xs
xsm
sm
md
lg

สภาถกต่อร่าง กม.กัญชาฯ โหวตผ่าน ม.3 หลัง กมธ.ยอมตัด “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ” ออก หลายเสียงอัดปมคำนิยาม เขียนเหมือนเอาคุกไปให้ ปชช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาถกต่อร่าง กม.กัญชาฯ โหวตผ่าน ม.3 หลัง กมธ.ยอมตัด “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ” ออก หลายเสียงอัดปมคำนิยาม เขียนเหมือนเอาคุกไปให้ ปชช. “สาทิตย์” อัดเขียนกำกวม เจตนาแฝงเปิดเสรี ข้องใจ เพิ่มจำนวนปลูกกัญชา ให้ครัวเรือนได้ 15 ต้น ขณะที่ “ปานเทพ” แจงคงไว้ตามเดิมที่ผ่านหลักการทุกอย่าง ยกข้อมูลงานวิจัยยันคนไทยอยู่กับกัญชาอย่างมีวุฒิภาวะ

วันนี้ (21 ธ.ค.) ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ... ในวาระ 2 โดยการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังค้างการพิจารณาเพื่อลงมติในมาตราที่ 3 มีเนื้อหาระบุว่า กัญชา กัญชง ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด โดยกรรมาธิการ (กมธ.) ได้ยินยอมให้ตัดเนื้อหา “กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ” โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วย 201 เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 31 เสียง

ต่อมามาตรา 4 ว่าด้วยการกำหนดคำนิยามในความหมายของคำต่างๆ ซึ่ง กมธ.ได้แก้ไขเนื้อหา โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ อาทิ คำนิยามของคำว่า “ผลิต” กมธ. ได้ตัดคำว่า “เพาะ ปลูก สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์” ออกจากคำนิยาม ทำให้เหลือเพียง “การทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ สกัด เปลี่ยนรูป รวมถึงการแบ่งบรรจุ” และรวมถึง “การใช้เพื่อประโยชน์ในครัวเรือน ประกอบอาหาร และเพื่อใช้ปะโยชน์จากราก ลำต้น หรือ เส้นใย” และได้เพิ่มคำว่า “สื่อสารการตลาด” ที่ให้หมายรวมถึง การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สร้างข่าว เผยแพร่ข่าวสาร ส่งเสริมการขาย การแสดง หรือการส่งเสริมการขายโดยใช้บุคคล เป็นการเฉพาะ หรือการตลาดในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อขายสินค้า บริการหรือสร้างภาพลักษณ์

ทั้งนี้ ในการอภิปรายของ ส.ส. ส่วนใหญ่พบว่าท้วงติงต่อการแก้ไขของ กมธ.เนื่องจากมองว่าการเขียนคำนิยามตามที่ กมธ. กำหนดนั้นเท่ากับการเปิดช่องให้เกิดการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการแบบเต็มรูปแบบ อีกทั้งการตัดการผลิต ในส่วนของการเพาะ ปลูก ออกอาจจะมีผลกระทบต่อประชาชน รวมถึงการกำหนดนิยามการขาย ที่กำหนดให้รวมถึง จำหน่าย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยนนั้น อาจทำให้ประชาชนต้องติดคุกได้

โดย นายสงวน พงษ์มณี ส.ส.ลำพูน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า พรรคภูมิใจไทย หาเสียงว่าให้ครัวเรือนปลูกได้ 6 ต้น แต่ในร่างกฎหมายขยายเป็น 15 ต้น พร้อมกำหนดนิยามของการขายไว้ว่า จำหน่าย จ่าย แจก หรือ แลกเปลี่ยน เพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือให้โดยมีสิ่งตอบแทนหรือประโยชน์อย่างอื่นและให้รวมถึงการมีไว้เพื่อขาย เท่ากับเอาคุกไปให้ชาวบ้าน

ทางด้าน นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ในสมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เด็ก ป.3 ถือแท็บเล็ตไปโรงเรียน แต่ปัจจุบัน พบว่าถือบ้องกัญชาไปโรงเรียน ดังนั้น ขอให้ กมธ.หาทางแก้ไข ขณะเดียวกัน วิถีของชาวบ้านที่อยู่บ้านใกล้ มักจะมาขอกัญชาเพื่อไปปรุงอาหาร หาก กมธ.กำหนดนิยามการขายไว้อาจทำให้ชาวบ้านทำผิดกฎหมายได้ อีกทั้งอาจมีการล่อซื้อกัญชาจากเด็กในพื้นที่และนำขึ้นศาลเตี้ย

