เมืองไทย 360 องศา
หากมองการเมืองทั้งการพิจารณาจากบรรยากาศและผลสะท้อนจากผลสำรวจหลายสำนักที่ออกมา เริ่มจะมีลักษณะการเมืองที่กลับมาแบ่งเป็น “สองขั้ว” ชัดเจนขึ้นมาอีกครั้ง แต่คราวนี้อาจจะพิเศษตรงที่มีกลุ่มที่ “ต่อต้านสถาบันฯ” เข้ามาผสมโรงด้วย แต่ถึงอย่างไรในภาพรวมๆแล้ว การเมืองกำลังมีแนวโน้มเป็นแบบที่เคยเป็นมานานนับสิบปี นั่นคือ จากฝ่ายที่ “เอาทักษิณ” กับ “ไม่เอาทักษิณ” เพียงแต่ว่ามีวิวัฒนาการแยกย่อยออกมาเท่านั้นเอง
แน่นอนว่า หากมองการเมืองภาพใหญ่ก็ยังเป็น “สองขั้ว” ฝ่ายแรกก็เป็นฝ่าย “นิยมทักษิณ” ผ่านพรรคเพื่อไทย ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีมวลชนคนเสื้อแดง รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่มีความชื่นชอบในนโยบายที่ออกมาตั้งแต่ในยุคพรรคไทยรักไทย ที่มี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค มาตั้งแต่ปี 2544 และต่อเนื่องมาจนถึงพรรคพลังประชาชน และมาถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันแบบหยาบๆ ทุกสรรพสิ่งเมื่อสูงสุดก็ย่อมเสื่อมถอยลงเป็นวัฏจักรหมุนเวียนกันไป พรรคไทยรักไทย ที่ต่อเนื่องมาถึงเพื่อไทยในปัจจุบัน รวมถึง นายทักษิณ ชินวัตร ที่หากพิจารณา “กระแส” ในเวลานี้เมื่อเทียบเคียงกับในยุคก่อนหน้านั้น ถือว่า “เสื่อมถอย” ลงไปมาก อย่างน้อยสิ่งที่เห็น ก็คือ “คู่แข่ง” ที่มีความเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงมีหลากหลาย ที่สำคัญมีการเตรียมการรับมือ และรู้จักเขาเป็นอย่างดี เพราะมีการต่อสู้ขับเคี่ยวกันมานาน อีกทั้งหลายคนที่ผันตัวออกมาเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็เคยอยู่ในสังกัดมาก่อน บางคนเคยเป็น“ลูกน้อง”รับใช้ใกล้ชิด
สิ่งที่เห็นชัดเจนที่สุด ก็คือ กรณีของ “คนเสื้อแดง” ที่เวลานี้แตกฉานซ่านเซ็น แยกย้ายกันไปหลายพรรค แต่นั่นไม่ทำให้เกิดการสะดุดเป็นลักษณะตอกย้ำ “ใบเสร็จ” ให้เห็นจริงเท่ากับการเปิดโปงของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. หรือคนเสื้อแดงที่เคยชุมนุมให้นายทักษิณ ชินวัตร กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ตั้งแต่ปี 52-53 เรื่อยมา แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งมีการแตกคอและมีการแฉโพยออกมาได้อย่างเจ็บแสบ
และที่สำคัญ เป็นการเปิดโปงนายทักษิณ ได้อย่างถึงแก่น ทั้งที่จะว่าไปแล้วเรื่องราวที่นายจตุพร พูดออกมา คนทั่วไปมากมายได้รับรู้ และคาดหมายเอาไว้แล้ว ตั้งแต่เรื่องการ“สร้างสถานการณ์” เหตุการณ์รุนแรงในการชุมนุม การโกหกหลอกลวง รวมไปถึงการหลอกใช้คนเสื้อแดง เช่น ที่ใช้คำว่า “ถีบหัวเรือส่ง” นั่นแหละ
ซึ่งเรื่องราวแบบนี้ หากพิจารณาให้ดีก็ย่อมอ่านเกมออกอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ที่เคยเป็นอดีตประธาน นปช. แกนนำม็อบคนเสื้อแดง ออกมาพูดด้วยตัวเองมันก็เหมือนกับการยืนยันว่า สิ่งที่คนเคยสงสัยล้วนเป็นความจริงและจนถึงบัดนี้นายทักษิณ ชินวัตร ก็ไม่เคยออกมาตอบโต้ สิ่งที่ทำได้ ก็คือ เฉไฉไปเป็นอื่น เช่น ออกทำนอง “ด้อยค่า” ว่าเป็น “หมาฉี่รดภูเขาทอง” อะไรประมาณนั้น ขณะเดียวกัน คนในพรรคเพื่อไทยก็เงียบกริบ ไม่มีใครออกมาตอบโต้เหมือนเช่นทุกครั้ง
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการประเมินกันแล้ว เชื่อว่า เรื่องที่เกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยไม่น้อย อย่างน้อยก็ในระดับมวลชนที่เคยสนับสนุนพรรคเพื่อไทย และครอบครัวชินวัตร อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับการ “เบรกกระแส” ลงได้พอสมควร อย่างน้อยก็ย่อมกระทบไปถึง “กระแสอุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร วาที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคที่สั่นสะเทือนเข้าอย่างจัง ซึ่งนั่นก็เป็น “ขั้วหลัก” ขั้วหนึ่ง
ขณะที่อีกขั้วหนึ่ง ที่เวลานี้อาจจะเรียกว่าเป็น “ขั้วสอง ป.” ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พรรครวมไทยสร้างชาติ กับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และแม้ว่านาทีนี้ทั้ง “สอง ป.” ดังกล่าวจะมีการ “แข่งขัน” กันเอง มีการแย่งชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่เชื่อว่า ในช่วง “ปลายทาง” มันก็จะกลายเป็น “ป.เดียว” หรือเหลือเพียง “ป.ประยุทธ์” หรือไม่ก็ “ป.ประวิตร” เท่านั้น
