สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมเดินหน้ารับแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมาย (Key results) 5 ด้าน ตามแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2566-2568
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) เมื่อวันอังคารที่ 31 มกราคม 2566 โดยมี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้เติบโตและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่
ยุทธศาสตร์ที่ 1 ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ (Competitiveness) เป็นการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนที่เข้าถึงได้ (Accessibility) เป็นตลาดทุนที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตลาดทุนดิจิทัล (Digitalization) เป็นการส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน
ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) เป็นการมุ่งเน้นส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ตลาดทุนเพื่อความอยู่ดีมีสุขทางการเงิน (Financial well-being) ของประชาชน เป็นการมุ่งเน้นสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุน โดยมีการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม
ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565-2570) ร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน มีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาตลาดทุนไทยให้เติบโต ซึ่งเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้รุดไปข้างหน้า สอดรับกับนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ ก.ล.ต. จึงพร้อมปฏิบัติตามทิศทางยุทธศาสตร์ของแผนฉบับดังกล่าว โดยสะท้อนอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. ปี 2566-2568 ที่มุ่งเป้าให้ตลาดทุนไทยมีโอกาสและสามารถรับมือกับความท้าทายจากสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผลกระทบต่อภาคการเงินการลงทุนมากยิ่งขึ้น รวมถึงสานต่อการดำเนินการที่ ก.ล.ต. ได้พัฒนาต่อยอดให้ตลาดทุนไทยขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ปี 2566-2568 มีเป้าหมายหลัก 5 ด้าน ดังนี้
(1) การส่งเสริมตลาดทุนให้เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง โดยสร้างระบบนิเวศให้เอื้ออำนวยต่อการระดมทุนของกลุ่มธุรกิจเป้าหมาย เช่น กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลุ่มเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-curve) และธุรกิจส่งเสริม Soft Power
ทั้งนี้ ธุรกิจส่งเสริม Soft Power หมายถึง ธุรกิจที่ส่งเสริมความเป็นไทยผ่านวัฒนธรรม อาหาร และศิลปะแขนงต่างๆ เป็นต้น โดยรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจที่มีศักยภาพ 5 กลุ่ม (5F) ประกอบด้วย อาหาร (Food) ภาพยนตร์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ศิลปะป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival)
(2) การเป็นตลาดทุนดิจิทัลเพื่อส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยการพัฒนาระบบนิเวศ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อรองรับการแข่งขัน รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาและกำกับดูแลตลาดทุน และการยกระดับการกำกับดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์
(3) การยกระดับศักยภาพให้เป็นตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Capital Market) โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความยั่งยืนให้แก่บริษัทที่ระดมทุนจากตลาดทุน และผลักดันให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
(4) การเป็นตลาดทุนที่มีการพัฒนาและกำกับสอดรับกับฉากทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของผู้ลงทุน โดยกำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาและกำกับผู้ประกอบธุรกิจให้สอดรับและเท่าทันภูมิทัศน์ (landscape) ที่เปลี่ยนไป รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลต่างประเทศในการยกระดับความเชื่อมโยงและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเงินข้ามกัน
(5) การสนับสนุนให้ตลาดทุนเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งได้อย่างเหมาะสม โดยส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี และสนับสนุนให้ประชาชนใช้ตลาดทุนเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งได้อย่างเหมาะสม ด้วยการส่งเสริมให้ได้รับความรู้ด้านการเงินการลงทุน (financial literacy) รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกหลอก รวมถึงความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีในการใช้บริการด้านตลาดทุน
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้กำหนดให้มีแผนองค์กรนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนให้ ก.ล.ต. เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมที่มีขีดสมรรถนะสูง สามารถให้บริการที่ตอบโจทย์ และเชื่อถือได้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนและผลักดันภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์และบรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้