xs
xsm
sm
md
lg

“ก.ก.ถ.” รับลูกแก้ กม.ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ระยะสั้น 19 ข้อ พ่วงปรับปรุง พ.ร.บ. 16 มาตรา 23 ประเด็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รับลูก คณะทำงานแก้ กม.ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ปี 62 ชงต่อคลัง-ธนารักษ์-มหาดไทย หลัง “ก.ก.ถ.” รับหลักการปรับปรุงจัดเก็บฯ ระยะสั้น 19 ข้อ พ่วงปรับปรุง พ.ร.บ. 16 มาตรา 23 ประเด็น เก็บเพิ่ม “โรงงาน/ห้างสรรพสินค้า” ร้อยละ 0.5 เข้มงวด “แลนลอร์ด” ปรับพื้นที่เกษตรเลี่ยงภาษี ยัน! “หมู่บ้านสวัสดิการทหารบก บ้านธนารักษ์” ต้องถูกประเมิน เพิ่มภาษีอากาศยาน/หลุมจอด เสนอแก้ กม.เก็บภาษี “เสาโทรศัพท์/กังหันลม/แผงโซลาร์เซลล์” ลดหย่อนร้อยละ 90 ให้โฉนดชุมชน เพิ่ม “ภาษีต่างชาติ” สูงกว่าอัตราที่กำหนด ตั้งขั้นต่ำ 200 บาท/ทรัพย์สิน

วันนี้ (1 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

เห็นชอบในหลักการ แนวทางการแก้ไขปัญหาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

เป็นไปตามที่ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้แต่งตั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ดวงมณี เลาวกุล เป็นประธานคณะทำงาน

เป็นข้อเสนอการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในระยะสั้น 19 ข้อ และ ข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ. จำนวน 16 มาตรา 23 ประเด็น

โดยข้อเสนอการปรับปรุงการจัดเก็บภาษี

1) อัตราภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของให้เช่า เช่น บ้าน หอพัก อพาร์ตเมนต์ คอนโดให้เช่า ควรจัดเก็บภาษีในอัตราอื่นๆ (พาณิชย์) ไม่ใช่อัตราการใช้ ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย

เนื่องจากวัตถุประสงค์คือการให้เช่า ซึ่งเป็นการพาณิชย์ เจ้าของไม่ได้ใช้เพื่ออยู่อาศัย และเดิมการให้เช่าในลักษณะนี้ก็มีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ซึ่งเป็นการจัดเก็บภาษีสำหรับการประกอบการพาณิชน์อยู่แล้ว แนวทางนี้ก็เพื่อให้ อปท. ได้มีรายได้ภาษีที่ใกล้เคียงกับภาษี โรงเรือนและที่ดินเดิม

2) ปรับปรุงอัตราภาษีจัดเก็บจริงให้มีความเหมาะสม เนื่องจากภาษีสำหรับกิจการบางประเภทลดลงจากเดิมเป็นจำนวนมาก เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ห้างสรรพสินค้า

“โดยอาจเพิ่มอัตราอื่นๆ จากเริ่มที่ร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.5 เพื่อให้เทียบเคียงกับ ฐานรายได้เดิมที่ อปท.เคยเก็บได้”

3) ควรมีการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามควรแก่สภาพให้มีความชัดเจน เพื่อลดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษี

และมิให้ที่ดินรกร้าง ปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตรที่ไม่เป็นจริง หรือออก กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

4) ควรมีการกำหนดคุณสมบัติของเจ้าของที่ดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อเกษตรกรรมให้ชัดเจน เพื่อลดช่องโหว่ของกฎหมายที่ถูกใช้ไปในการหลีกเลี่ยงภาษี และเกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่เป็นเกษตรกรจริง

5) มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการโดยเฉพาะที่สามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนและแก้ไขข้อมูลที่เกิดข้อผิดพลาดทางระบบแผนที่ภาษีที่ดินของ อปท. และให้มี call center เกี่ยวกับแผนที่ภาษีเป็นการเฉพาะในเวลาที่มีปัญหา

6) เพิ่มการประสานข้อมูลที่อยู่ของนิติบุคคลจาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

7) เสนอให้ อปท. สามารถเข้าถึงและค้นหาข้อมูลทะเบียนราษฎรได้

8) ข้อมูลที่ดินจากกรมที่ดิน ตามมาตรา 10 เสนอให้เพิ่มข้อมูลสิ่งปลูกสร้างด้วย

9) ควรกำหนดแนวเขตการปกครองให้ชัดเจนในกรณีที่มีพื้นที่ทับซ้อนกัน โดยประสานกับทางกรมการปกครอง (กรณีองค์การบริหารส่วนตำบล) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (กรณีเทศบาล)

10) ควรระบุให้ชัดเจนว่า หมู่บ้านสวัสดิการต่างๆ เช่น หมู่บ้านสวัสดิการทหารบก บ้านธนารักษ์ ต้องอยู่ในข่ายที่ถูกประเมินและเสียภาษี และบังคับให้ต้องแสดงหลักฐานการครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ต่อเจ้าพนักงาน อปท.

