xs
xsm
sm
md
lg

เทศบาล-อบต. 7 พันแห่ง จ่อรับปีละ 500 ล้าน อานิสงส์แก้ไข กม.สรรพสามิต ถ่ายโอนรายได้ขายปลีกสุรา-ยาสูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จ่อแล้ว! ร่าง กม.สรรพสามิต ฉบับแก้ไข ถ่ายโอนอำนาจพ่วงเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ขายสุรา-ยาสูบ ยกให้ เทศบาล เมืองพัทยา อบต. และ กทม. จัดเก็บเฉพาะประเภท 2 “ขายปลีก” ส่งรายได้ปีละ 429.15 ล้าน เข้า อปท. 7,774 แห่ง ไม่ต้องนำส่งส่วนกลางเหมือนในอดีต เผย ต้องส่ง ก.คลัง ตัดสินใจ “ยกงบประมาณ” ตกเป็นของท้องถิ่น หลังยังห่วงรายได้เข้าประเทศ กอดแน่น “ประเภท 1 ค้าส่ง” จาก บรรดาเจ้าสัว

วันนี้ (23 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ความคืบหน้าต่อการยกร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (ร่าง พ.ร.บ.) ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ถ่ายโอนอำนาจการอนุญาตให้ขายสุราและยาสูบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามที่ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เห็นชอบ เฉพาะอำนาจการออกใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 (เฉพาะประเภทขายปลีก/สำหรับการขายสุราทุกชนิดครั้งหนึ่งจำนวนต่ำกว่า 10 ลิตร))

และอำนาจออกใบอนุญาตขายยาสูบประเภทที่ 2 (เฉพาะประเภทขายปลีก/สำหรับการขายปลีกยาสูบ ครั้งหนึ่ง จำนวนต่ำกว่าหนึ่งพันมวน ถ้าเป็นยาสูบประเภทยาเส้น ครั้งหนึ่งจำนวนต่ำกว่าสองกิโลกรัม ยาสูบประเภทยา เส้นปรุงหรือยาเคี้ยว ครั้งหนึ่งจำนวนต่ำกว่าสองร้อยกรัม)

โดยอำนาจ ที่ยังคงเป็นอำนาจของกรมสรรพสามิต ได้แก่ การออกใบอนุญาตขายสุรา ประเภทที่ 1 (ใบอนุญาตสำหรับการขายสุราทุกชนิด ครั้งหนึ่งจำนวนตั้งแต่ 10 ลิตรขึ้นไป/ขายส่ง)

ใบอนุญาตขายยาสูบประเภทที่ 1(ใบอนุญาตสำหรับการขายส่งยาสูบ ครั้งหนึ่งจำนวน หนึ่งพันมวนขึ้นไปถ้าเป็นยาสูบประเภทยาเส้น ครั้งหนึ่งจำนวนสองกิโลกรัมขึ้นไป ยาสูบประเภทยาเส้นปรุงหรือยาเคี้ยว ครั้งหนึ่งจำนวนสองร้อยกรัมขึ้นไป)

และประเภทที่ 3 ใบอนุญาตสำหรับการขายผลิตภัณฑ์ยาสูบ

ให้เป็นไปตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ด้านที่ 3 ด้านการจัดระเบียบชุมชน/สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อย

ได้กำหนดให้กรมสรรพสามิตถ่ายโอนอำนาจการอนุญาตให้ขายสุราและยาสูบให้แก่เทศบาล เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยรายได้และค่าธรรมเนียมการอนุญาตให้ตกเป็นรายได้ของ อปท.ในอนาคต

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

เห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการพัฒนา แก้ไข ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจให้แก่อปท.เสนอ เสนอร่างฯ ต่อกระทรวงการคลัง เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ ให้ เพิ่มบทนิยามคำว่า “เจ้าพนักงานท้องถิ่น” และ “อปท.” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 4)

กำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับใบอนุญาตขายสุราฯ หรือใบอนุญาต ขายยาสูบประเภทที่ 2 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจเปรียบเทียบปรับ และให้เงินค่าปรับตกเป็นรายได้ของอปท.มีอำนาจในการเปรียบเทียบปรับในกรณีที่เป็นความผิด

ตามมาตรา 196 มาตรา 194 และมาตรา 205 อันเกิดจากใบอนุญาตขายสุราฯ หรือใบอนุญาตขายยาสูบ ประเภทที่ 2 ให้เป็นอำนาจของอปท.เท่านั้น อธิบดีหรือคณะกรรมการเปรียบเทียบคดีไม่มีอำนาจในการเปรียบเทียบตามมาตรานี้(เพิ่มมาตรา 137/1)

กำหนดให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้อธิบดีหรือคณะกรรมการหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการเปรียบเทียบคดี (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 139)

กำหนดให้ อปท. ได้แก่ เทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา และอปท.อื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง

แต่ไม่รวมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีอำนาจออกใบอนุญาตสุราฯ และให้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราประเภทที่ 2 ตกเป็นรายได้ของ อปท. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 155)

มีอำนาจออกใบอนุญาตขายยาสูบฯ และให้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายยาสูบประเภทที่ 2 ตกเป็นรายได้ของ อปท. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 167)

