xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ นัด 21 ก.พ.ถกรายงานก่อนโหวตญัตติชง ครม.ทำประชามติยกร่าง รธน.ใหม่ ชี้ เนื้อหาค้านให้ทำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วุฒิสภา นัดพิจารณารายงานก่อนโหวต ญัตติเสนอ ครม.ทำประชามติ ยกร่างรธน.ใหม่ 21 ก.พ.นี้ “สมชาย” เผย รายงาน กมธ.ไม่ชี้นำการโหวต แต่พบเนื้อหา ค้านให้ทำประชามติ ระบุ เปลืองงบ-เนื้อหาไม่ชัด ห่วงกระทบการปกครอง

วันนี้ (19 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่ง คณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) ได้มีมติให้บรรจุเรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ

ทั้งนี้ ก่อนการลงมติดังกล่าว ที่ประชุมวุฒิสภา จะต้องพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาญัตติดังกล่าว ที่มี นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นประธาน กมธ.ก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสาระสำคัญของรายงาน กมธ. ที่เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งระบุไว้ในส่วนของบทสรุปผู้บริหาร ว่า ตามที่สภาพิจารณาและลงมติเห็นชอบกับญัตติที่มีสาระให้ส่งเรื่องต่อ ครม. เพื่อดำเนินกาารตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดการรัฐธรรมมนูญฉบับใหม่ พร้อมคำถามประชามติแนบท้าย คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน” นั้น จากการศึกษาของ กมธ. พบจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ที่แท้จริง คือ การทำประชามติเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่่งกรณีดังกล่าวอาจทำให้เกิดการเปลี่่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรรัฐ กระทบต่อหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพของประชาช รวมถึงอัตลักษณ์สำคัญของชาติ และคุณค่าร่วมกันของสังคมไทยที่พึงปกป้องรักษาไว้

การศึกษาของ กมธ.ได้กำหนดกรอบการพิจารณา และสรุปผลศึกษาได้ คือ 1. พิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขเพิมเติมรัฐธรรมนูญและยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เห็นว่าการพิจารณาความเหมาะสมของรัฐธรรมนูญ สิ่งสำคัญคือเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ หากมีประเด็นที่ควรแก้ไข สามารถใช้วิธีแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสม ไม่ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นอกจากนี้ในเหตุผลที่เสนอต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ถือเป็นเหตุผลอันสมควรที่จำจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนประเด็นคำถามประชามติที่ไม่ได้ระบุขอบเขตจัดทำไว้ชัดเจนเพียงพอ อาจกระทบหลักการปกครอง โดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว รวมถึงโครงสร้างสถาบันทางการเมือง ความมั่นคงของรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชน การตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐ ขณะที่กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญต้องกำหนดความชัดเจนที่เป็นหลักประกันว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่สามารถตอบสนองความต้องการสังคมและประเทศ รวมถึงสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

2. ประเด็นญัตติและคำถามประชามติ กมธ.เห็นว่า ญัตติด่วนของสภาอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญj 4/2564ที่กำหนดให้อำนาจรัฐสภาเป็นผู้มีหน้าที่่และอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ ส.ส.ร. ดังนั้นการออกเสียงประชามติจึงปรากฎองค์กรจัดทำรัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด

“ญัตติของสภาไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเสนอให้ ครม. พิจารณาให้มีการออกเสียงประชามติ เนื่องจากเป็นการตั้งคำถาม ที่ไม่มีสาระซึ่งแสดงถึงความบกพร่องในเนื้อหา เหตุจำเป็นวิธีการทำรัฐธรรมนูญใหมแทนแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ขณะที่แนวทางจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไม่ชัดเจนเพียงพอให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาสำคัญได้โดยสะดวก” รายงานของ กมธ.ระบุ

3. ประเด็นการออกเสียงประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไป กมธ.เห็นว่า แม้กฎหมายไม่มีข้อห้าม แต่เมื่อพิจารณาถึงระยะเวลาและสถานการณ์ปัจจุบัน โอกาสเกิดขึ้นจึงเป็นไปได้น้อย เพราะตามขั้นตอนกฎหมายเจ้าหน้าที่ที่จัดการเลือกตั้งและออกเสียงประชามติต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แตกต่างกัน

4. ประเด็นผลกระทบและการดำเนินการภายหลังออกเสียงประชามติ กมธ. ระบุว่าการออกเสียงประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีการออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ต้องใช้งบรวมกันไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท หากประชานเห็นชอบกับคำถามประชามติ ต้องมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยกร่างรัฐธรรมนูญอีกไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ดังนั้น เป็นจึงเป็นภาระทางงบประมาณแผ่นดินที่มาจากเงินภาษีประชาชน

นอกจากนี้ กมธ.ยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะประกอบการพิจารณาของวุฒิสภา อีกว่า ญัตติขอให้ทำประชามติ ขาดสาระสำคัญชัดเจนเพียงพอต่อเรื่องที่จะขอทำประชามติ, คำถามประชามติมุ่งหมายถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบัน โดย ส.ส.ร. ก่อให้เกิดการตีความหลายนัย เช่น องค์ประกอบของ ส.ส.ร. อำนาจ หน้าที่ หรือ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ทั้งที่การเลือกตั้งไม่ทราบวิธีที่ชัดเจน, คำถามประชามติเกี่ยวกับการเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับนั้นซับซ้อนและต้องทำความเข้าใจจำนวนมาก หน่วยงานจึงควรมีเวลาเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ

ทั้งนี้ นายสมชาย ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าการศึกษาของ กมธ. ไม่มีการชี้นำต่อการลงมติของ ส.ว. ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นี้ อีกทั้งยืนยันว่า การศึกษาของ กมธ. เป็นการศึกษาทางวิชาการที่ศึกษาแล้วอย่างรอบด้าน ที่เป็นกลาง และพร้อมที่จะให้ทุกหน่วยงานนำไปพิจารณาประกอบกับการจัดทำรัฐธรรมนูญในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น