รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบผลประชุมระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก (Mondiacult 2022) ไทยชูโครงการ 5F สอดคล้องโมเดล ศก. BCG ส่งเสริม Soft Power เดินหน้าระบุสิทธิทางวัฒนธรรมในนโยบายสาธารณะ
วันนี้ (21 ก.พ.) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการประชุมระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโกตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดพเนินงานตามปฏิญญาฉบับสุดท้ายของการประชุมเพื่อขับเคลื่อนงานตามภารกิจที่รับผิดชอบและบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันต่อไป
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ในการประชุมระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโก (Mondiacult 2022) นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและคณะผู้แทนไทยได้เข้าร่วมการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 28-30 กันยายน 2565 ณ กรุงเม็กซิโก ซิตี้ เม็กซิโก ผ่านระบบการประชุมทางไกล ในหัวข้อ “อนาคตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ซึ่งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งเสริมการพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญาและการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์ การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม พร้อมกับผลักดันโครงการ 5F คือ อาหาร (Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น (Fashion) มวยไทย (Fighting) และการอนุรักษ์และขับเคลื่อนเทศกาลและประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) เพื่อเป็น Soft Power ของไทย
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
1. ไทยได้ดำเนินการตามแนวคิด “เศรษฐกิจวัฒนธรรมใหม่ สร้างรายได้ เสริมคุณค่า พัฒนาสังคม” เพื่อเพิ่มโอกาสทางอาชีพ สร้างรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม และเพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทย และการดำเนินโครงการ 5F ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) รวมถึงการส่งเสริม Soft Power ของไทย
2. ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาฉบับสุดท้ายของการประชุมฯซึ่งมีสาระสำคัญ เช่น 1. สิทธิทางวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาให้มีการระบุไว้ในนโยบายสาธารณะ เช่น สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมของศิลปิน และสิทธิเสรีภาพทางศิลปะ และ 2. การกำหนดให้มีการประชุมเวทีระดับโลกว่าด้วยนโยบายวัฒนธรรมขึ้นทุก 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2568
“ครม. พิจารณาเห็นว่าผลการประชุมมีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านนโยบายวัฒนธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน และเพื่อเตรียมการเข้าร่วมการประชุมเวทีระดับโลกฯ ในปี 2568 จึงเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทางานร่วมกันต่อไป” น.ส.ทิพานัน กล่าว