xs
xsm
sm
md
lg

“หมอปัตพงษ์” ตอบทุกประเด็น ปชป.- เพื่อไทย เสนอแก้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ม.ขอนแก่น แจงทุกประเด็นข้อสงสัย กรณีพรรคประชาธิปัตย์-พรรคเพื่อไทย และศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดจุฬาฯ เสนอให้แก้ไข ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ด้าน “ประสิทธิ์ชัย” ชวนประชาชนร่วมพิจารณา พ.ร.บ.กัญชาฯ ไปพร้อมกับสภา 21 ธ.ค. ก่อนตัดสินอนาคต ส.ส.ในสมัยหน้า

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกัญชาศาสตร์ อภิปรายรายประเด็น ข้อเสนอให้แก้ไขร่าง พ.ร.บ.กัญชา ของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดจุฬาฯ โดยระบุว่า ทุกฝ่ายยอมรับว่า กัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ต้องมีมาตรการควบคุมผลกระทบทางลบ โดยเฉพาะต่อเด็กและเยาวชน และทุกฝ่ายยอมรับว่ามีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ผูกขาด ซึ่งตนขออภิปรายตอบข้อสงสัยทั้งหมดดังนี้

ข้อเสนอให้แก้ไขหมวดที่ 1 ด้านการกำหนดให้เป็นยาเสพติด โดยให้ทบทวนว่า กัญชาเป็นยาเสพติดหรือไม่ ควรบัญญัติให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเดี่ยว UN 1961 และควรป้องกันพ่อค้ายาเสพติดเข้ามาหาประโยชน์ ขอชี้แจงว่า กัญชามีฤทธิ์เสพติดน้อยกว่ากาแฟ และมีสรรพคุณช่วยทำให้เลิกหรือลดการใช้สารเสพติดรุนแรง สุรา และบุหรี่ได้ และการจัดให้กัญชาเป็นยาเสพติดโดยอนุสัญญาเดี่ยว UN 1961 หรือเมื่อ 61 ปีมาแล้ว ไม่ได้ใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องการปกป้อง ผลประโยชน์ทางธุรกิจ กลุ่มผู้มีอิทธิพลในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้กัญชาเป็นยาเสพติด โดยมองข้ามความจริงที่ว่าประชาชนชาวโลกใช้ประโยชน์จากกัญชามามากกว่า 10,000 ปี

นพ.ปัตพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมี 69 ประเทศ แก้กฎหมายให้ประชาชนเข้าถึงกัญชามากขึ้น เพราะได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีผลดีมากกว่าผลเสีย ผลเสียที่เกิดขึ้นก็สามารถควบคุมไม่ให้เกิดผลเสียรุนแรงได้ ปัจจุบันมี 24 มลรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกาแก้กฎหมายให้ใช้กัญชาแบบนันทนาการได้ และมี 3 ประเทศที่ศาลฎีกา ตัดสินให้การปลูกและการครอบครองกัญชาเป็นสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ คือ ประเทศแคนาดา แอฟริกาใต้ และเม็กซิโก ทั้ง ๆ ที่ประเทศเหล่านี้ก็เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ แต่เขาคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในประเทศและอำนาจอธิปไตยของตนมากกว่า เหตุผลที่ว่าเพื่อป้องกันพ่อค้ายาเสพติด ควรระบุพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายให้ชัดเจนว่าคืออะไร ใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ ไม่ว่าจะเคยเป็นพ่อค้ายาเสพติดมาก่อนหรือไม่ กฎหมายเป็นตัวกำหนดว่า จะให้อะไรเป็นหรือไม่เป็นยาเสพติด เมื่อกฎหมายเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ควรจะใช้คำนิยามตามกฎหมายเดิมมาตีตราผู้คน

ข้อเสนอให้แก้ไขหมวดที่ 2 ด้านการใช้ประโยชน์ และลดผลกระทบทางลบ ที่ระบุให้แก้ไข มาตรา 4 บทนิยามศัพท์ การปลูกการใช้ ในครัวเรือนต้องเพื่อการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช้นันทนาการ ขออภิปรายว่า การนิยามว่าเพื่อการแพทย์เท่านั้น ใครตัดสินใจ ถ้าให้แพทย์ตัดสินใจ จะเพิ่มภาระของแพทย์เกินจำเป็น นอกจากนี้ การแพทย์ยังมีความครอบคลุมไปถึงเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย กัญชามีศักยภาพป้องกันโรคเช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคตับ ฯลฯ

นอกจากนี้ คนไทยทั่วประเทศยังเป็นโรคปวดประสาทเรื้อรัง ประมาณ 4 ล้านคน สามารถซื้อยาแก้ปวดเคมีจากร้านชำใกล้บ้านอย่างง่ายดาย เป็นสาเหตุที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคไตเสื่อม การใช้ยากัญชาจะช่วยลดความปวดและทุกข์ทรมานของประชาชนได้ดีมาก จึงจะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคไตจากยาเคมีได้ด้วย

