“ศักดิ์สยาม” ตรวจ “สุวรรณภูมิ” ตม.นั่งเต็มเคาน์เตอร์ เซ็งเจอปัญหารอกระเป๋านาน หนักสุด 1.30 ชม. สั่ง “การบินไทย-BFS” ปรับปรุงใน 1 เดือนทำไม่ได้หาผู้ประกอบการใหม่ พร้อมสั่งเปิด SAT-1 ไตรมาส 1/66 คาดเห็นนักท่องเที่ยวจีน มี.ค. 66
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจติดตามความคืบหน้าตามข้อสั่งการในการเตรียมความพร้อมการให้บริการผู้โดยสารขาเข้าและขาออก และการอำนวยความสะดวกในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ว่า ภาพรวมช่วงประชุมเอเปกเป็นไปด้วยดี เจ้าหน้าที่ บุคลากรที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ โดยตั้งแต่วันที่ 16-20 พฤศจิกายน 2565 มีจำนวนผู้โดยสารทั้งสิ้น 610,419 คน
ขณะที่การให้บริการผู้โดยสาร นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางช่วงเวลามีผู้โดยสารหนาแน่นและเกิดปัญหาความล่าช้า ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานบูรณาการการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพิจารณาแนวทางการอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยเร่งแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วนภายใน 15 วัน ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาและจัดตั้งศูนย์สั่งการร่วม (Single Command Center) เพื่อติดตามสถานการณ์และประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แบบ Real Time เพื่อให้ Flow ผู้โดยสารมีการผ่านขั้นตอนตามกระบวนการต่างๆ อย่างสะดวก รวดเร็ว
โดยปัญหาแออัดบริเวณจุดตรวจหนังสือเดินทางผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศ ทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้บริการเต็มทุกเคาน์เตอร์ ซึ่งในส่วนของอัตรากำลังที่ไม่พอนั้น ตม.เกลี่ยเจ้าหน้าที่จากสนามบินนานาชาติอื่นที่ยังมีผู้โดยสารไม่หนาแน่นมาช่วยบริการที่สุวรรณภูมิก่อน ในช่วงที่ดำเนินการเรื่องการเพิ่มอัตรากำลัง โดย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ช่วยงบประมาณด้านเบี้ยเลี้ยงให้เจ้าหน้าที่
การทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน โดยการบริหารจัดการคิวรอ ผู้โดยสารได้รับการบริการที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยใช้เวลารอคิวเพื่อตรวจหนังสือเดินทางเฉลี่ย 15 นาทีต่อคน และใช้เวลาหน้าจุดตรวจหนังสือเดินทาง 60 วินาทีต่อคน ในช่วงเวลาคับคั่งที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก โดยล่าสุดพบว่าผู้โดยสารขาเข้า 3,000 คน สามารถระบายได้ภายในเวลา 20 นาที เท่านั้น ซึ่งถือว่าสามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว โดยคำนึงถึงมาตรฐานการตรวจฯ เป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบการปฏิบัติฯ
โดยจุดตรวจหนังสือเดินทางแก้ไขไปได้ด้วยความเรียบร้อย แต่ยังคงพบปัญหาในบางกรณีที่เครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Auto Channel) ไม่สามารถสแกนหนังสือเดินทางผู้โดยสารชาวไทยได้ เช่น หนังสือเดินทางที่ออกโดยเครื่อง Kiosk และหนังสือเดินทางที่ทำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา จะยังไม่สามารถใช้เครื่องตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Auto Channel) ได้ อย่างไรก็ตาม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 (บก.ตม.2) ได้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารคนไทยที่ไม่สามารถสแกนหนังสือเดินทางด้วยเครื่อง Auto Channel ไปตรวจหนังสือเดินทางผ่านเคาน์เตอร์ตามปกติ
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ขณะนี้มีปัญหาที่จุดรับกระเป๋าสัมภาระล่าช้า เนื่องจากปัจจุบันบริษัทผู้ให้บริการภาคพื้น (Ground Handling) จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS) ที่ประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ เนื่องจากช่วงโควิดบริษัทฯ มีการลดพนักงานและอุปกรณ์เกิดชำรุด ทำให้การบริการขนถ่ายกระเป๋าสัมภาระขาเข้ามีความล่าช้า เฉลี่ยประมาณ 40% จากเที่ยวบินทั้งหมด โดย BFS สามารถจัดการกระเป๋าให้ผู้โดยสารได้ประมาณ 25 นาที ส่วนการบินไทย ประมาณ30 นาที แต่พบบางเที่ยวบินการบินไทยใช้เวลาถึง1.30 ชม.
