xs
xsm
sm
md
lg

ดีอีเอสร่วมมือ 6 หน่วยงาน ตั้งเป้า 10 ล้านคน เข้าใช้งานระบบ Digital ID

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดีอีเอส ร่วมมือกับอีก 6 หน่วยงาน เร่งดำเนินการจัดทำกรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ.2565-2567 (Digital ID Framework) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของระบบ Digital ID ในหลายหน่วยงานให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) มีส่วนสำคัญและเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ดังนั้น Digital ID จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงและเข้ารับบริการดิจิทัลต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชนได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนให้ประเทศเกิดการพัฒนาและใช้งาน Digital ID มาอย่างต่อเนื่อง โดยเร่งพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล หรือ Face Verification Service (FVS) เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถลงทะเบียน หรือพิสูจน์ตัวตนด้วยภาพใบหน้าได้

นอกจากนี้ ยังเร่งจัดทำกฎหมายมาตรฐาน ตลอดจนหลักเกณฑ์การดูแลผู้ให้บริการการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่จะบัญญัติไว้ใน (ร่าง) พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. ... ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้นําร่าง พ.ร.ฎ.ขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว อยู่ระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ภายใน 180 วันหลังจากการประกาศ โดยมีสาระสำคัญคือ ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรม ซึ่งธุรกรรมที่มีความเสี่ยงสามารถกำกับดูแลได้ ซึ่งการใช้ระบบ Digital ID นั้นถือว่ามีความเสี่ยงทำให้ผู้ที่จะต้องเปิดใช้งานระบบดังกล่าวต้องขอรับใบอนุญาตจากคณะกรรมการผู้ให้บริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การบริการ Digital ID เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ขณะเดียวกัน ยังจัดทำมาตรฐานทางด้านเทคนิค หรือแนวทางการพัฒนาและใช้งานระบบ Digital ID ของประเทศ เพื่อให้การใช้งานมีมาตรฐานระดับสากล และส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน ได้แก่ กรมการปกครอง กรมสรรพากร สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงาน กสทช. บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จํากัด และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ร่วมจัดทำ “กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565-2567” หรือที่เรียกว่า “Digital ID Framework” ขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางของประเทศในการบูรณการความร่วมมือและการขับเคลื่อนงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ภายใต้แผนปฏิบัติการที่จะเร่งผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุผลสอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้งานของภาคประชาชน ภาคธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ Digital ID Framework พร้อมจัดทำโครงการและดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนด

“เป้าหมายของ Digital ID framework คือ การผลักดันให้บริการ Digital ID ไปถึงมือประชาชน สามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชนได้โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำซ้อน มีบริการที่ประชาชนเข้าใช้งานด้วย Digital ID ได้จริง ปัจจุบันมีบริการนำร่องต่างๆ เกิดขึ้นแล้ว เช่น การยืนยันตัวตนด้วย Digital ID เพื่อยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากร การแจ้งย้ายที่อยู่ด้วยตนเองของกรมการปกครอง หรือการเปิดบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ แต่บริการเหล่านี้จะต้องมีเพิ่มขึ้นหลากหลายขึ้นและต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและบริการที่พร้อมใช้งานอย่างครอบคลุมทั้งการใช้งานของบุคคล นิติบุคคล และบุคคลต่างชาติ”

สำหรับ Digital ID framework ในระยะที่ 1 มีทั้งหมด 8 กลยุทธ์ ได้แก่

1.มี Digital ID ที่ครอบคลุมคนไทย นิติบุคคล และคนต่างชาติ พร้อมต่อยอดใช้งานทําธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้

2.ประชาชนสามารถใช้ Digital ID ที่เหมาะสมเข้าถึงบริการออนไลน์ได้

3.กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลและบริการ สนับสนุน การพิสูจน์ตัวตนคนไทยและคนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในไทย

4.ใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมของนิติบุคคล เป็นการใช้ Digital ID บุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้น ร่วมกับการมอบอำนาจหากจำเป็น 5.กรมพัฒนา ธุรกิจการค้า เป็นหน่วยงานหลักที่ให้ข้อมูลนิติบุคคล สนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคลด้วย Digital ID

6.ประชาชนเข้าถึงบริการออนไลน์ของรัฐได้ด้วย Digital ID ที่น่าเชื่อถือ โดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อน

7.ETDA ขับเคลื่อนนโยบาย Digital ID ในภาพรวม พร้อมพัฒนามาตรฐานกลาง ที่หน่วยงานกำกับแต่ละ Sector สามารถนําไปประยุกต์ใช้กับ Sector ของตนได้อย่างเหมาะสม