พ.ร.บ.นี้ ควรส่งเสริมการพึ่งตนเองของประชาชน ให้มีความสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้มากขึ้น จะลดค่าใช้จ่ายของครอบครัว ลดภาระแพทย์ สร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการค้นพบแล้วว่า การนำเอาใบหรือดอกกัญชาสดไปปั่นกับผักผลไม้ มีสรรพคุณในการรักษาบรรเทาโรคต่างๆได้ดี โดยไม่เมา การบัญญัติให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยจะเพิ่มภาระของแพทย์มากเกินไป โดยเฉพาะในเขตชนบทซึ่งมีแพทย์จำนวนน้อย อยู่แล้ว จะเพิ่มแรงกดดันทำให้แพทย์ลาออก หนีมาอยู่เขตเมืองมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยในเขตชนบทที่จำเป็นต้องพบแพทย์จริงๆได้รับผลกระทบ เสียโอกาส

ส่วนที่ระบุว่า ควรกำหนดอายุขั้นต่ำผู้ใช้ทางการแพทย์นั้น นพ.ปัตพงษ์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ในอิสราเอล พบว่า มีการใช้กัญชารักษาเด็กโรคมะเร็งที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี เด็กมีอายุยืนยาวขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น และยังพบอีกว่า มีการใช้กัญชารักษาเด็กโรคลมชักที่ดื้อยาแผนปัจจุบัน ถึง 7 ขนาน อายุน้อยกว่า 1 ปี ทำให้เด็ก มีอาการชักลดลง หรือหยุดชักได้ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ควรเป็นวิจารณญาณของแพทย์ผู้ให้การรักษา ถ้ากำหนดเรื่องอายุไว้ในกฎหมายแพทย์จะไม่กล้าสั่งใช้ให้ผู้ป่วยเด็ก เด็กที่เจ็บป่วยจึงจะเสียโอกาส


นอกจากนี้ ที่มีการระบุขอให้กำหนดอายุขั้นต่ำ ผู้สามารถสูบ และบางท่านระบุให้ห้ามทุกวัยนั้น ขอเรียนว่า ต้นทุนของกระบวนการตรวจสอบอายุจะสูงมากและถ้าเอาผิดจับกุมผู้ที่ฝ่าฝืนจะเพิ่มภาระของกระบวนการยุติธรรมและเพิ่มจำนวนผู้ต้องขังของประเทศ ในขณะที่ปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ ที่สำคัญกว่าจะขาดทรัพยากรไปดูแล


นพ.ปัตพงษ์ กล่าวด้วยว่า หากจับเด็กที่ทดลองใช้กัญชาไปขังคุก หรือลงโทษรุนแรง กลับจะสร้างปัญหาสังคมในระยะยาว กัญชาไม่ได้มีอันตรายมากอย่างที่ถูกโจมตี คนใช้เกินขนาดก็เกิดการเรียนรู้ เข็ดขยาด เลิก หรือเลี่ยงได้เอง ตัวอย่างในต่างประเทศมีมากมาย ดังนั้น มาตรการที่ควรลงทุนคือการลงทุนด้านการศึกษากับเยาวชน ให้การศึกษาที่สร้างวิจารณญาณ ไม่เชื่อข่าวลวงง่ายๆ เมื่อคนมีการศึกษาที่ดี มีวิจารณญาณที่ดีแล้ว เขาจะไม่เอาอนาคตของตนไปเสี่ยง หรือทำให้ชีวิตของตนตกต่ำ

ส่วนข้อเสนอให้มีมาตรการควบคุมอุปกรณ์การสูบนั้น ก็จะเป็นการเพิ่มภาระของกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ในต่างประเทศมีการออกแบบอุปกรณ์การสูบแบบจำลอง ไม่ได้นำไปใช้สูบจริง แต่เพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว ผู้ค้าไม่ได้ก่ออาชญากรรมใดๆ

“บทเรียนจากต่างประเทศ พบว่า การแก้ กม.กัญชา ช่วยลดผลกระทบด้านสังคม ลดจำนวนคดีกัญชา ลดปัญหาที่จะเกิดกับเด็กและเยาวชนได้อย่างชัดเจน เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งของการแก้กฎหมายยาเสพติด ของประเทศต่างๆ คือ การมองเห็น “ผลเสีย” ของการลงโทษทางอาญา ภายใต้กฎหมายเดิม ที่สร้างความเสียทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน มากกว่าปัญหาที่เกิดจากยาเสพติดเสียอีก” นพ.ปัตพงษ์ กล่าว

