อย่าอ้าง ปชช.! “อัษฎางค์” ถาม “ธนาธร” หนุนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “สาธารณรัฐ” หรือไม่ เอาให้เคลียร์ “แอนดรูว์” สื่อ 3 นิ้ว ปูด “ธรรมนัส” ไปพบ “บางคน” ที่ดูไบ “ปิยบุตร” ห้าวใหญ่ ปลุก ส.ส.ปฏิวัติ ยกเลิก 112
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (1 พ.ย. 65) เพจเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ของนายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความ ถาม ตอบ “ธนาธร” ระบุว่า
“ความเห็นต่างทางการเมือง เกี่ยวข้องอะไรกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”
…………………………………………………………………
11 ต.ค. 2565 - นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า “นิรโทษกรรม-ปฏิรูปสถาบัน-ICC บันไดสามขั้นสู่การคืนความยุติธรรมในยุคเปลี่ยนผ่าน”
…………………………………………………………………
ประเด็นที่หนึ่ง
• ธราธร
ประเด็นที่ผมอยากย้ำอีกครั้งในที่นี้ คือ ความจำเป็นที่รัฐจะต้องคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เห็นต่าง เพื่อให้สังคมก้าวไปข้างหน้าได้ หลุดพ้นจากวังวนความขัดแย้ง แตกแยก เกลียดชังไม่สิ้นสุด
• อัษฎางค์
การแสดงความคิดเห็นที่เห็นต่าง กับ จงใจทำผิดกฎหมาย มันต่างกันอย่างสิ้นเชิง
…………………………………………………………………
ประเด็นที่สอง
• ธนาธร
มีปัจจัยที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่เติบโตบนความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ สังคมที่คนเห็นต่างจะไม่ถูกฆ่าหรือกลายเป็นอาชญากร
คำถามของผม (ธนาธร) ด้วยความห่วงใยต่อสถาบันกษัตริย์ และต่ออนาคตของประเทศ ด้วยความตระหนักถึงความหนักของปัญหานี้
ผม (ธนาธร) ถามว่า คนที่คิดแบบนี้สมควรถูกฆ่าตายหรือ?
พวกเขาควรถูกตราหน้าว่า เป็นอาชญากรหรือไม่?
คุณอยู่ร่วมกับพวกเขาในสังคมได้รึเปล่า?
• อัษฎางค์
ตั้งแต่เกิดมา 50 กว่าปี ยังไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ว่า ผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกฆ่าหรือกลายเป็นอาชญากร ธนาธรช่วยบอกรายชื่อคนที่ต้องตายหรือเป็นอาชญากรเพราะเห็นต่างมาเป็นหลักฐานประกอบการพูดด้วย อย่ากล่าวหาลอยๆ
…………………………………………………………………
ประเด็นที่สาม
• ธนาธร
การยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ วันนี้ต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ และมีความคิดในเรื่อง Republic ว่าอาจเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทย
• อัษฎางค์ ขอตอบ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติว่า
มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง
ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน
มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ
หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทําน้ันเป็นอันใช้บังคับมิได้
มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี”
…………………………………………………………………
**ความเห็นต่างทางการเมือง เกี่ยวอะไรกับการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์**
…………………………………………………………………
มาตรา 116 ผู้ใดกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอัน มิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต
(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กําลังข่มขืนใจ หรือใช้กําลังประทุษร้าย
(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ (๓) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี”
สรุปได้ว่า มาตรา 116 คือ ใครก็ตามที่บอก เขียน หรือทำวิธีอื่นๆ เพื่อให้กฎหมายเปลี่ยนแปลง ขัดขืนอำนาจรัฐ หรือทำให้คนจำนวนมากทำผิดกฎหมาย อาจเข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมายนี้นั่นเอง บางครั้งเรียกว่าความผิดฐาน “ยุยง ปลุกปั่น”
…………………………………………………………………
ประเด็นที่สี่
ที่ ธนาธร กล่าวว่า “ต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ และมีความคิดในเรื่อง Republic ว่าอาจเป็นรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทย”
ธนาธร อ้างเสียงของประชาชนว่าต้องการการปกครองแบบสาธารณรัฐ ซึ่งประชาชนเอาความคิดนี้มาจากใคร?
ใครที่ว่านั้น ทั้งฝ่ายเขาและฝ่ายเราก็รู้ดีว่าเป็นใคร
นี่เป็นการแสดงว่า ธนาธร เห็นด้วยหรือสนับสนุนแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ หรือไม่ ?
มาตรา 5 กำหนดเอาไว้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ดังนั้น บทบัญญัติใดของกฎหมายใดๆ ก็ตาม จะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้
ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ดังนั้น ใครจะคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเป็นอย่างอื่นไม่ได้
ประชาชนที่ถูกธนาธรกล่าวอ้าง หรือตัวของธราธรเอง คิดเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ ? เอาให้เคลียร์ !