แม้ว่าหลายคนจะพยายามวิเคราะห์ และมีความเชื่อว่า ป.ประวิตร “เล่นเกมหลายหน้า” และมีโอกาสที่จะจับมือกับอีกขั้วคือ พรรคเพื่อไทย มี “ดีลลับ” บางอย่างเพื่อให้ตัวเองได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่อีกคนจะ “กลับบ้าน” แม้ไม่มีการอธิบายรายละเอียดว่า กรณีกลับบ้านจะกลับมาแบบไหน แต่ถึงอย่างไรหลายคนก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้
แต่ขณะเดียวกัน หากมองกันอีกมุมหนึ่งจะเชื่อหรือไม่ว่า ยิ่งมีข่าว “ดีลลับ” หรือ ข่าว “ป.ประวิตร” จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล มันก็ยิ่งเป็นการทำให้ “แรงส่ง” ให้กระแสของ “ป.ประยุทธ์” ที่ก่อนหน้านี้เริ่มแผ่ว ผนวกกับการ “แฉ” ของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ กลับมาแรงขึ้นกว่าเดิม และกลับกลายมาเป็น “สองขั้ว” ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งทำให้มวลชนที่ “ไม่เอาทักษิณ” ไม่มีทางเลือก ต้องหันกลับมาเทให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคของเขา ประกอบกับด้วยองคาพยพของพรรคพลังประชารัฐ ที่ระยะหลังมีการ “หลอมรวม” เอาหลากหลาย “เขี้ยวลากดิน” เอาไว้ เพื่อคิดจะสร้างหลักประกันความชัวร์ของ “บ้านใหญ่” หวังการันตีที่นั่ง ส.ส.ของพรรคในการต่อรองอำนาจทางการเมืองของ ป.ประวิตร ในวันหน้า ซึ่งในภาพกว้างน่าจะมีผลกระทบในทางลบมากกว่าทางบวก
เพราะต้องไม่ลืมว่า ฝ่ายไม่เอาทักษิณ จะเป็นมวลชนที่ทำทุกทางที่จะไม่ให้เครือข่ายทักษิณกลับมามีอำนาจ และในการเลือกตั้งเมื่อปี 62 ก็มีกระแสประยุทธ์ จนทำให้พรรคพลังประชารัฐ ชนะการเลือกตั้งได้มาเป็นร้อยที่นั่ง มีคะแนนพรรคมากกว่าพรรคเพื่อไทยก็แล้วกัน
แม้ว่าหลายคนอาจมองไปอีกแบบว่า กระแสแบบเดิมคงไม่กลับมาแล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสื่อมความนิยมลงไปมากแล้ว แต่เมื่อเกิดแนวโน้มที่พรรคเพื่อไทยที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ “อุ๊งอิ๊ง” ลูกสาวคนเล็กของทักษิณ ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคคนต่อไป ชูการ “พาพ่อกลับบ้าน” มันก็ยิ่งทำให้เกิดกระแสที่เริ่ม “สวิง” กลับมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ มากขึ้น และจากรายงานที่เชื่อว่า “ผู้กองแป้ง” จะกลับมาพรรคพลังประชารัฐ มันก็ยิ่งทำให้มวลชนอีกฝ่ายตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งเริ่มสะท้อนออกมาผ่านผลสำรวจที่เริ่มเห็นชัดแล้วว่า ความนิยมของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรครวมไทยสร้างชาติ เริ่มแรงขึ้น แม้ว่าจะยังเป็นรองพรรคเพื่อไทย และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ก็ตาม
ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่เชื่อว่า จะกลายเป็นตัวเร่งให้กระแสของ “บิ๊กตู่” กลับมาอีกครั้ง ก็คือ แรงส่งจากพรรคก้าวไกล ที่รับรู้กันแล้วว่าเป็นกลุ่มการเมือง “ต่อต้านสถาบันฯ” มันก็กลายเป็นการทำให้มวลชนที่เป็นกลุ่ม “อนุรักษ์” กลุ่มคนที่มีอายุสี่สิบขึ้นไป ต้องมาเทเสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะคิดว่าน่าจะเป็นตัวเลือกที่พอมั่นใจได้ เมื่อเทียบกับคนอื่น
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากลักษณะมวลชนที่มองว่ามีพื้นฐานเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย เพียงแต่แยกย่อยออกมา โดยส่วนมากจะเป็นคนรุ่นใหม่ หนุ่มสาว และกลุ่มคนที่ไม่เอาเจ้ามาแต่เดิมอยู่แล้ว เมื่อครั้งที่เป็นพรรคไทยรักไทยในอดีต มวลชนไม่น้อยที่แยกมาสนับสนุนพรรคก้าวไกล ซึ่งหากสรุปให้เห็นภาพก็เหมือนกับว่า มีมวลชนอยู่สองกลุ่มใหญ่ หากพิจารณาให้เข้าใจแบบง่าย ก็คือ “เอา” กับ “ไม่เอาทักษิณ” โดยกลุ่มเอาทักษิณ ปัจจุบันแยกมาหนุนก้าวไกล มันก็ทำให้กระแสของเพื่อไทย ลดลง ขณะที่ฝ่าย “ไม่เอา” แม้ว่าจะแยกกันหลายพรรค แต่เชื่อว่า ในที่สุดแล้วก็เริ่มมีแนวโน้มย้อนกลับมาในลักษณะในแบบที่ว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่” อีกรอบ ทำให้ต้องกัดฟันเทเสียงให้อีกหรือเปล่า !!