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า คำนิยามมีความสำคัญมาก เพราะหากมีการบัญญัติไว้โดยมีเจตนารมณ์แอบแฝง กำกวม หละหลวม ก็จะเกิดการตีความและนำไปใช้เกิดผลเสียหายมากกว่าผลดี ตนสงสัยว่า เขียนเพื่อเจตนาเปิดช่องให้ใช้ทางนันทนาการอย่างเสรีได้ คือ คำนิยามประโยชน์ในครัวเรือน ซึ่งโยงกับมาตรา 18 เกี่ยวกับชาวบ้านสามารถลูกได้ครัวเรือนละ 15 ต้น คำถามคือ “ประโยชน์ในครัวเรือน” คืออะไร ในนี้เขียนว่าหมายถึงการบริโภคส่วนบุคคลเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง และบุคคลในครอบครัว และยังตัดคำว่า “ทั้งนี้” ไม่เกิดปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งบุคคลในครอบครัวสามารถใช้กัญชาด้วยตนเองได้แทนที่จะอยู่ในการดูแลของแพทย์ และยังเขียนว่า “ประโยชน์ในครัวเรือนหมายถึงบริโภคส่วนบุคคล” แปลว่า ไปซื้อมาเสพในบ้านของตนเองอย่างเสรีได้ด้วย ไม่ใช่ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแน่นอน เพราะขั้นตอนบริโภคในครัวเรือนไม่มีเหตุผลทางการแพทย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ในความเห็นของศูนย์การศึกษาปัญหาการเสพติดบอกว่าไม่จำเป็นต้องเขียนแบบนี้เพราะเป็นการเปิดช่องให้ใช้ในนันทาการ และยังไม่บอกว่าจะป้องกันการเข้าถึงกัญชาของเด็ก และเยาวชนในครอบครัวอย่างไร เสรีนันทาการสุดขั้ว

ด้าน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธุ์ กรรมาธิการ ชี้แจงโดยยืนยันว่า กมธ.ไม่ได้แก้อะไรในวาระรับหลักการ แค่เพิ่มคำว่า “คณะกรรมการกัญชา กัญชง” เท่านั้น ที่เหลือเหมือนกับวาระรับหลักการทุกประการ ส่วนคำว่า “สารสกัด” กมธ.เห็นว่า เรื่องของช่อดอกเป็นส่วนที่มีการควบคุมโดยอนุสัญญาเดี่ยวอยู่แล้ว ดังนั้น การควบคุมในเชิงสารสกัดต้องควบคุมช่อดอก แต่ที่เขียนไว้ในวรรคท้ายว่าแต่ไม่รวมถึงยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เข้าเกณฑ์ตามกฎหมายยาเสพติดต้องไปใช้ตามประมวงกฎหมายยาเสพติดทุกประการ

ส่วนที่ห่วงว่าทำไม กมธ.ไม่บัญญัติเรื่องการเพาะปลูก เราเห็นว่า เพาะปลูกที่มีคำนิยามเป็นศัพย์ตามพจนานุกรมของตนเองอยู่แล้ว และที่สำคัญ เราเพิ่มคำว่า"สกัด"เข้าไปในการผลิตเพราะเห็นว่าต้องมีการควบคุมในขบวนการสกัดในการผลิตด้วย นอกจากนี้การใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าการทำอาหาร ก็ไม่ควรไปอยู่ในขบวนการผลิตทั่วไปเพื่อไปให้กับคนอื่น และยังนิยาม “การขาย” ให้ครอบคลุมกับกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ส่วนเรื่องผู้รับจดแจ้ง กมธ.เปลี่ยนจากหลักการที่ให้อำนาจกับผู็ว่าราชการจังหวัด หรือนายก อบจ. โดยได้รับฟังเหตุผลว่าไทยมีพันธผูกพันรายงานต่ออนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ จำเป็นต้องมีข้อมูลเดี่ยวเป็นเอกภาพและบูรณาการทุกข้อมูล ซึ่งขณะนี้องค์การอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่นี้อยู่ แต่ก็สามารถกระจายอำนาจได้ และปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีลงทะเบียนได้รวดเร็วทางโทรศัพท์มือถือ สอบคุณสมบัติของผู้จดแจ้งได้ ไม่จำเป็นต้องสร้างเงื่อนไข ภาระให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่พร้อม ไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อรายงานเรื่องยาเสพติดระหว่างประเทศ เราจึงเห็นว่าอำนาจท้ายที่สุดเป็นของเลขาธิการ อย. ตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ

“ปัจุบันคนไทยเข้าไม่ถึงกัญชาทางการแพทย์ โรคที่สาธารณสุขประกาศมีกัญชาที่เป็นประโยชน์โดยตรงจากงานวิจัยที่มีหลักฐาน และประเภทที่น่าจะได้ใช้ประโยชน์ และประเภทที่อาจจะมีการวิจัยในอนาคต แต่ 84% คนไทยใช้กัญชาในโรคอื่นๆ ที่ไม่ถูกบัญญัติในกระทรวงสาธารณสุข เขาเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร แต่เป็นคนที่รักษาตัวเอง และที่มีการสูบเป็นหนึ่งในคำนิยาม “การบริโภค” เพราะเราต้องการควบคุม มิเช่นนั้น จะควบคุมไม่ได้

นายปานเทพ กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาล่าสุด คนไทยใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์ 98.1% ใช้เพื่อผ่อนคลาย 13.1% และเพื่อเข้าสังคม 0.9% แปลว่า คนไทยรักสุขภาพตัวเอง มีวุฒิภาวะในการใช้กัญชา และจากการวิจัยยังพบว่าในบรรดาการใช้กัญชาทั้งหมด มีการหยด กิน ผสม ในทางการแพทย์ 66% ลองลงมาต้ม ชง 23.7% พ่น ทา อาบ นวด 11.6% สูบ มวน 9.8% ซึ่งการสูบสามารถออกฤทธิ์เร็วทำให้รู้ว่าบริโภคมากเกินไปหรือไม่ ส่วนการกิน หยด ต้องอาศัยช่วงเวลาระยะหนึ่ง จึงไม่สามารถรู้ว่าบริโภคเกินไปหรือไม่ แม้หลายคนจะมองภาพลักษณ์การสูบไม่ดี แต่อีกมิติหนึ่ง การสูบจะทำให้การบริโภคผ่านการย่อยจะออกฤทธิ์แรงมากกว่า 3-7 เท่าตัว แปลว่า ทางสูบเป็นวิธีหนึ่งของประชาชน แม้จะมีผลเสียต่อทางเดินหายใจ และผลการศึกษาพบว่าประชาชนรู้รู้สึกสุขภาพดีขึ้นหรือดีขึ้นมาก 93% แสดงว่าตั้งแต่ปี 62-65 กัญชาอยู่กับประชาชนอย่างมีวุฒิภาวะได้

นายปานเทพ กล่าวว่า ที่ กมธ.ร่างมานี้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงปัจจุบัน และยังมีหน้าที่รายงานคณะกรรมการระหว่างประเทศ หลายคนกังวลคำว่านิยาม พวกเราไม่ได้แก้ แต่ในอนุสัญญาเดี่ยวไม่มีแบ่งกัญชา กับกัญชง ใช้สกุลเดียวกัน คือ Cannibes และคุมช่อดอก และยาง ดังนั้น กระบวนการจดแจ้งและอนุญาตคือต้องควบคุม ที่เราร่างตามเสียงกมธ.ข้างมากไม่ได้ร่างตามอำเภอใจ พวกเราก็หัวใจเดียวกันกับพวกท่านคือต้องการการควบคุม ที่ร่างเพิ่มข้อความมาก็เพื่อประโยชน์ในการใช้จากข้อเท็จจริงและการควบคุมต่อไปในอนาคต

“จะเป็นไปได้อย่างไรว่าพวกเราไม่ห่วงเรื่องกัญชาเสรีต่อเยาวชน ปัจจุบันมีการจับคนที่ใช้ ขาย กัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษถึงจำคุก แปลว่าเราพยายามควบคุม ยิ่งเป็นเด็ก เยาวชนโทษเขียนไว้รุนแรงมาก คือ จำคุก3 ปี ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยิ่งมีทำผิดอื่นด้วยโทษรุนแรงถึงสองเท่า เช่นลักลอบนำเข้าจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสน หากนำมาใช้กับเยาวชนโทษจำคุกถึง 10 ปี

ดังนั้น คำนิยามนี้เราจำเป้นต้องเดินต่อเพราะการผูกพันกับมาตราอื่นมันโยงกับคำนิยาม หากไปแปรญัตติใช้มาตราอื่น หรือแปรญัตติมาตราอื่นที่ไม่สัมพันธ์กันจะไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้” นายปานเทพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติเห็นด้วย ตามกรรมาธิการ 117 เสียง ไม่เห็นด้วย 74 งดออกเสียง 65


กำลังโหลดความคิดเห็น