ขณะเดียวกัน แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชลล์ นักข่าวชาวสกอตแลนด์ หนึ่งในสมาชิกขบวนการล้มล้างสถาบัน ซึ่งมีภรรยาเป็นคนไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Andrew MacGregor Marshal โดยลงภาพ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งกำลังตกเป็นข่าวว่า อาจจะย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า พร้อมระบุข้อความบางส่วนว่า ร.อ.ธรรมนัส บินจากกรุงเทพฯ ไปยังดูไบ วันนี้ (31 ต.ค.) ด้วยสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบิน EK375 นี่คือ ภาพของเขาที่เอมิเรตส์ เลาจน์ สนามบินสุวรรณภูมิ จุดประสงค์การเดินทางของเขาไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พวกเราทุกคนรู้ว่าใครอยู่ดูไบ
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก่อนหน้านี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวข้อ ต้องมี “ส.ส.แบบปฏิวัติ” ให้มากกว่า “ส.ส.แบบราชการ”
โดยระบุว่า ในช่วงยามหัวต่อหัวเลี้ยวทางการเมืองเช่นเวลานี้ ในช่วง interregnum ที่สิ่งเก่ากำลังจะตาย แต่ยังไม่ตาย สิ่งใหม่กำลังจะเกิด แต่ยังเกิดไม่ได้
สภาผู้แทนราษฎรต้องมี ส.ส.แบบปฏิวัติ ให้มากกว่า ส.ส.แบบราชการ ส.ส.แบบราชการ (Bureaucrat MP) คือ คนที่ได้เป็น ส.ส.แล้ว ก็อยากเป็นอีก ราวกับตำแหน่ง ส.ส. เป็นอาชีพ หรือสมบัติของตระกูลตนเอง คนแบบนี้ จะเฉื่อยชา เสมือนถูกหลอมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐ ทำเท่าที่ทำ ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง
อะไรก็ตามที่อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการพ้นจากตำแหน่งของเขา เขาจะไม่ทำอะไรก็ตามที่ทำให้เขารักษาตำแหน่งได้ ต่อยอดไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ เขาจะกระโจนเข้าใส่
ส.ส.แบบราชการต้องรักษาตำแหน่ง ส.ส.ของตนเอง ไม่อยากถูกเตะออกจากสภา สยบยอมอำนาจรัฐเพื่อเข้าถึงงบประมาณและทรัพยากร จะได้นำมาใช้ประโยชน์ในการหาเสียงและได้คะแนนนิยม
หากสภาผู้แทนราษฎรไทย มีแต่ ส.ส.แบบราชการ ความเปลี่ยนแปลงไม่มีทางเกิด พวกเขาทำหน้าที่เหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลง และถูกหลอมรวมเข้าไปอยู่กับอำนาจรัฐ
ส.ส.แบบราชการ เปลี่ยน “ประชาชน” ที่เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด กลายเป็นเพียง “สะพาน” ที่ทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้เป็น “ทั่น ส.ส.”
ตรงกันข้าม หากต้องการการเปลี่ยนแปลง เราต้องมี ส.ส.แบบปฏิวัติ (Revolutionary MP)
คือ ส.ส.ที่ตระหนักดีว่า เมื่อโอกาสมาถึง ต้องทำ เมื่อโอกาสยังมาไม่ถึง ต้องเตรียมพร้อมและเร่งให้โอกาสมาถึง
คือ ส.ส.ที่กล้าพูดในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า แม้มีกรงขังที่ครอบไว้แน่นหนา ก็ต้องเพียรพยายามหาเหลี่ยมมุมเพื่อไต่เส้น ไต่เพดาน ไปให้ได้
คือ “ผู้แทน” ของราษฎรที่กล้าหาญ กล้าอภิปราย เพื่อยกระดับเพดานการอภิปราย ปักหมุดวาระสำคัญสู่สภา ขยับฐานความคิดในสภา สร้างความหวังให้กับประชาชน
คือ ส.ส.ที่พร้อมลงมติและตัดสินใจในเรื่องสำคัญในห้วงเวลาชี้ขาด
…
ส.ส.แบบราชการ ไม่กล้าเสนอและไม่กล้าลงมติยกเลิก 112
แต่ส.ส.แบบปฏิวัติ ผลักดันการยกเลิก 112
ส.ส.แบบราชการ ไม่กล้าอภิปรายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ และลงมติให้ความเห็นชอบโดยไม่ปริปากแม้แต่คำเดียว
แต่ ส.ส.แบบปฏิวัติ อภิปราย ตรวจสอบ ตัดลดงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์
ส.ส.แบบราชการ ลงมติกฎหมายที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจหรือวงงานของสถาบันกษัตริย์อย่างศิโรราบ เข้าประชุม แสดงตน กดลงคะแนนอย่างพร้อมเพรียง หากมาไม่ทัน ก็ต้องรีบวิ่งตาลีตาเหลือกมาลงคะแนนทีหล้ง หากกดผิด ก็ต้องรีบแถลงชี้แจง
