xs
xsm
sm
md
lg

‘ศักดิ์สยาม’ สั่งเร่งอัปเกรดสนามบิน ทย.รับบินตรง ตปท. ส่วนโอน 3 สนามบินคาดชง ครม.ต้นปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” เร่งสนามบินภูมิภาค ยกระดับรับบินตรงเที่ยวบินระหว่างประเทศลดแออัดส่วนกลาง ผุด MRO 3 แห่ง "นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี พิษณุโลก" และสนามบินคาร์โก้ ดันไทยฮับโลจิสติกส์ โอน 3 สนามบินคาดชง ครม.ต้นปี 66

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีวันคล้ายวันสถาปนากรมท่าอากาศยาน (ทย.) ครบรอบ 89 ปี ว่า การพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาค 29 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของ ทย. เพื่อให้เป็นโครงข่ายการบินและเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ และเป็นฟันเฟืองสำคัญของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย

ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลประกาศคลายล็อกมาตรการโควิด-19 การเดินทางกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่วันที่ 1-28 พ.ย. 2565 มีผู้โดยสารทางอากาศ ทั้งระหว่างประเทศ และภายในประเทศ ประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งได้มอบแนวทางปฏิบัติของสนามบินภูมิภาคยึดเป้าหมายผู้โดยสารต้องสะดวก ปลอดภัย สะอาด ไม่มีปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญต้องบริหารจัดการเรื่องกระเป๋าสัมภาระให้มีประสิทธิภาพ ในระยะเวลาที่เหมาะสมไม่ล่าช้า


ทั้งนี้ ทย.ได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาและการเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยาน สู่การเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ การริเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน หรือ MRO เพื่อรองรับอากาศยานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เบื้องต้นที่มีศักยภาพ 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินนครราชสีมา สนามบินสุราษฎร์ธานี และสนามบินพิษณุโลก ในรูปแบบ PPP ซึ่งเท่าที่หารือมีเอกชนสนใจ เช่น แอร์บัส ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาธุรกิจ New S-Curve ของประเทศไทย

นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อมุ่งให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการส่งสินค้าในภูมิภาค และการบูรณาการท่าอากาศยานส่วนภูมิภาคร่วมกับแผนแม่บท MR-MAP เพื่อให้เกิดการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบขนส่ง ล้อ ราง อากาศ อย่างสมบูรณ์ เช่น สนามบินพิษณุโลก, สนามบินขอนแก่น ห่างจากแนว MR 9 ประมาณ 30 กม., สนามบินขอนแก่น ห่างจากแนว MR2 ประมาณ 30 กม.

และ ทย.ยังอยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาสนามบินแห่งใหม่เพื่อรองรับความต้องการเดินทาง ได้แก่ บึงกาฬ สตูล และมุกดาหาร อีกด้วย


นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ทย.ต้องไปศึกษาว่าสนามบิน 29 แห่งมีสนามบินไหนที่มีศักยภาพรองรับเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศได้ ซึ่งอาจต้องเพิ่มความยาวรันเวย์ หรืออาคารผู้โดยสาร เพื่อลดแออัดของสนามบินนานาชาติหลัก 6 แห่งของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บวกกับสนามบินกระบี่ของ ทย. ซึ่งจะเป็นการใช้ทรัพยากรของสนามบินที่มีกายภาพเหมาะสมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

"ปัจจุบันมีสนามบินรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ คือ กระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ ในช่วงมีการแข่งขันกีฬา ที่มีการเดินทางจากต่างประเทศจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ต้องดูระบบโลจิสติกส์ต่อเชื่อมในอนาคตด้วยว่าจะมีสนามบินไหนเหมาะสมอีก"


@คาดโอน 3 สนามบินให้ ทอท. ชง ครม.ไตรมาส 1/66

นายศักดิ์สยามกล่าวถึงความคืบหน้าการโอนท่าอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ ให้ ทอท.เข้าบริหารจัดการแทน ทย.ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตรวจสอบที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินที่ก่อสร้างบนที่ดินราชพัสดุ เพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ โดยยืนยันว่าเงินชดเชยที่ ทอท. จะจ่ายให้กองทุนท่าอากาศยานจะได้มากขึ้นจากเดิมแน่นอน โดยจะสรุปและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในไตรมาส 1 ปี 2566


@ทย.ตั้งเป้าปี 66 ผู้โดยสารฟื้นเท่าปี 62 ที่ 16 ล้านคน

นายปริญญา แสงสุวรรณ อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้โดยสารสนามบินของ ทย.มีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค. ปี 2565 จะมีผู้โดยสารรวม 11.3 ล้านคน ขณะที่ปี 2562 ก่อนเกิดโควิด สนามบินของ ทย.มีผู้โดยสารรวม 16 ล้านคน โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2566 จำนวนผู้โดยสารจะกลับไปเท่ากับปี 2562


กำลังโหลดความคิดเห็น