xs
xsm
sm
md
lg

กอดแน่น! กม.ร้อยปี “คุมเรี่ยไร” ค้านหัวชนฝา ถ่ายโอนอำนาจ มท.1 ให้ท้องถิ่น อนุญาตรับบริจาคเงินผ่านสื่อออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาดไทย กอดแน่น! กฎหมายควบคุมการเรี่ยไร อายุเกือบร้อยปี ค้านหัวชนฝา “ถ่ายโอนอำนาจ มท.1” ให้ ผู้บริหารท้องถิ่น กทม./เทศบาล/อบต. รับเรื่อง-อนุญาตเปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือผ่านสื่อออนไลน์ อ้างเป็นความมั่นคง - มท.1 มีความเชี่ยวชาญ จี้ให้อำนาจคงอยู่กับ “กรมการปกครอง” แบบยาวๆ ด้าน คณะผู้ยกร่าง ขอพบกันครึ่งทาง จ่อเจรจา หากเป็นเรื่องใหญ่ โฆษณาผ่านสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง อินเทอร์เน็ต ยังให้อำนาจ มท. ส่วนเรี่ยไรเล็กๆ ตามท้องถนน ให้ท้องถิ่นจัดการ

วันนี้ (26 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ความคืบหน้าต่อการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการเรี่ยไร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ฉบับแก้ไข

เป็นแก้ไขกฎหมายฉบับปี 2487 กรณี “การเรี่ยไรผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์” เช่น เฟซบุ๊ก เช่น ในปัจจุบัน รวมถึงกรณีมีบุคคล องค์กรและคณะบุคคลทั่วไป เปิดรับบริจาคเงินช่วยเหลือ ในหลายเรื่องผ่านสื่อออนไลน์ นั้น

ก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2562 คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.ถ.) เห็นชอบในหลักการให้ถ่ายโอนอำนาจรับเรื่องและอนุญาตการเรี่ยไร ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา เทศบาล และองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีความพร้อม และให้ผู้บริหาร อปท. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

โดยในเร็วๆ นี้ คณะอนุกรรมการพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ผู้ยกร่าง

เตรียมที่จะประชุมหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ได้ข้อยุติร่วมกัน เนื่องจาก มหาดไทย ไม่เห็นด้วยกับ ประเด็นการ “ถ่ายโอนภารกิจ”

ก่อนเสนอ (ก.ก.ถ.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก.ก.ถ. พิจารณาต่อไป

“มหาดไทย ไม่เห็นด้วย เพราะกฎหมายกำหนดให้ รมว.มหาดไทย เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ และรักษาการเพราะอำนาจหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้”

กฎหมาย กำหนดให้ มท.1 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ ในการบังคับใช้กฎหมายในการให้บริการแก่ประชาชนด้วยความสะดวกรวดเร็วมีรูปแบบ ขั้นตอน วิธีการ แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน

อีกทั้งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งต้องตรวจสอบควบคุมดูแลการประกอบกิจการ

ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นหลายฉบับที่มีขั้นตอนของข้อกฎหมายที่จะต้องใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบ เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและประชาชน

มหาดไทย เห็นว่า ดังนั้น การไม่ถ่ายโอนภารกิจตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรให้แก่ อปท.

โดยยังคงให้อยู่ในความรับผิดชอบของ “กรมการปกครอง” น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวมมากกว่า ที่จะถ่ายโอนภารกิจตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.

เพราะอาจติดขัดในการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในการดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไร

และหากมีการถ่ายโอนภารกิจตามกฎหมายดังกล่าวไปให้ อปท.จำนวน 7,774 แห่ง (ไม่รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด เนื่องจากไม่มีพื้นที่ให้บริการ)

อปท. แต่ละแห่งอาจมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่แตกต่างกัน อันเนื่องมาจากการที่ผู้บริหารท้องถิ่นแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการใช้ดุลพินิจเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการเรี่ยไรแตกต่างกัน

ดังนั้น การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจึงควรให้กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการ

โดยต้องพิจารณาความเหมาะสมตามบริบทของ อปท.แต่ละรูปแบบและแต่ละประเภท และกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อความมั่งคงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครอง

จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบครอบคลุมรอบด้านเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสังคมโดยรวม

ทั้งยังเห็นว่า อำนาจของ ก.ก.ถ. ตามมาตรา 12(8) เป็นเพียงความคิดเห็นเชิงแนะนำที่เสนอเพื่อพิจารณาเท่านั้น โดยเทียบเคียงกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

กระทรวงมหาดไทย ไม่เห็นพ้องด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

และเห็นควรให้คณะรัฐมนตรี มีมติมอบหมายให้ รมว.มหาดไทยในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายไปพิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายประเด็นความมั่งคง และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน

มีรายงานว่า ก.ถ.ถ. ชุดใหญ่ มีการหยิบยกเรื่องนี้มาหารือ โดย ศาสตราจารย์สมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนา ชุดนี้ กล่าวว่า มี 2 ประเด็น ประเด็นที่แรก มหาดไทย ได้แย้งว่า ก.ก.ถ. ไม่มีอำนาจแก้ไขกฎหมายของ กระทรวง ทบวง กรม แต่คณะอนุกรรมการฯ ได้ดำเนินการมาตลอด

ประเด็นที่ 2 มหาดไทย ไม่เห็นด้วยเรื่องการเรี่ยไรให้ท้องถิ่น คณะอนุกรรมการ เสนอพบกันครึ่งทาง