ข้อเสนอให้แก้ไขหมวดที่ 3 สำหรับข้อเสนอด้านการประกอบธุรกิจ กระบวนการอนุญาต ไม่ให้ขออนุญาตทางอิเลกทรอนิกส์ ต้องขออนุญาตด้วยตนเอง เพราะระยะเวลา 60 วัน สั้นเกินไปนั้น นพ.ปัตพงษ์ กล่าวว่า จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสำหรับคนที่อยู่ไกล ปัจจุบันมีเทคโนโลยี ที่ช่วยทำให้กระบวนขออนุญาตมีประสิทธิภาพได้อยู่แล้ว ส่วนคุณสมบัติของผู้ขออนุญาตที่เข้มงวด เช่น ประวัติอาชญากรรม ก็มีอยู่แล้ว ในมาตรา 16/1 วงเล็บ 1 นอกจากนี้ยังมองว่า ต้องนิยามคำว่า “ประวัติอาชญากรรม” ให้ชัดเจน เพราะจะเป็นการกีดกันคนที่ถูกตีตราเพราะนิยามของกฎหมายเดิม ที่ระบุให้กัญชาเป็นยาเสพติด ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่ให้โอกาสที่เคยทำผิดพลาดในอดีต กลับตัวเป็นคนดี ดังนั้นจึงควรมีมาตราที่กำหนดการนิรโทษกรรม ยกเลิกประวัติอาชญากรรม

ส่วนข้อเสนอให้ แยกประเภทใบอนุญาต ปลูก แปรรูป ผลิตเป็นยา ขาย ทดสอบ วิจัย ก็มีระบุไว้แล้ว ในมาตรา 15 ให้กำหนดในกฎกระทรวง และต้องไม่มีผล เป็นการกีดกันหรือผูกขาด และ มาตรา 15/1 วงเล็บ 1, 2 และ 3 ส่วน มาตรา 15 ไม่อนุญาตเชิงพาณิชย์ หรืออุตสาหกรรม ก็ควรคงไว้ เพราะเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และเป็นโอกาสแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับข้อเสนอที่ให้เปิดโอกาสสร้างรายได้ให้ทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ห้ามผูกขาด ก็มีระบุไว้แล้ว ในมาตรา 15 ให้กำหนดในกฎกระทรวง และต้องไม่มีผล เป็นการกีดกันหรือผูกขาด เช่นเดียวกับข้อเสนอที่ว่า การปลูกในครัวเรือน ถ้าไม่ให้ขาย ให้งดเสีย นั้น ในร่าง พ.ร.บ. บัญญัติไว้แล้ว ว่า ปลูกขายได้ แต่ต้องขออนุญาต

ข้อเสนอให้แก้ไขหมวดที่ 4 นพ.ปัตพงษ์ กล่าวถึงข้อเสนอ ด้านอำนาจหน้าที่ของ คณะกรรมการกัญชา, รมต., อย. ที่ระบุถึง อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกัญชา ควรมีเรื่องการป้องกันและลดผลกระทบจากกัญชาด้วยนั้น ก็มีระบุไว้แล้ว ในมาตรา 14 วงเล็บ 1 ส่วนที่ให้ทบทวนอำนาจของ รมต.เรื่องการอนุญาตไปพลางก่อน ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เช่นเดียวกับข้อเสนอให้ทบทวน มาตรา 37/5 เรื่อง อำนาจของ รมต.ในการกำหนดสถานที่สูบนั้น ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว พรบ.ควรมีความยืดหยุ่นในระดับหนึ่งในการปฏิบัติให้สอดคล้องสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนที่ให้ทบทวน เรื่อง อำนาจหน้าที่ของ อย. ที่ให้ทำเรื่องส่งเสริมกัญชา เพราะมีหน้าที่ควบคุมนั้น ปัจจุบัน อย. กำลังทำงานส่งเสริมอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบัน โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ลงทุนศึกษาวิจัยและสนับสนุนผู้ประกอบการ, มีจัดตั้งองค์กรมาดูแลชัดเจน อย.มีความเชี่ยวชาญเรื่องยาสูง สามารถกำหนดแนวทางให้ผู้ประกอบการเดินตามได้สอดคล้องกับแนวทางการอนุญาต ใน พรบ. สามารถดูภาพรวมและออกแบบ กม. ลูก ตาม กม.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร, อาหาร, ยา, เครื่องสำอาง ผู้ขออนุญาตจะได้ไม่สับสน เพิ่มต้นทุนและเวลา

“และ นี่คือ โอกาสของการสร้างความมั่นคงทางยา ให้กับประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยพึ่งตนเองด้านยาและสุขภาพได้มากขึ้น อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” นพ.ปัตพงษ์ กล่าวในตอนท้าย


ด้าน นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … และเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย กล่าวว่า ขอให้ประชาชนจับตา สาระ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะเข้าพิจารณาในสภาอีกรอบวันพุธที่ 21 ธันวาคมนี้ มี ส.ส.หลายพรรคจ้องตัดมาตรา 18 ซึ่งเป็นมาตราที่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการปลูกครัวเรือนละ 15 ต้น ออกจาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ เพราะมองว่าหากประชาชนปลูกได้ คนจะติดกัญชากันทั้งประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น