ผอ. ETDA ยก 2 ใน 5 งานหลักปี 2565 มีอิมแพกต์ต่อคนไทยวงกว้าง งานแรกคือการกำกับดูแลดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) แบบเข้มข้นตามรอยญี่ปุ่นและยุโรป ที่ไม่เพียงจะช่วยให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคคนไทยมากขึ้น แต่ยังจะกระจายความรู้ไปสู่สังคมไทยได้ด้วย ส่วนงานที่ 2 คือการส่งเสริมให้เกิดระบบดิจิทัลไอดี (Digital ID Ecosystem) หรือการยืนยันตัวตนด้วยภาพถ่ายดิจิทัลที่จะปลดข้อจำกัด ให้คนไทยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาธนาคารเมื่อต้องการเปิดบัญชีใหม่
ทั้ง 2 งานนี้จะเริ่มออกฤทธิ์แรงขึ้นในปี 2566 ซึ่งเป็นปีที่ ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) จะใช้งบประมาณ 580 ล้านบาท ที่ได้รับมาตั้งแต่ตุลาคม 65 จัดสรรเป็น 11 โครงการที่เชื่อว่าจะพาประเทศไทยก้าวข้ามความท้าทายเรื่องการเตรียมความพร้อมคนในประเทศ ซึ่งแม้ว่าจะใช้งานดิจิทัลกันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่หลายคนยังมีความเข้าใจที่ไม่ดีพอ นำไปสู่การใช้งานที่อาจไม่คุ้มค่า และไม่รู้ช่องโหว่
นอกจากการเปิดตาให้คนไทยมีความรู้ ETDA ยังวางเส้นชัยในฝันไว้ที่ “โจทย์ 30:30” ซึ่งเป็นเป้าหมายการทำงานในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 66-70) โดยหวังจะเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็น 30% และวางเป้าให้ไทยเป็น 30 อันดับแรกของโลกที่มีความสามารถการแข่งขันทางดิจิทัล จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 40
***ต่อยอด 5 งานไฮไลต์ปี 65
ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กล่าวในงาน “ETDA 12 ปี #ชีวิตดี เมื่อมีดิจิทัล” ซึ่งเป็นเวทีเปิด 5 ผลงานเด่นรอบปี 2565 ว่า ภารกิจของ ETDA ยังคงอยู่ที่การสร้างมาตรฐานเพื่อให้ประเทศไทยมีระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในยุคดิจิทัล ไม่เพียงการทำให้รัฐบาลไทยมีกฎหมายที่สนับสนุนการสร้างระบบนิเวศที่ให้ประโยชน์สูงสุด แต่สิ่งที่ ETDA ต้องทำต่อไปคือการสร้างมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัย การแข่งขันที่เป็นธรรม การขยายผลระบบดิจิทัลไอดี และการเตรียมความพร้อมและหาทางแก้ไขเพื่อปกป้องกลุ่มเปราะบาง
“ปีที่แล้วแผนของ ETDA เป็นแผนที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ มาปีนี้เราตั้งเป้าใหม่จนถึงปี 2570 เพื่อให้ครอบคลุมชีวิตคนไทย”
1 ใน 5 งานไฮไลต์ปี 2565 ที่ ETDA เริ่มไว้แล้วคือการผลักดันแผนยุทธศาสตร์ชาติ ร่างแผนยุทธศาสตร์ธุรกรรมฯ ชาติปี 66-70 และการคาดการณ์อนาคตระยะ 10 ปี โดยศูนย์ Foresight Center by ETDA เพื่อหาแนวทางหรือข้อเสนอแนะเพื่อเตรียมสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ตรงนี้ชัยชนะ ย้ำว่า ETDA ต้องการนำดิจิทัลมาพัฒนาผู้มีส่วนได้เสียในระบบเศรษฐกิจไทยอย่างทั่วถึงโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งเป็นผู้สร้างจีดีพีรายหลักของประเทศ และกลุ่มผู้ให้บริการหรือเอกชนที่จะนำเอานวัตกรรมดิจิทัลมาสร้างเป็นบริการให้ประชาชนและรัฐได้ใช้งาน
งานที่ 2 คือ การผลักดันให้เกิดระบบยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล หรือดิจิทัลไอดี ซึ่งปี 2565 เป็นการปูพื้นฐานที่ทำให้ไทยมีถนนที่สร้างไว้แล้ว นั่นคือมาตรฐานที่จะทำให้การปลอมไอดีทำได้ยาก ETDA จะมุ่งสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นว่าบุคคลที่มาทำธุรกรรมนั้นไม่ใช่ตัวปลอม โดยปี 2565 เริ่มมีการใช้กับโครงการแซนด์บ็อกซ์ เป็นการใช้ในเอกชน หากทำได้จะปลดข้อจำกัดที่ทุกวันนี้ผู้คนยังต้องไปที่สาขาธนาคารเพื่อทำสัญญาสำคัญ ทั้งการกู้เงินซื้อบ้านและการเปิดบัญชี แต่ปี 2566 จะเริ่มมีการขยายมาดูเรื่องสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้องค์กรในประเทศไทยสามารถทำสัญญาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