แต่ ส.ส.แบบปฏิวัติ ต้องพิจารณาตรวจสอบ อภิปราย กฎหมายเหล่านี้
ส.ส.แบบราชการ พร้อมใจกันประกาศว่าไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ขนาดรัฐธรรมนูญให้แก้ได้ ก็ยังไปร่วมมือกันกำหนดว่าห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 เสียอย่างนั้น
แต่ ส.ส.แบบปฏิวัติต้องแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย
ส.ส.แบบราชการ ไม่กล้าชนกับศาล ศาลรัฐธรรมนูญ คำก็ “อย่าก้าวล่วงศาล” สองคำก็ “ศาลตัดสินแล้วเป็นที่สุด ต้องเคารพ”
แต่ ส.ส.แบบปฏิวัติ ต้องอภิปราย ตรวจสอบ ศาล เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพื่อปรับปรุงให้ศาลอยู่ในร่องในรอยของประชาธิปไตย
ส.ส.แบบราชการ เมื่อโดนยุบพรรค ตัดสิทธิ ก็พับเพียบหมอบกราบผงกหัว “ยอมรับ” แล้วก็แยกย้ายไปพักผ่อน หรือซ่อนตัวอยู่ข้างหลัง แล้วส่งคนในครอบครัวมาเป็น ส.ส.แทน เพื่อรอวันกลับมาใหม่
แต่ ส.ส.แบบปฏิวัติ ต้องกล้าโต้แย้งการยุบพรรค การตัดสิทธิ และต้องกล้าหาญพูด แสดงออกให้มากกว่าเดิมด้วย โดยไม่หมกมุ่นอยู่กับการนับวันเวลากลับมาเป็น ส.ส.ใหม่
ส.ส.แบบราชการ เมื่อเกิดรัฐประหาร จะแยกย้ายกลับบ้าน ไปพักผ่อน ไปทำธุรกิจ ปล่อยให้ประชาชนสู้กับคณะรัฐประหาร จนเมื่อกลับสู่การเลือกตั้ง พวกเขาก็จะกลับมาใหม่ บางคนก็ย้ายไปร่วมกับพรรคทหารสืบทอดอำนาจ
แต่ ส.ส.แบบปฏิวัติ เมื่อเกิดรัฐประหาร ต้องออกมาต่อต้านเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชน แล้วรวมตัวกันเปิดประชุมสภากันเองเพื่อยืนยันว่ายังคงเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ถืออำนาจอธิปไตยกับประชาชน แย่งชิงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญและประกาศใช้รัฐธรรมนูญแข่งกับคณะรัฐประหาร.
แน่นอน, คนที่แสดงออกอย่างชัดเจน ถึงแนวคิด “ปฏิรูปสถาบันฯ” และ สนับสนุนการแก้ไข ม.112 ก็คือ “ธนาธร” และ “ปิยบุตร” ประธาน และเลขาธิการ คณะก้าวหน้า นั่นเอง
ยิ่งกว่านั้น พรรคก้าวไกล ซึ่ง ส.ส.ส่วนใหญ่ ย้ายมาจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมี “ธนาธร” เป็นหัวหน้าพรรค และ “ปิยบุตร” เป็นเลขาธิการพรรค ก็กำลังประกาศนโยบายหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างชัดแจ้ง ว่า ต้องการแก้ไข ม.112 และปฏิรูปสถาบันฯ
แต่พวกเขาปฏิเสธ นี่ไม่ใช่การ “ล้มล้างสถาบันฯ” แต่เป็นการช่วยให้สถาบันฯไปด้วยกันได้กับ “ประชาธิปไตย”
ด้วยเหตุนี้หลายอย่างจึงค้างคาใจประชาชน ไม่ว่าจะเป็น พฤติกรรมย้อนแย้งกับที่พูด (ปล่อยให้ม็อบ 3 นิ้วจาบจ้วงล่วงละเมิด ถูกจับกุมก็ช่วยประกันตัว ทั้งเรียกร้องนิรโทษกรรมม็อบ 3 นิ้ว ฯลฯ) และข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯที่ย้อนแย้ง (ไม่ปกป้องเท่าที่ควร) การมุ่งตรวจสอบงบสถาบันฯที่ย้อนแย้ง (ไม่ไว้วางใจ) ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ คือ การสร้างความขัดแย้งขึ้นในสังคม ไม่ใช่ต้องการรักษาสถาบันฯ เพราะรู้ทั้งรู้ว่า คนไทยส่วนใหญ่ “จงรักภักดีต่อสถาบันฯ” เพราะฉะนั้น การจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันฯ การแก้กฎหมายที่ปกป้องสถาบันฯ ให้โทษน้อยลง หรือแทบไม่ต้องการปกป้องเลย ย่อมสร้างความไม่พอใจให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ
คำถามคือ คนไทยขัดแย้งแตกแยก “ประชาธิปไตย” จะเกิดขึ้นได้อย่างไร? ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ต้องอยู่บนความแตกแยกความสามัคคี อย่างนั้นหรือ?
หรือ ธงต่อไป หลังความขัดแย้งแตกแยก และสงครามกลางเมือง คือ การปกครองแบบ “สาธารณรัฐ?”