11) ควรออกกฎหมายกำหนดผู้รับผิดชอบในการรังวัดที่ดิน ที่มีผู้ครอบครอง/ใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ ว่า เป็นหน้าที่ของหน่วยงานใด (เช่น อปท. สำนักงานที่ดิน หรือหน่วยงานอื่นที่ดูแลพื้นที่นั้น)

หรือเป็นหน้าที่ร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ค่าใช้จ่ายในการรังวัดเป็นความรับผิดชอบของผู้บุกรุก

12) เสนอให้กรมธนารักษ์ กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้ครอบคลุมทรัพย์สินที่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีทุกประเภท ทุกแปลง ให้เป็นปัจจุบันและมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของพนักงานเจ้าหน้าที่

13) เสนอให้กรมธนารักษ์กำหนดหลักเกณฑ์การเทียบเคียงสิ่งปลูกสร้างแต่ละประเภทของบัญชีรายการสิ่งปลูกสร้างให้ชัดเจนมากขึ้น และต้องจำแนกประเภทละเอียดมากขึ้นตามลักษณะสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่

14) ทรัพย์สินที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางอากาศ เฉพาะส่วนของที่ดินที่ใช้เป็นทางขึ้น-ลง อากาศยาน ทางขับ ลานจอดอากาศยาน และหลุมจอดอากาศยานระยะไกล

“ปัจจุบันมีการลดภาษีอยู่ที่ร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย ควรลดการลดภาษีลงให้ต่ำกว่าร้อยละ 90”

15) ควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ปิดพักกิจการเนื่องจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เช่น กิจการโรงแรม เป็นต้น

16) เสนอให้กรมที่ดิน เพิ่มชื่อที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ (ตาม passport) ของชาวต่างชาติที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพื่อยืนยันตัวบุคคลในการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ อปท.

17) การคำนวณฐานภาษีของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในพื้นที่โฉนดชุมชน ให้มีการกำหนดเพิ่มเติมในประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย

เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดเก็บภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่มีการใช้ประโยชน์หลายประเภท โดยให้ใช้มูลค่าของที่ดินหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเฉพาะพื้นที่รายแปลงของสมาชิกแต่ละรายมาคำนวณ เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานภาษี

18) กำหนดการลดหย่อนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร้อยละ 90 ให้กับผู้เสียภาษีที่ใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรในพื้นที่โฉนดชุมชน

19) กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมในพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้มีการจัดเก็บภาษีสำหรับผู้เสียภาษีชาวต่างชาติ ให้มีอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราภาษีสำหรับผู้เสียภาษีที่มีสัญชาติไทย

ส่วนข้อเสนอในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

1) มาตรา 5 ควรกำหนดนิยามของสิ่งปลูกสร้าง ให้ชัดเจน และครอบคลุมสิ่งปลูกสร้างที่เข้าข่ายจะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และครอบคลุมถึง สิ่งปลูกสร้างบางประเภทที่เคยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน เช่น เสาสัญญาณโทรศัพท์กังหันลม แผงโซลาร์เซลล์ ฯลฯ

รวมทั้ง ลานดิน และลานคอนกรีต ที่มีการใช้ประโยชน์ เป็นต้น เพื่อทำให้ อปท. มีรายได้ภาษีที่มากขึ้นใกล้เคียงกับการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินแต่เดิม

2) มาตรา 5 พื้นที่ราชการ/พื้นที่ของรัฐ ที่ปล่อยให้เอกชนเช่าทำกิจการเชิงพาณิชย์ ให้หน่วยงานราชการ/หน่วยงานของรัฐเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี อาจให้หน่วยงานราชการ/หน่วยงานของรัฐตั้งงบประมาณเป็นงบประมาณรายจ่ายภาษีหรือเป็นรายจ่ายจากเงินนอกงบประมาณ

3) มาตรา 9 ควรแก้ไขเป็น “ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ อยู่ในวันที่ 1 มกราคม ของปีใด เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีสำหรับปีนั้น

ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นี้การเสียภาษีของผู้เสียภาษีตาม พ.ร.บ.นี้ ไม่เป็นเหตุให้เกิดสิทธิตามกฎหมายอื่น” เพื่อให้สอดคล้องกับนิยาม “ผู้เสียภาษี” ตามมาตรา 5

4) มาตรา 9 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้สำนักทะเบียนกลาง ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีหน้าที่แจ้งข้อมูลตัวบุคคลเกี่ยวกับชื่อ ชื่อสกุล ที่อยู่ และข้อมูลอื่นที่จำเป็น ณ วันที่ 1 มกราคม

ให้ อปท. ภายในวันที่ 15 มกราคม ของทุกปี เพื่อให้การแจ้งประเมินภาษีของ อปท. เป็นไปด้วยความครบถ้วนถูกต้อง ทำนองเดียวกับมาตรา 10 ที่กำหนดให้กรมที่ดินจัดส่งข้อมูลให้กับ อปท.

5) มาตรา 9 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้หน่วยงานของรัฐอื่นซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจัดส่งข้อมูลรูปแปลงที่ดินและข้อมูลการครอบครองหรือทำประโยชน์ในทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ณ วันที่ 1 มกราคม

ให้ อปท.เพื่อใช้ในการเตรียมการจัดเก็บภาษีภายในวันที่ 15 มกราคมของทุกปี ทำนองเดียวกับ มาตรา 10 ที่กำหนดให้กรมที่ดินจัดส่งข้อมูลให้กับ อปท.

6) มาตรา 13 ปรับปรุงกฎหมายสำหรับการส่งเอกสารของ อปท.ไปยังผู้เสียภาษีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยการแก้ไขเพิ่มเติมความ ในวรรคสองของมาตรา 13 ว่า

“ถ้าไม่สามารถดำเนินการตามวิธีปกติได้ ให้ปิดหนังสือในที่เห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่น ที่อยู่หรือสถานที่ทำการของผู้เสียภาษีนั้น หรือลงประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์/หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หรือเผยแพร่ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ อปท.ก็ได้”

7) มาตรา 37 กำหนดอัตราภาษีสำหรับผู้เสียภาษีชาวต่างชาติให้มีอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 37

8) มาตรา 40 ลดการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างลงให้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท เช่น ไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือ 10 ล้านบาท โดยปรับขึ้นเป็นสัดส่วนตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมธนารักษ์ตามรอบการประเมิน

ในกรณีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม และในมาตรา 41 กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย

และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักการความสามารถในการจ่ายภาษี (Ability to pay principle)

และเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีที่ต้องเสียภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 เป็นต้นไป ซึ่งแม้มูลค่าฐานภาษีจะไม่สูงแต่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี

9) มาตรา 40 เพิ่มเติมการยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี ให้ครอบคลุมผู้เสียภาษีที่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินประเภทอื่นที่ไม่ใช่เฉพาะเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เช่น โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ และโฉนดตราจอง เท่านั้น

รวมทั้งผู้ถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรในพื้นที่โฉนดชุมชน ตลอดจนให้ครอบคลุมถึงผู้เสียภาษีที่เป็นผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีกลุ่มต่างๆ

นอกจากนั้น อาจต้องปรับแก้ มาตรา 41 กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและเจ้าของในพื้นที่โฉนดชุมชน ใช้เป็นที่อยู่อาศัยควบคู่ไปด้วย เพื่อให้ได้รับการยกเว้นในกรณีบ้านหลังหลักด้วย

10) การยกเว้นภาษีในมาตรา 40 และมาตรา 41 ไม่รวม ผู้เสียภาษีชาวต่างชาติ

11) มาตรา 42 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น เป็นของต่างเจ้าของกัน สิ่งปลูกสร้างหลายหลังบนที่ดิน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน และเจ้าของสิ่งปลูกสร้างเป็นเจ้าของเดียวกัน

ให้คำนวณมูลค่าสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดรวมกันเป็นฐานภาษี เพื่อให้เกิดความชัดเจนเช่นเดียวกับกรณีที่ดิน

12) มาตรา 44 ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มเติม ให้เจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต่อเจ้าหน้าที่ ณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือยื่นทางไปรษณีย์ทุกปี

และหากพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับแบบแสดงรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ย่อมมีอำนาจที่จะสำรวจเพิ่มเติม และทำการประเมินเรียกเก็บภาษีต่อไป ซึ่งจะทำให้ไม่มีปัญหาการเลือกแจ้ง/ไม่แจ้งภาษี และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งจดหมายประเมินได้