“หากเป็นเรื่องใหญ่ โฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์ โฆษณาด้วยระบบวิทยุกระจายเสียง รวมถึงระบบอินเทอร์เน็ต ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้จัดการ หากเรี่ยไรเล็กๆ ตามท้องถนนให้ท้องถิ่นดำเนินการได้”

นายชัยรัตน์ แก้วเพียงเพ็ญ หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น แทนปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มีอยู่ 2 ประเด็น ประเด็นแรก รมว.มหาดไทย ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ตามหนังสือที่ฝ่ายเลขานุการนำเข้าประชุม

ประเด็นที่ 2 ข้อสั่งการของนายวิษณุ ประธาน ก.ก.ถ. สั่งผ่านหนังสือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ว่า ให้ ก.ก.ถ.หารือกับมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนนำเสนอ ครม.ต่อไป

“ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ยังไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เห็นว่าควรจะนำไปหารือกันอีกรอบก่อนดำเนินตามแนวทางที่รองนายกรัฐมนตรีสั่งการ”

ด้าน นายวิษณุ กล่าวว่า คงต้องไปหารือกันให้ได้ข้อยุติ หรือมีข้อขัดแย้งน้อยที่สุด จึงนำเสนอ ครม. มิฉะนั้น พอเข้า ครม. อาจจะไปกระทบกฎหมายอีกหลายฉบับได้ในส่วนนี้

ขอให้ช่วยดำเนินการหารือกันต่อไป ประธานอนุฯชุดนี้ ที่เป็นหัวหน้าทีมฝ่าย ก.ก.ถ. ในการหารือ กระทรวงมหาดไทย ก็มีคณะกรรมการกฎหมายอยู่แล้ว

นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า ในเรื่องนี้ไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องการกระจายอำนาจ

“แต่ด้วยกฎหมายฉบับนี้ เน้นเรื่องการควบคุมการเรี่ยไร ที่เขียนมาเกี่ยวกับการคุมวิธีการ และวิธีการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยดูแลอีกวิธีหนึ่งให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลการเรี่ยไร”

โดยปัจจุบันวิธีการค่อนข้างกระจายออกไปหากเขียนแบ่งประเภท พอถึงวิธีการที่บังคับใช้กฎหมายไม่ว่าจะอยู่ในส่วนของพนักงานกระทรวงมหาดไทยเอง หรือส่วนท้องถิ่นอาจจะเกิดปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การอ้างอิงที่อยู่ในพื้นที่

ตรงนี้ถ้ารบกวนเวลาตอนหารือทางคณะอนุกรรมการ อาจจะต้องดูกระบวนการควบคุมเน้นเรื่องการควบคุมกิจการพอเขียนในมาตรา 8 มาตรา 10 ไปเน้นกระบวนวิธีการเรี่ยไร

ซึ่งอาจจะไม่ตรงและกลายเป็นปัญหาในการบังคับใช้เรียนเป็นข้อสังเกตในการแก้ไขจะได้ไม่เกิดขึ้นกฎหมายในการบังคับใช้

สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในกรณีการเรี่ยไรผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่เห็นควรแก้ไขเพิ่มเติม มีสาระสำคัญดังนี้

1.1 เพิ่มบทนิยามคำว่า “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” และ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4)

1.2 กำหนดให้การเรี่ยไรเพื่อประโยชน์แก่ราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือประโยชน์สาธารณะจะจัดให้มีขึ้นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร

และกำหนดให้กรณีการเรี่ยไรดังกล่าวไม่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรให้รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้ อปท.ไม่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร

เนื่องจากเมื่อ อปท.เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการอนุญาตจัดให้มีการเรี่ยไรแล้ว ก็ควรได้รับการยกเว้นเช่นเดียวกับกระทรวง ทบวง กรม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6)

1.3 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตการเรี่ยไรโดยการโฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์ ด้วยวิทยุกระจายเสียง

และกำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตการเรี่ยไรในถนนหลวงหรือในที่สาธารณะ หรือด้วยเครื่องเปล่งเสียง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8)

1.4 กำหนดการอุทธรณ์กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้มีการเรี่ยไรตามมาตรา 8 วรรคแรก (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 10)

1.5 กำหนดการอุทธรณ์กรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่อนุญาตให้มีการเรี่ยไรตามมาตรา 8 วรรคสอง

1.6 กำหนดลักษณะบุคคลต้องห้ามมิให้ทำการเรี่ยไร กรณีบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นเห็นว่ามีความประพฤติหรือหลักฐานไม่น่าไว้ใจ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11)

1.7 กำหนดให้มีการรายงานการเงินหรือทรัพย์สินที่เรี่ยไรได้มา ถ้าไม่ต้องจ่ายเพราะไม่อาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์แห่งการเรี่ยไร

หรือเพราะเหตุใดๆ ให้ผู้จัดให้มีการเรี่ยไรรายงานต่อคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 15)

1.8 กำหนดให้ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5 มาตรา 6 วรรคแรก มาตรา 8 วรรคแรกหรือวรรคสอง ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 17)

1.9 กำหนดให้ผู้ใดทำผิดเงื่อนไขในการอนุญาต ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 18)

1.10 กำหนดให้บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ

ยกเว้นความผิดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ (เพิ่มมาตรา 20/1)


กำลังโหลดความคิดเห็น