เบื้องต้นให้แจ้งข้อมูลประมาณการผู้โดยสารขาเข้ารายเที่ยวบินล่วงหน้าให้เจ้าหน้าที่หน้างานเพื่อเตรียมความพร้อม กรณีตรวจพบว่ามีการลำเลียงสัมภาระใบแรก (First Bag) ล่าช้าเกินกว่า 15 นาที จะดำเนินการแจ้งบริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นเร่งดำเนินการแก้ปัญหา ซึ่งขณะนี้บริษัทผู้ให้บริการภาคพื้นอยู่ระหว่างการจัดหาอุปกรณ์และบุคลากรมาให้บริการเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถขนถ่ายสัมภาระของเที่ยวบินต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ามอบให้ปลัดกระทรวงคมนาคมเร่งประชุมแก้ปัญหารับกระเป๋าสัมภาระล่าช้า โดยทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) กำหนด KPI ให้เวลาปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการภายใน 1 เดือน หากทั้ง 2 บริษัททำไม่ได้ตามแผน จำเป็นต้องเพิ่มผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามา เพราะตอนนี้แก้ปัญหา ตม.ได้แล้วแต่กลับมาติดเรื่องรับกระเป๋าเป็นคอขวดอีก เพราะจะเข้าไฮซีซัน ผู้โดยสารจะเพิ่มอีกมาก และคาดว่าไม่เกินไตรมาส 1/2566 หรือประมาณเดือนมีนาคม 2566 จะเห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับเข้ามา ดังนั้นต้องเตรียมพร้อมรับการเดินทางที่เพิ่มขึ้น
“เป้าหมายคือรอรับกระเป๋าต้องไม่เกิน 30 นาที ซึ่งตามเกณฑ์ ในการบริการ กรณีเครื่องบินลำใหญ่ จะต้องมีพนักงานและเครื่องมือ 3 ชุดบริการ แต่ตอนนี้เหลือชุดเดียว ทำให้ล่าช้า นอกจากนี้ให้ตรวจดูเงื่อนไขสัญญาด้วยว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการได้อย่างไร เพราะสัญญาทำกันมาในอดีตอาจจะไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยหลักการสายการบินจะเป็นผู้เลือกใช้บริการบริษัทไหน ซึ่งทาง BFS รับได้สัดส่วนประมาณ 20% พอสายการบินจะมาใช้เพิ่มเกรงจะทำให้ประสิทธิภาพลดลง”
นอกจากนี้ ให้ ทอท.เร่งดำเนินการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ในไตรมาส 1/2566 เพิ่มขีดความสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งจะมีพื้นที่ Visa on Arrival ซึ่งตนให้พิจารณาเรื่องเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทางด้วย เพื่อลดความแออัดในพื้นที่ตรวจหนังสือเดินทางบริเวณอาคารผู้โดยสารหลัก และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการผู้โดยสารได้ดียิ่งขึ้น
ส่วนการแก้ไขปัญหาความคับคั่งในการใช้บริการรถแท็กซี่สาธารณะ โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมทั้งเปิดช่องทางแท็กซี่เพิ่มเพื่อให้รถแท็กซี่สามารถเข้ามารับผู้ใช้บริการได้เร็วขึ้น รวมทั้งขยายพื้นที่รอคอยกดตั๋วแท็กซี่ และกำหนดจุดยืนรอคิวรับบริการแท็กซี่ เพื่อความเป็นระเบียบและลดความแออัดของผู้มาใช้บริการ ซึ่งทำให้ผู้โดยสารสามารถลดระยะเวลาในการรอคิวรถแท็กซี่เหลือเพียงประมาณ 10 นาทีต่อคน
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะที่เป็นสมาชิกให้บริการประมาณ 2,400 คัน ลดลงจากช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ที่มีผู้ขับขี่รถแท็กซี่สาธารณะที่เป็นสมาชิกประมาณ 4,200 คัน แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนรถแท็กซี่ที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่าเพียงพอต่อการให้บริการ เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขผู้ใช้บริการยังน้อยกว่าในช่วงก่อนการแพร่ระบาด Covid-19 โดยมีจำนวนเที่ยววิ่ง 6,500 เที่ยวต่อวัน ในขณะที่ช่วงก่อนการแพร่ระบาด Covid-19 มีเที่ยววิ่งสูงถึง 9,000 เที่ยวต่อวัน อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพิ่มการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ และพิจารณานำรถขนส่งสาธารณะประเภทอื่นๆ มาให้บริการเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการ
ปัจจุบันผู้โดยสารใช้เวลาตั้งแต่ลงเครื่องรับสัมภาระกระเป๋าจนออกจากท่าอากาศยาน มีระยะเวลาเฉลี่ยในกระบวนการขาเข้าระหว่างประเทศประมาณ 40 นาที ต่อผู้โดยสาร 1 คน ซึ่งถือว่าการบริการในภาพรวมทุกกระบวนการมีความคล่องตัวขึ้น
จากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในช่วงเดือนธันวาคม 2565 สนามบินสุวรรณภูมิจะมีจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศและภายในประเทศ รวมประมาณ 130,000 คน/วัน (เพิ่มขึ้น 13% จากเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวมประมาณ 115,000 คน/วัน) โดยเทียบก่อนเกิดโควิด ขณะนี้ผู้โดยสารระหว่างประเทศกลับมาอยู่ที่ระดับ 50% ผู้โดยสารในประเทศกลับมา 80% แล้ว