13) มาตรา 46 เพิ่มเติมว่า กรณี อปท. แจ้งประเมินภาษีภายหลังเดือนกุมภาพันธ์ ให้ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ชำระภาษีภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการประเมิน

14) มาตรา 47 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เป็นผู้มีหน้าที่ชำระภาษีแทนผู้เสียภาษี ในกรณีผู้เสียภาษีเป็นบุคคลล้มละลายหรือถูกศาลสั่งให้ทรัพย์สินอยู่ในบังคับแห่งคดี

15) มาตรา 53 ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายโดยเพิ่มเติม ให้ อปท.สามารถประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างย้อนหลังได้ ไม่เกิน 6 ปี

เช่นเดียวกับแนวปฏิบัติที่มีการกำหนดไว้ในกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ เพื่อรองรับปัญหาการประเมินที่อาจตกหล่นในปีหนึ่งๆ เพื่อทำให้ อปท.ไม่สูญเสียรายได้ภาษีในส่วนนี้

16) มาตรา 54 และมาตรา 81 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนแก่ผู้เสียภาษีที่มาขอรับเงินคืนจากร้อยละ 1 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 0.5 ต่อเดือน

เนื่องจากอัตราปัจจุบันเป็นอัตราที่สูงเกินควร และให้เพิ่มเติมว่า การจ่ายดอกเบี้ยแก่ผู้เสียภาษีเป็นกรณีที่ อปท.ประเมินภาษีผิดเท่านั้น ไม่รวมกรณีที่ผู้เสียภาษีไม่ได้ตรวจสอบและไม่แจ้งแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด

นอกจากนั้น ควรปรับลดเงินเพิ่มในมาตรา 70 ด้วย เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกัน

17) มาตรา 59 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้ระงับสิทธิการเช่าหรืออนุญาตให้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ กรณีปรากฏหลักฐานว่ามีภาษีค้างชำระ

18) มาตรา 61 แก้ไขเป็น เพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดภาษีค้างชำระ ให้ อปท. มีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษีค้างชำระภายใน เดือนพฤษภาคมของปี หรือภายใน 1 เดือนหลังจากระยะเวลาที่ขยายออกไป

เพื่อให้มาชำระภาษีค้างชำระภายในเดือนกรกฎาคมของปี หรือภายใน 2 เดือนหลังจากเดือนที่มีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษีที่มีภาษี ค้างชำระ พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามที่กำหนดในหมวด 9

หมายเหตุ : กำหนดเวลาการรับแจ้ง อ้างอิงจากมาตรา 71 พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

19) มาตรา 67 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติกรณีการขายทอดตลาดที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามคำพิพากษาให้ครอบคลุมถึงเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามกฎหมายล้มละลายด้วย

และกำหนดเพิ่มเติมให้ชัดเจนว่า กรณีหนี้บุริมสิทธิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างค้างชำระกำหนดให้เป็นลำดับหนี้แรก

มาตรา 67 เสนอแก้ไขเป็นดังนี้ ในกรณีที่เป็นการขายทอดตลาดที่ดิน หรือ สิ่งปลูกสร้างใดตามคำพิพากษา ก่อนทำการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้ง อปท.

ให้แจ้งรายการภาษีค้างชำระ สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

และเมื่อทำการขายทอดตลาดแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กันเงินที่ได้รับจากการขายทอดตลาดเป็นลำดับแรกไว้เท่ากับจำนวนค่าภาษีค้างชำระ และนำส่งเงินดังกล่าวให้อปท.เพื่อชำระหนี้ค่าภาษีที่ค้างชำระดังกล่าว

20) มาตรา 68 การกำหนดเบี้ยปรับของภาษีค้างชำระ ควรกำหนดอัตราเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนเดือนที่เกินกำหนดเวลาชำระภาษี

21) มาตรา 90 ควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติ กรณีกำหนดอัตราเปรียบเทียบปรับตามกฎหมายให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

22) ควรกำหนดจำนวนภาษีขั้นต่ำที่ต้องชำระ เพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนในการดำเนินการจัดส่งเอกสารในแต่ละราย เช่น 200 บาทต่อรายต่อทรัพย์สิน

23) กำหนดเพิ่มเติมว่า เมื่อกรรมสิทธิ์หรือการครอบครองของเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้โอนตกไปยังบุคคลอื่น ให้ผู้รับโอนมีหน้าที่ร่วมกับเจ้าของที่ดินเดิม เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ค้างชำระ


กำลังโหลดความคิดเห็น