งานที่ 3 ที่ ETDA จะโฟกัสต่อจากปี 2565 คือดิจิทัลแพลตฟอร์ม งานนี้ชัยชนะ ย้ำว่าการกำกับดูแลดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการสั่งของที่มีปัญหาซื้อของไม่ตรงปก ล้วนเป็นปัญหาที่เกิดบนแพลตฟอร์ม และ ETDA ต้องการเป็นกลไกที่จะสร้างความเชื่อถือว่า หากใครซื้อแล้วไม่ได้รับของที่ตรงใจ ควรจะต้องได้รับเงินคืน
“แต่ตอนนี้มีปัญหาเรื่องแพลตฟอร์มไม่รับผิดชอบ เราจึงต้องมีเครื่องมือสำหรับพูดคุยกับแพลตฟอร์ม เพื่อให้มีธรรมาภิบาลในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ETDA จะวิเคราะห์ปัญหา มีการพูดคุยกับสถาบันการเงิน ธนาคาร กลุ่มประกัน และความจำเป็นของแพลตฟอร์มอยู่ที่ระดับไหน เรารับฟัง เป็นที่มาของการทำกฎหมายฉบับนี้ ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นรอประกาศกฤษฎีกา หากประกาศแล้ว แพลตฟอร์มจะต้องมาจดแจ้งกับ ETDA ว่ามีรายได้เท่าใด บางแพลตฟอร์มมีผู้ใช้ในไทยเกือบ 50 ล้านคน แปลว่าคนไทย 50 ล้านคนล้วนมีความเสี่ยง หากมีกลไกรองรับความเสี่ยง คนไทยจะมีความสุขมากขึ้น”
งานที่ 4 เกี่ยวกับการปรับใช้และเปลี่ยนสู่ดิจิทัล หนึ่งในตัวอย่างที่ ETDA แสดงคือการช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยของไทยรู้วิธีแก้ปัญหาเมื่อซื้อพื้นที่ลงโฆษณาออนไลน์แล้วโฆษณาไม่ไปตามที่ต้องการ หรือการช่วยเอสเอ็มอีวางแผนการทำดิจิทัลมาร์เกตติ้ง และการเติมเทคโนโลยีด้านอื่นเพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ดีขึ้น
สุดท้าย งานที่ 5 เกี่ยวข้องกับการสร้างคน ETDA ต้องการพัฒนาคนไทยให้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างรู้เท่าทัน มีการอบรมแก่โค้ชดิจิทัลชุมชนและสถานศึกษา รวมถึงการให้พื้นที่ขอความช่วยเหลือเมื่อตกเป็นเหยื่อผ่านศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ 1212
***แพลตฟอร์มล่ม ต้องชดใช้คนซื้อโฆษณา!
ผอ.ETDA เชื่อว่าการดำเนินงานของ ETDA ทำให้ประเทศไทยมีทิศทางธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ตรงเป้าหมายและประเทศจะมีข้อมูลสะท้อนภาพธุกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศสำหรับพยากรณ์และวางแผนต่อในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่สำคัญ ภาพฝันของ ETDA คือแพลตฟอร์มต้องมีมาตรการดูแลธุรกิจไทยเมื่อระบบล่ม (ดาวน์) ถือเป็นมิติใหม่ของประเทศไทยเนื่องจากที่ผ่านมาโอกาสทางธุรกิจที่คนไทยสูญไปเพราะความผิดพลาดของระบบบนแพลตฟอร์มนั้นไม่เคยได้รับการเยียวยามาก่อน
“เราทำมาแล้วคือเก็บข้อมูลเบื้องต้นว่ามีกี่แพลตฟอร์ม วิเคราะห์ความเสี่ยงแล้วจึงค่อยทำงานต่อ” ชัยชนะระบุ “เป็นเรื่องธรรมดาที่แพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องต่อต้าน”
แม้ชัยชนะ จะเชื่อว่าการกำกับดูแลแพลตฟอร์มที่อาจจะบังคับใช้ได้ในปี 2566 นั้นเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากหากบังคับใช้เร็วกว่านี้แรงต่อต้านอาจจะมากกว่าอย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลนี้มีไทม์ไลน์ยืดเยื้อมานานหลายปีแล้วนับตั้งแต่ ETDA ได้ประกาศในช่วงกรกฎาคม2564ว่าเริ่มศึกษาตัวอย่างกฎหมายที่มีการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลและธุรกิจบริการดิจิทัลจากประเทศต่างๆ จนมีการจัดทำแนวทางการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทยและได้เกิดเป็น (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ... แล้ว