กำหนดให้กรมสรรพสามิต มีหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมและดำเนินการถ่ายโอนภารกิจการออกใบอนุญาตให้ขายสุราและยาสูบให้แก่ อปท.ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ

รวมถึงจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต หรือการเพิกถอนใบอนุญาต โดยให้อปท.จัดส่งข้อมูลดังกล่าวต่อกรมสรรพสามิต (เพิ่มมาตรา 7)

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ก.ก.ถ. กล่าวว่า ทั้ง 9 หน่วยงานเห็นด้วยกับหลักการของร่างฉบับนี้ คณะอนุกรรมการฯ ให้ท้องถิ่นเป็นผู้อนุมัติการขายปลีก การขายส่งกรมสรรพสามิตขอไว้คงเดิม

“คณะอนุกรรมการ ได้แก้ไขตามที่กรมสรรพสามิต ได้ขอไว้แล้ว ส่วนเรื่องส่งให้กระทรวงการคลัง ให้ความเห็นชอบงบประมาณให้ตกเป็นของท้องถิ่น เมื่อผ่านกรรมการชุดนี้แล้วจะได้เสนอกระทรวงการคลังต่อไป”

มีรายงานว่า 9 หน่วยงาน ที่ให้ข้อเสนอแนะต่อร่างฉบับนี้ โดยเฉพาะ กระทรวงการคลัง มีความเห็นว่า กรมสรรพสามิตมีความจำเป็นต้องกำกับดูแลการอนุญาตขายส่งสุราและยาสูบ เนื่องจากมีผลโดยตรงกับการจัดเก็บภาษีและกรมสรรพสามิต

ยังต้องใช้ข้อมูลดังกล่าว เพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดนโยบายควบคุมและจำกัดการบริโภคสินค้าสุราและยาสูบในประเทศ

อีกทั้งการขายสุราและยาสูบที่เกี่ยวข้องกับการจัดระเบียบชุมชน/สังคม และการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นลักษณะการขายปลีก

ดังนั้น จึงควรกำหนดให้ อปท.มีอำนาจออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตขายสุราและยาสูบ เฉพาะประเภทขายปลีกเท่านั้น

ส่วนการดำเนินการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องจัดทำฐานข้อมูลและเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างอปท.ในฐานะผู้ออกใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตกับกรมสรรพสามิต ในฐานะผู้จัดเก็บภาษีและตรวจสอบปราบปรามการกระทำความผิด

“ซึ่งปัจจุบัน กรมสรรพสามิตมีรายได้จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 429.15 ล้านบาท/ปี หากถ่ายโอนให้ อปท. จำนวน 7,774 แห่ง เป็นผู้ดำเนินการควรพิจารณาความคุ้มค่าดังกล่าวด้วย”

เนื่องจากมาตรา 183 แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดว่า “ผู้ใดถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามมาตรา 182 แล้ว จะขออนุญาตใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่ง”

ดังนั้น ในการพิจารณาออกใบอนุญาตของ อปท.จึงต้องพิจารณาให้เป็นไปตามมาตรา 183 ด้วย

ควรมีการกำหนดกระบวนการจัดส่งและรวบรวมข้อมูลรายได้และใบอนุญาตของ อปท.ให้ชัดเจนเพื่อให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้องและรวดเร็ว

เนื่องจากเป็นการแยกผู้ออกใบอนุญาตการขายสุราและยาสูบออกจากผู้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ

รวมถึงความพร้อมในการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ระบบงานและระบบสารสนเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการให้บริการออกใบอนุญาตขายสุราและยาสูบและรับเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตสุทธิที่ อปท.จะได้รับ

เนื่องจาก อปท. อาจมีต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้น เช่น ต้นทุนการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างผู้ออกใบอนุญาตขายสุราและยาสูบและผู้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตสุราและยาสูบ

ต้นทุนการเตรียมความพร้อมระบบงานและบุคลากร ต้นทุนการตรวจสอบดำเนินงานต่างๆ เป็นต้น

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการกำหนดให้ถ่ายโอนภารกิจการอนุญาตให้ขายสุราและยาสูบให้แก่ เทศบาล เมืองพัทยา อบต.และ กทม.

เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.

ซึ่งเข้าข่ายการตรากฎหมายที่มีผลผูกพันทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังของรัฐ ตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

ซึ่งต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย

นอกจากนี้ ยังเข้าข่ายเป็นการตรากฎหมายที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องนำเงินรายได้หรือเงินอื่นใดส่งคลัง ซึ่งตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง

กำหนดให้กระทำได้เฉพาะในกรณีมีความจำเป็นและ เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานของรัฐนั้น

จะมีเงินเก็บไว้เพื่อการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของตน โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังก่อนเสนอกฎหมายต่อ ครม.

สุดท้าย การแก้ไขให้เงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขายสุราและยาสูบที่เกิดขึ้นในเขต อปท.ใดให้ตกเป็นรายได้ของ อปท.นั้น ตามความในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

“จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้บางส่วนที่ใช้ประกอบการจัดทำประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิสำหรับจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี”.


กำลังโหลดความคิดเห็น