xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ปัดมีธงคว่ำญัตติรายงานทำประชามติยกร่าง รธน.ใหม่ ชี้ ใช้งบหมื่น ล.แม้ไฟเขียวแต่ ครม.อ้างไม่ทำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ส.ว.สมชาย” ยันไม่ตั้งธงคว่ำญัตติรายงานทำประชามติยกร่าง รธน.ใหม่ พ่วงเลือกตั้ง อ้างหากทำจริงต้องใช้งบกว่าหมื่นล้านบาท ชี้ แม้วุฒิสภาเห็นชอบ แต่เชื่อ ครม. มีสิทธิไม่ทำ

วันนี้ (20 ก.พ.) นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติการพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ กล่าวถึงรายงานดังกล่าวที่วุฒิสภาจะพิจารณาวันพรุ่งนี้ (21 ก.พ.) ว่า เป็นเรื่องที่ได้ทำการศึกษาอย่างรอบด้าน เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งผู้เสนอญัตติมาให้ข้อมูลอย่างรอบด้านและละเอียด ทำตรงไปตรงมาโดยมีหลักวิชาการอ้างอิง ไม่มีอคติ รวมทั้งนำข้อมูลและที่มาของรัฐธรรมนูญมี 2540 ปี 2550 และปี 2560 มาศึกษา ชัดเจนว่า กว่าจะมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ  ส.ส.ร.เมื่อปี 2540 ต้องใช้เวลาศึกษาถึง 2 ปี และ ส.ส.ร. ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแต่มาจากการเลือกกันเอง ดังนั้น หากจะมีร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในรายงานไม่ได้ขัดข้อง แต่ที่เสนอมา บอกทำประชามติให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดย ส.ส.ร. แต่ไม่มีกรอบที่มาของ ส.ส.ร. จึงยังอ่อนและไม่ชัดเจน ซึ่งหากจะทำจริงต้องทำความเข้าใจ และอธิบายให้ประชาชนเข้าใจก่อนลงประชามติว่า จะมี ส.ส.ร. และกรอบการดำเนินการอย่างไร

นายสมชาย ย้ำว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขได้โดยรัฐสภา แต่หากยกร่างใหม่ เท่ากับเป็นการยกเลิกมาตราที่บัญญัติไว้ว่าประเทศไทยเป็นรัฐเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ และหากจะแก้โดยถามประชามติ ก็จะต้องทำประชามติถึง 3 ครั้งซึ่งไม่ได้ประหยัดงบประมาณ อย่างที่หลายคนได้พูดไว้ เพราะ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ. ประชามติ ไม่ตรงกัน แม้กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกับวันทำประชามติก็ต้องแยกหน่วยเลือกตั้งให้ชัดเจน เป็น 2 เต็นท์ เจ้าหน้าที่ต้องใช้ 2 ชุด แยกกัน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 95,000 หน่วย ก็ต้องเพิ่มเท่าตัว ถ้าในการเลือกตั้งใช้งบ 4,500 ล้านบาท ต้องเสียงบทำประชามติ 3,500 ล้านบาท และต้องทำ 3 ครั้งใช้งบประมาณ 11,000-12,000 ล้านบาท โดยจะต้องถามครั้งแรกว่า จะให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ครั้งที่ 2 ต้องแก้มาตรา 256 รูปแบบ ส.ส.ร. จะเป็นอย่างไร และเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว ก็ต้องถามประชาชนอีกครั้ง ว่าเห็นชอบหรือไม่

นายสมชาย ยืนยันว่า รายงานของกรรมาธิการ ไม่ได้ปิดประตูหรือห้ามให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และถือเป็นประโยชน์ ต่อประชาชน โดยในการพิจารณาวันพรุ่งนี้ อยู่ที่ ส.ว. แต่ละคนจะตัดสินใจ ซึ่งเมื่อสอบถาม ส.ว. เบื้องต้นพบมีความเห็น 2 แนวทาง ส่วนหนึ่งอยากให้ส่งให้ ครม. ไปพิจารณา แต่บางส่วน ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม หาก ส.ว. มีมติส่งให้ ครม. ก็ขึ้นอยู่ที่ ครม. ว่าจะตัดสินใจในการดำเนินการอย่างไร จะทำหรือไม่ก็ได้เพราะเป็นเพียงรายงานของคณะกรรมาธิการ

ส่วนที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ฐานะผู้เสนอญัตติมองว่า ส.ว. ตั้งธงล่วงหน้านั้น นายสมชาย ยืนยันไม่ได้ตั้งธงตีตก เพราะถ้ามีธงจริงก็ตีตกตั้งแต่วาระแรกแล้ว ไม่เสียเวลามาพิจารณา แต่ตั้งใจว่าต้องการให้เป็นการบันทึกทั้งงานวิชาการ และกฎหมาย ต้องอ่านให้ดี ไม่มีอคติ


กำลังโหลดความคิดเห็น