ร่างกฎหมายฉบับนี้มีต้นแบบจากกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องนี้หลายฉบับ เช่น กฎหมาย Platform-to-business regulation (P2B regulation) ที่จะดูแลการให้บริการของผู้ให้บริการสื่อกลางออนไลน์ (Online Intermediation Services) กับผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม (Business user) ร่างกฎหมาย Digital Services Act (DSA) และ Digital Markets Act (DMA) ที่อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมาย รวมถึงกฎหมายของญี่ปุ่นที่ดูแลความโปร่งใสและความเป็นธรรมในความสัมพันธ์ระหว่างแพลตฟอร์มกับผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มธุรกิจ
“จากการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1212 เราสามารถแก้ปัญหาได้ 95% สูงกว่า 80% ในปีก่อนหน้านี้ อีก 5% ที่แก้ไม่ได้นั้นเกิดขึ้นเพราะขาดการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม เนื่องจากเมื่อไปคุยแพลตฟอร์มถึงปัญหาที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดอย่างปัญหาซื้อขายสินค้าออนไลน์ แต่แพลตฟอร์มบอกว่าไม่ใช่แพลตฟอร์มสำหรับขาย ดังนั้น จึงแก้ปัญหาให้ไม่ได้ จากนี้หากพบปัญหาแล้วคุยกับแพลตฟอร์มจะสามารถดำเนินการปิดร้านได้ จากที่ผ่านมาไม่เคยช่วยปิดให้” ชัยชนะ กล่าว “ปีหน้าจะมีกฎหมายกำกับแพลตฟอร์ม จะมีหน่วยงานจำนวนมากมาจดแจ้งกับ ETDA เราจะวิเคราะห์ความเสี่ยง และมีมาตรการในการควบคุมความเสี่ยงต่อไป”
นอกจากนี้ คนไทยจะไม่ถูกกำหนดให้ต้องมาทำธุรกรรมสำคัญที่สาขาธนาคารเพราะสามารถใช้ภาพใบหน้าของกรมการปกครอง ในกระบวนการตรวจสอบยืนยันตัวบุคคลได้อย่างไรก็ตาม ETDA ยอมรับว่ายังมีความเสี่ยงแม้จะเพิ่มความสะดวกสบาย เชื่อว่าจะต้องมีการออกมาตรการกำกับดูแลเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นคู่ไปด้วย
ETDA แสดงความเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากได้รับประโยชน์จากการอบรมออนไลน์มากมายที่จัดขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เน้นให้ความรู้เรื่องการทำงานทางไกลในช่วงโควิด-19 การออกใบกำกับภาษีออนไลน์สำหรับลดหย่อนภาษี ซึ่งมีการใช้แล้ว 5 แสนกว่าฉบับผ่านผู้ให้บริการ
สำหรับเอกชนไทยระดับผู้ให้บริการ ETDA ตั้งความหวังว่าปี 2566 จะขยายวงมอบแรงสนับสนุนให้กว้างขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาสามารถครอบคลุมเพียง 5-10 รายเพราะบุคลากรจำกัด โดยจะมุ่งสร้างโซลูชันในราคาเข้าถึงได้ พร้อมกับการจับคู่ธุรกิจที่ยังต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ ชัยชนะเชื่อว่า ETDA จะมีส่วนสนับสนุนเอกชนระดับผู้ให้บริการที่เห็นโอกาสและลงมือสร้างบริการที่มีลักษณะเหมือนกับสิ่งที่บริการต่างชาติให้บริการอยู่แล้ว เนื่องจากการกำกับดูแลแพลตฟอร์มจะทำให้เอกชนคนไทยแข่งขันได้ เพราะจะมีข้อมูลที่รู้ว่า แพลตฟอร์มนั้นใช้เทคโนโลยีใด ซึ่งจะทำให้เอกชนไทยมีมาตรฐาน สามารถพัฒนาโซลูชันที่แข่งขันได้
หากมองในระยะยาวงานต่อไปของ ETDA ที่จะมีอิมแพกต์กับคนไทยวงกว้างในอนาคตอาจไม่ใช่การจัดระเบียบดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือการเปิดทางให้คนไทยไม่ต้องไปธนาคารเพื่อเปิดบัญชี แต่อาจอยู่ที่การสร้างมาตรฐาน AI ซึ่ง ETDA มุ่งระวังไม่ให้เกิดความเสี่ยงกับคนไทย
“ปี 66 เราจะเก็บข้อมูล ต่างประเทศมีกฎหมาย AI เช่น ยุโรปที่ห้ามใช้ AI ติดตามประชาชน ต่างจากบราซิลที่อนุญาตแต่กำหนดให้ผู้พัฒนาต้องทำตามมาตรฐานที่กำหนด เราเริ่มมีการนำผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาพิจารณาเป็นกรณีสำหรับประเทศไทยแล้ว” ชัยชนะทิ้งท้าย “ทั้งหมดนี้เราทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีพันธมิตร เช่น สภาผู้บริโภค องค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อทำให้ชีวิตคนไทยทุกกลุ่มง่ายขึ้น สะดวกขึ้น มั่นใจขึ้น ปลอดภัยขึ้น มีชีวิตดิจิทัลที่ดีขึ้น”