเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญที่จะปิดสวิตช์ ส.ว.ที่เป็นประเด็นการหาเสียงของ ส.ส.ถูกนำมาแทนที่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ถือว่าไม่ถูกต้อง เรื่องกติกาการแก้รัฐธรรมนูญ ส.ว.จะทำอย่างไรก็โดนด่าอยู่ดี ดังนั้น ถ้าอยากด่าก็เชิญด่าได้

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภานัดพิเศษดังกล่าว นัดแบบเร่งด่วน ส.ว.เพิ่งทราบกันเมื่อ 1 สัปดาห์ แต่ ส.ว.หลายคนมีภารกิจล่วงหน้าหมดแล้ว ทั้งการลงพื้นที่ตามโครงการ ส.ว.พบประชาชนตามภาคต่างๆ และภารกิจของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ภารกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตรงกับวันพุธ พฤหัส และศุกร์ ถูกวางโปรแกรมล่วงหน้าไว้เป็นเดือนๆ ทำให้ส.ว.หลายคนต้องใช้วิธีลาประชุมรัฐสภานัดพิเศษ ส่วนที่มองว่า ส.ว.ไม่พอใจการแก้รัฐธรรมนูญที่เสนอการปิดสวิตช์ ส.ว. ทำให้ไม่มาร่วมประชุมนั้น ก็เป็นไปได้ อาจมี ส.ว.บางส่วนคิดเช่นนั้น จึงใช้วิธีไม่เข้าร่วมประชุม แต่ถึงแม้จะมีองค์ประชุมครบ ลงมติโหวตอย่างไรก็ไม่ผ่าน เพราะต้องมีเสียง ส.ว.รับหลักการ 1 ใน 3 หรือ 84คน ดูแล้วยังไงก็ไม่ผ่านอยู่ดี เรื่องแก้รัฐธรรมนูญพูดมาแล้วหลายครั้ง ก็ไม่ผ่าน ก็ยังเสนอกลับมาอีก เพียงเพราะต้องการหาช่องทางพูดในสภา เพราะใกล้ช่วงเลือกตั้ง ขณะนี้เป็นช่วงปลายสมัยรัฐบาล ย่อมมีเกมการเมืองเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษ อย่างการพิจารณากฎหมาย ถ้าฝ่ายใดไม่พอใจกฎหมายฉบับใด ก็ใช้วิธีไม่ร่วมประชุมหรือไมร่วมแสดงตน

ด้าน นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะวิปวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการประชุมรัฐสภาล่ม และ ส.ว. ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นชนวนเหตุ เพราะลาประชุมถึง 95 คน ว่า ยอมรับว่า การนัดประชุมรัฐสภาวันนี้ (8 ก.พ.) ไม่ใช่วันประชุมของวุฒิสภา ทำให้มี ส.ว. ต้องลาประชุม เพราะต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างจังหวัดในฐานะกรรมาธิการสามัญ เบื้องต้นทราบว่า มี 4 คณะ และยังมี ส.ว.ที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดในโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน ส่วนกรณีที่การประชุมรัฐสภาล่ม และ ส.ว. ถูกโจมตีว่าเป็นต้นเหตุนั้น ไม่ใช่ว่า ส.ว.ไม่ต้องการให้พิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่บรรจุไว้ในวาระ แต่เป็นเพราะเงื่อนไขเวลาและกระบวนการพิจารณานั้นไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ทันภายในสมัยประชุมหรืออายุของสภาชุดปัจจุบัน เพราะต้องผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติ และอาจต้องนำไปสู่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการพิจารณาวาระดังกล่าวเป็นแค่เกมทางการเมืองที่พรรคฝ่ายค้านต้องการใช้เป็นประเด็นหาเสียงเท่านั้น

“การนำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูมาพิจารณาปลายสมัยประชุมแบบนี้ มีเหตุผลเดียวเพื่อต้องการใช้เวทีรัฐสภาเพื่อด่า ส.ว. เหมือนที่่เคยทำตอนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้ว แล้วใครจะให้ถูกด่าฟรี เมื่อฝ่ายค้านใช้เกมไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม เพราะไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่พิจารณา อย่างเช่น เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่พบว่ามี ส.ส.แสดงความไม่เห็นด้วยและอภิปรายคัดค้าน แต่เมื่อถึงเวลาลงมติกลับพบว่าคนที่อภิปราย หรือคนที่นั่งในห้องประชุมไม่ยอมกดบัตรแสดงตนก่อนลงมติ เมื่อ ส.ว.จะทำบ้างในเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ทำไมถึงถูกต่อว่า” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า การประชุมร่วมรัฐสภาวาระพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฝ่ายค้านบอกว่า ส.ว.ต้องรับผิดชอบเป็นองค์ประชุม ทำให้ ส.ว.ต้องตามสมาชิก 180-200 คน มารักษาองค์ประชุม ทั้งที่ปกติหากฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายควรใช้วิธีการลงมติไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ใช้วิธีไม่กดบัตรแสดงตน จนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูปที่สำคัญ ไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้

เมื่อถามว่า ขณะนี้ยังมีเวลาเหลือให้นัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องที่ค้างในวาระได้หรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาขิงประธานรัฐสภา เบื้องต้นตนมองว่า ยังมีเวลา คือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพราะวันที่่ 13-14 กุมภาพันธ์ และ วันที่ 20-21 กุมภาพันธ์ นั้น ส.ว.มีวาระสำคัญที่ต้องพิจารณา.


กำลังโหลดความคิดเห็น