xs
xsm
sm
md
lg

ชัดแล้ว! ปีงบ 67 ไฟเขียว “อบจ.- เทศบาล” ขอตั้งงบ ผ่าน สงป.โดยตรงได้เลย ส่วน “อบต.” ยังต้องเบิกจ่ายผ่านมหาดไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชัดแล้ว! ปีงบ 67 ไฟเขียว “อบจ.- เทศบาล” ขอตั้งงบฯ ผ่าน สงป. โดยตรง ส่วน “อบต.” ยังต้องเบิกจ่ายจากหน่วยงานกลาง “สังกัดมหาดไทย” เหมือนเดิม ให้เพิ่มสัดส่วนเงินอุดหนุนทั่วไปมากกว่าเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ กับ อปท.ทุกประเภทจากปีงบ 66 ในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยร้อยละ 30 ให้จัดสรรเท่ากัน ร้อยละ 15 ตามจำนวนประชากร ร้อยละ 15 ตามพื้นที่ และร้อยละ 40 ผกผันตามรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุน พร้อมตั้งชดเชยรายได้จากผลกระทบจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในรายการเงินอุดหนุนทั่วไป

วันนี้ (4 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

เห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เฉพาะในส่วนที่ระบุว่าเป็นเทศบาล ให้แก้ไขเป็นเทศบาลนคร (ทน.) และเทศบาลเมือง (ทม.) และในส่วนที่ระบุว่าเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้แก้ไขเป็นเทศบาลตำบล (ทต.) และ อบต. ให้สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาให้ ทต. ยังคงขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) และ ให้สถ.พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง มติดังกล่าว สอดคล้องกับมติ ก.ก.ถ. ที่ได้รับทราบข้อมูลว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สงป. ให้ อบจ. และเทศบาล เป็นหน่วยรับงบประมาณ และยื่นคำขอตั้งงบประมาณต่อ สงป. โดยตรง สำหรับ อบต. ยังคงขอตั้งงบประมาณผ่าน สถ.เช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม กรณีของเทศบาลตำบล ให้เลื่อนการขอ เป็นหน่วยรับ/ยื่นคำขอตั้งงบประมาณโดยตรง ไปเป็นปีหน้า

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ เสนอ ให้ “ประเภทเงินอุดหนุน” ที่จัดสรรให้แก่ อปท. ให้แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เงินอุดหนุนทั่วไป และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยจะต้องมีสัดส่วนเงินอุดหนุนทั่วไปมากกว่าเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ส่วนการจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. แต่ละประเภท ให้จัดสรรเงิน อุดหนุน เป็น 3 กลุ่ม

“ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กทม. และเมืองพัทยา กลุ่มที่ 2 อบจ. และเทศบาล และ กลุ่มที่ 3 อบต. โดยให้ อปท. แต่ละกลุ่มได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในสัดส่วนที่เท่ากัน”

ขณะที่การจัดทำคำขอตั้งงบประมาณ ให้ อปท. ที่เสนอขอตั้งงบประมาณโดยตรงและหน่วยงาน ที่เสนอขอตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. เสนอตั้งงบประมาณที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนทั่วไป สำหรับชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี

กรณี อปท. ที่เสนอคำขอตั้งงบประมาณไปยัง สงป. โดยตรง สำหรับ กทม. และเมืองพัทยา ให้เสนอขอตั้งงบประมาณ ไปยัง สงป. และให้ สงป. พิจารณารายละเอียดงบประมาณที่เหมาะสมและอยู่ในกรอบวงเงินที่ กทม. และเมืองพัทยา ได้รับการจัดสรร

สำหรับ อบจ. และเทศบาล ให้เสนอขอตั้งงบประมาณ โดยแบ่งเป็น “เงินอุดหนุนทั่วไป” ตามอำนาจหน้าที่และภารกิจ ถ่ายโอน ซึ่งจัดสรร เพื่อให้ อปท. มีอิสระในการใช้จ่ายเงินตามความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นให้จัดสรร

“โดยร้อยละ 30 จัดสรรเท่ากัน ร้อยละ 15 ตามจำนวนประชากร ร้อยละ 15 ตามพื้นที่ และร้อยละ 40 ผกผันตามรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุน”

กรณี “เงินอุดหนุนทั่วไป” ที่กำหนดวัตถุประสงค์สำหรับใช้จ่ายเพื่อดำเนินภารกิจต่างๆ ให้ตั้งงบประมาณตามรายการที่เคยได้รับจัดสรร ตามเป้าหมายและความจำเป็น ในการใช้เงิน

รวมทั้งเงินอุดหนุนที่ ก.ก.ถ. ให้ความเห็นชอบแล้ว เช่น เงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และเงินอุดหนุนสำหรับชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี

กรณี “เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” เป็นเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้แก่ อปท. เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของเงินอุดหนุนแต่ละประเภท ให้ตั้งงบประมาณสำหรับรายการ ที่เคยได้รับจัดสรรตามเป้าหมายและความจำเป็นในการใช้จ่ายเงิน รวมทั้งเงินอุดหนุนที่ ก.ก.ถ. ให้ความเห็นชอบแล้ว ได้แก่ เงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

กรณี อปท. ที่เสนอขอตั้งงบประมาณ ผ่าน สถ. กระทรวงมหาดไทย ได้แก่ อบต. โดยแบ่งเป็น เงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอน ซึ่งจัดสรรเพื่อให้ อปท. มีอิสระในการใช้จ่ายเงินตามความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น

“ควรตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 โดยร้อยละ 30 จัดสรรเท่ากัน ร้อยละ 15 ตามจำนวนประชากร ร้อยละ 15 ตามพื้นที่ และร้อยละ 40 ผกผันตามรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุน”

กรณี เงินอุดหนุนทั่วไปที่กำหนดวัตถุประสงค์สำหรับใช้จ่าย เพื่อดำเนินภารกิจต่างๆ ให้ตั้งงบประมาณตามรายการที่เคยได้รับจัดสรร ตามเป้าหมายและความจำเป็น ในการใช้เงิน รวมทั้งเงินอุดหนุนที่ ก.ก.ถ. ให้ความเห็นชอบแล้ว เช่น เงินอุดหนุนเพื่อการป้องกันและควบคุมไฟป่าของอปท. เงินอุดหนุนเพื่อบำรุงรักษาถนน และเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อการถ่ายโอน รพ.สต. และเงินอุดหนุนสำหรับชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้างตามมติคณะรัฐมนตรี

กรณี “เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” เป็นเงินอุดหนุนจัดสรรให้แก่ อปท. เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของเงินอุดหนุนแต่ละประเภทให้ตั้งงบประมาณสำหรับรายการที่เคยได้รับจัดสรรตามเป้าหมายและความจำเป็นในการใช้จ่ายเงิน รวมทั้งเงินอุดหนุนที่ ก.ก.ถ. ให้ความเห็นชอบแล้ว เช่น เงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อการถ่ายโอน รพ.สต.

กรณีการเสนอขอตั้งงบประมาณไว้ที่หน่วยงานอื่น ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอขอตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุน 3 รายการ ได้แก่

“เงินอุดหนุนเพื่อเป็นแรงจูงใจในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท้องถิ่น เงินอุดหนุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของ อปท. และ เงินอุดหนุนเพื่อส่งเสริมการประเมินมาตรฐานขั้นต่ำเพื่อการประกันคุณภาพการจัดบริการสาธารณะของ อปท.”

ในสัดส่วนของสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้เสนอขอตั้งงบประมาณเป็นเงินอุดหนุนโครงการตามแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น