xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวหนุนศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาปีละ 2.4 พันล้าน ประเดิม 2 พัน อปท. มท.สบช่องของบกลาง 994 ล้าน เป้า 1 แสน ละลายพฤติกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไฟเขียวเพิ่มงบอุดหนุน ปีละ 2.4 พันล้าน ประเดิมตั้ง “ศูนย์คัดกรอง/ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด” 2,125 อปท. เล็งจัดตั้งใน รพ.สต.- ไม่จ้างบุคลากรใหม่ ด้าน “ปค.มท.” สบช่อง! จ่อขอ “งบกลาง” 994 ล้าน ผุดโครงการช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยา หลัง Re X-ray เป้า 1 แสน เน้นอบรม รุ่นละ 50 คน 2 พันรุ่น ถึงสิ้นงบฯปีหน้า มีอบรมอาชีพ ละลายพฤติกรรม “มอญซ่อนผ้า-พระลอตามไก่”

วันนี้ (2 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า วานนี้ (1 ธ.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

เห็นชอบตามข้อเสนอคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ให้จัดตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. รายการเงินอุดหนุนสำหรับสนับสนุนศูนย์คัดกรองและศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม (ยาเสพติด) “จำนวน 2,125 แห่ง วงเงิน 2,477,524,689 บาท เป็นรายการใหม่ตั้งแต่ปีงปบระมาณ พ.ศ. 2567 และปีงบประมาณต่อไป”

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เจ้าของโครงการ คาดว่า จะสามารถดำเนินการคัดกรองช่วยเหลือให้เข้ารับการบำบัดรักษา ตลอดจนดำเนินการฟื้นฟูสภาพทางสังคมส่งเสริมการประกอบอาชีพ การศึกษา การติดตามปัญหาสุขภาพและการให้การสงเคราะห์อื่น ๆ แก่ผู้ติดยาเสพติด หรือการบำบัดรักษาให้กลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างยั่งยืน

มีกลุ่มเป้าหมายในเทศบาลนคร (ทน.) 6 แห่ง เทศบาลเมือง (ทม.) 85 แห่ง เทศบาลตำบล (ทต.) 765 แห่ง และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 1,269 แห่ง

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 9 ธ.ค. 2564 มาตรา 116 ที่กำหนดให้มี “ศูนย์คัดกรองการใช้ยาเสพติด ในพื้นที่ระดับตำบลทุกจังหวัด”

และมาตรา 118 กำหนดให้กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร จัดตั้ง “ศูนย์คัดกรองและศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมแก่ผู้ติดยาเสพติด” หรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาให้ครอบคลุมพื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล (อปท.) และระดับหมู่บ้าน

และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งและรับรองคุณภาพศูนย์คัดกรอง พ.ศ. 2565

ข้อ 4 ให้มีศูนย์คัดกรองในพื้นที่ระดับตำบลทุกจังหวัด เช่น รพ.สต. หรือสถานที่อื่นๆ ที่ อปท. กำหนด

รวมถึงประกาศคณะกรรมการบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดตั้งและรับรองคุณภาพศูนย์ฟื้นฟูทางสังคม พ.ศ. 2565 ข้อ 4 ให้มีศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมระดับต่างๆ ทั้ง สังกัด มท. และ กทม. หรือพื้นที่อื่นที่เหมาะสม

ก.ก.ถ. ยังให้ สถ. รับข้อเสนอแนะ ไปคำนวณและระบุรายละเอียดค่าใช้จ่ายและหน่วยงานรับผิดชอบแต่ละรายการให้มีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์คัดกรองฯ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่มีหรือปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการอีกหน้าที่หนึ่ง

ได้แก่ หัวหน้าศูนย์คัดกรองฯ จะมอบหมายผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือปลัด อปท. สำหรับเจ้าหน้าที่ศูนย์คัดกรองฯ จะมอบหมายเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข กำนันผู้ใหญ่บ้าน ประธานชุมชน หรือผู้แทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน

ทั้งนี้ จะไม่มีการจ้างบุคลากรใหม่ รวมถึงสถานที่ตั้งของศูนย์คัดกรองฯ ของ อปท. แต่ละแห่ง จะใช้พื้นที่ที่มีความพร้อมและเหมาะสม เช่น ส่วนราชการ โรงเรียน รพ.สต. โดยไม่มีการสร้างขึ้นใหม่

ส่วนที่กระทรวงมหาดไทย มีรายงานว่า ในเร็วๆ นี้ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เตรียมผุด “โครงการช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ของศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมจังหวัด”

ภายหลังได้เข้าดำเนินการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผู้ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ตามนโยบาย Re X-ray

“จะขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมงบประมาณทั้งสิ้น 994,000,000 บาท”

เพื่อจัดโครงการ ช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยา รุ่นละ 50 คน จำนวน 2,000 รุ่น รวมทั้งสิ้นจ านวน 100,000 คน กำหนดระยะเวลาด าเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 กันยายน 2566

พบว่า มีการกำหนดจัดกิจกรรม ระหว่าง วันที่ 1-9 และ วันที่ 10-15 เช่น กิจกรรมอบรมอาชีพ

ขณะเดียวกัน ตามตาราง นอกจากจะมีกิจกรรม สวดมนต์/ออกกำลังกาย/อบรมแบ่งกลุ่ม การปฏิเสธเข้าถึงสิ่งเสพติดประเภทต่างๆ แล้ว

ยังมีกิจกรรมละลายพฤติกรรม เช่น มอญซ่อนผ้า พระลอตามไก่ อยู่ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น