8.สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล หรือ สพร. (DGA) ให้พัฒนามาตรฐานบริการ Digital ID ของรัฐให้มีมาตรฐาน สอดคล้องและเชื่อมโยงระหว่างรัฐและเอกชนได้

โดยตั้งเป้าหมายผู้ใช้งานระบบ Digital ID จำนวน 10 ล้านคน จากเดิมที่เปิดให้ใช้งานจำนวน 3 ระบบ ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงิน โดยการพัฒนาระบบ NDID ที่พัฒนาโดยบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จํากัด มีผู้ใช้งานรวม 5,000,000 คน ส่วนกลุ่มโทรคมนาคม ผู้ให้บริการเครือข่ายที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และแอปพลิเคชัน D.DOPA ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และมีผู้ใช้งานรวมหลักแสนราย

ด้านนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอีเอส กล่าวเสริมว่า การพัฒนา Digital ID ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องมีองค์ประกอบของระบบบริการและโครงสร้างที่จําเป็นหลายส่วน โดยเฉพาะการให้บริการ Digital ID ของประเทศไทย ที่ผู้ให้บริการจากภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ประชาชนได้มีทางเลือกในการใช้บริการ เข้าถึงบริการของรัฐและเอกชนได้ด้วย Digital ID

ดังนั้น การขับเคลื่อนระบบนิเวศทางดิจิทัล ด้าน Digital ID มีกลยุทธ์หลักตาม “Digital ID Framework” ที่เป็นแกนกลางของการทำงานในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งในเชิงการพัฒนาการให้บริการด้าน Digital ID เพื่อตอบสนองต่อความต้องการให้เกิดการใช้งานในวงกว้างได้ดีขึ้นนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการทำงานร่วมกันของผู้เล่นแต่ละส่วนใน Digital ID Ecosystem มี 3 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ความปลอดภัยและความมั่นคง ประกอบด้วย การสร้างมาตรฐานกลางการให้บริการและเชื่อมโยงระหว่างกันได้ การดูแลให้บริการมีมาตรฐาน สอดคล้องตามเกณฑ์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริการด้าน Digital ID เป็นบริการที่มีความสำคัญ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยงในการใช้งานผ่านกลไกการกำกับดูแลที่เหมาะสม การต่อยอดด้วยแนวคิด Self-Sovereign Identity (SSI) และ Verifiable Credential (VC) ต่อยอดการให้บริการ Digital ID ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่ทำให้ User บริหารจัดการ ID และข้อมูลส่วนบุคคลของตนได้ดีขึ้น โดย User สามารถควบคุมการใช้งานได้ด้วยตนเอง

2.ราคาเหมาะสมทุกคนใช้งานได้ โดยกำหนด Business Model ที่ยั่งยืน เพื่อให้บริการ Digital ID สามารถให้บริการกับประชาชนในระยะยาวและยั่งยืนได้ และพัฒนาบริการ Digital ID โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

และ 3.ใช้ได้อย่างกว้างขวาง (Widely Available) โดยการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการทั้งของ IdP หรือผู้ให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่มีอยู่เดิม ให้รองรับความต้องการในการใช้งานจำนวน มากขึ้น และปรับให้ RP หรือผู้ให้บริการดิจิทัลที่ต้องอาศัยการยืนยันตัวตนจาก IdP ที่มีผู้ใช้งานมากๆ เป็น IdP เมื่อมีความพร้อม เนื่องจากมีฐานข้อมูลการให้บริการ User ที่สามารถนํามาช่วยในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนให้ RP รายอื่นๆ ได้ หรือการนํา FVS มาสนับสนุน IdP ในการพิสูจน์ตัวตนให้สะดวกขึ้น สร้างความเชื่อมั่นในการใช้งาน Digital ID ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าใจ มั่นใจและใช้งานได้ โดยเฉพาะการผลักดันให้ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ต่อยอดการให้บริการ Digital ID ให้ครอบคลุม Digital ID สำหรับนิติบุคคล ชาวต่างชาติ ส่งเสริมให้เกิดการใช้งาน Digital ID ที่หลากหลาย เกิด Super Use Case ของการใช้งาน Digital ID โดยเฉพาะการขับเคลื่อนในช่วงแรกควรให้ความสำคัญกับลักษณะของงานบริการที่มีผู้ใช้บริการวงกว้าง เพื่อให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่มี Digital ID ขยายวงกว้างมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น