“สุดแค้น-แสนผิดหวัง”! “สมศักดิ์ เจียม” ฟาด “ทักษิณ” เล่นตีสองหน้า จวก “พท.- ปชป.” ขี้ขลาด! ไม่แก้ ม.112 นักวิชาการ ชี้ “อบจ.จุฬาฯ” ส่อหมิ่นเบื้องสูง? “อัษฎางค์” ซัด “กรรมของมันต์” อย่าหา “ถูกกลั่นแกล้ง”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (17 ต.ค. 65) เพจเฟซบุ๊กSomsak Jeamteerasakul ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ต้องหาคดีม.112 ลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส โพสต์ภาพ “ทักษิณ” ที่มีสาระสำคัญเปรียบเทียบการ “ตีสองหน้า” พร้อมข้อความ ระบุว่า
“ชนชั้นนายทุนไทยมีลักษณะสองหน้าแบบนี้ (ถ้าไม่เป็นปฏิกิริยาเลย) เอาไว้ใกล้ๆ ชนะเด็ดขาด จึงค่อยมาว่ากันใหม่ ระหว่างนี้ขอเป็นข้าฯรองบาทไปก่อน”
ก่อนหน้านี้ เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ก็ได้โพสต์ความเห็น กรณีแกนนำพรรคเพื่อไทย และโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันชัดเจน ไม่มีนโยบายแก้ ม.112 เหมือนพรรคก้าวไกล ว่า
“ขี้ขลาด!”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 65 นายสุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคก้าวไกล เปิดนโยบาย ดันแก้กฎหมายอาญามาตรา 112 เห็นด้วยหรือไม่ ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นจุดยืนของแต่ละพรรค ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ อยู่ที่ประชาชนจะพิจารณาแล้วตัดสินใจ เข้าใจว่า แต่ละพรรคได้ศึกษามาดีแล้ว ถึงประกาศเป็นนโยบายออกไป สำหรับพรรคเพื่อไทยเราทำนโยบายทุกด้าน แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วนที่สุด คือ เรื่องเศรษฐกิจปากท้องประชาชน และความมั่นคงทางการเงินการคลังของประเทศ รวมทั้งการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้เกิดกับสังคมไทย
ขณะเดียวกัน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีพรรคการเมืองบางพรรคประกาศนโยบาย แก้ไขมาตรา 112 ว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจนว่า พรรคไม่มีนโยบายที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 พรรคประชาธิปัตย์ ยึดมั่นในระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื้อหาสาระสำคัญของมาตราดังกล่าวนั้น ไม่ได้ไปสร้างความเสียหายความไม่เป็นธรรมให้กับใคร ต้องมองที่การกระทำของบุคคลมากกว่าตัวบทกฎหมาย หากมีการกระทำที่เป็นความผิดก็ให้ว่าไปตามกฎหมาย และเป็นการกระทำความผิดส่วนตัว ไม่ใช่กฎหมายมีปัญหา ความคิดและการกระทำของคนต่างหากที่มีปัญหา เมื่อมีการก้าวล่วง จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ผิดถูกก็ต้องว่ากันตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
และชัดเจนว่า มาตรา 112 ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อหลักนิติธรรมหรือรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะขัดใจผู้ที่คิดไม่ดีต่อบ้านเมือง พรรคการเมืองใดยื่นแก้ไข ก็ขอให้กลับไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ดี เพราะได้เคยวินิจฉัยอธิบายความสำคัญของ มาตรา 112 ไว้แล้ว
“มาตรา 112 ไม่ได้เป็นปัญหาตามที่มีผู้บิดเบือน การเสนอแก้มาตรา 112 ต่อสภา ดังนั้น การที่อ้างว่า เพื่อให้นักโทษทางความคิดได้รับการนิรโทษกรรมปล่อยตัว และไม่ให้เกิดนักโทษทางความคิดเพิ่มขึ้นอีก และเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศไทย เป็นการบิดเบือนทั้งสิ้น และเหตุใดจึงไม่กล่าวถึงการกระทำของคนทำผิด ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ไม่ต่างจากแนวความคิดเรื่องการนิรโทษกรรมให้คนทำผิดเช่นที่ผ่านมา ซึ่งความคิดและการกระทำที่ดีนั้นก็ไม่ควรจะต้องกลัวกฎหมายเช่นกัน แต่หากการคิดไม่ดีนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมายก็ต้องกล้าหาญออกมายอมรับผลด้วย อย่าขี้ขลาดตาขาว หลักการความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เรื่องนี้ไม่สลับซับซ้อน พรรคการเมืองนักการเมืองมืออาชีพจะรู้หลักการพื้นฐานเรื่องนี้ดี”
นายราเมศ กล่าวด้วยว่า พรรคไหนจะประกาศนโยบายก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองนั้นๆ และต้องรับผิดชอบ ที่สำคัญนโยบายต่างๆ ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญเช่นกัน
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก Harirak Sutabutr ของ รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความระบุว่า
“ที่ อบจ หรือองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ลงใน face book ใน page ของ อบจ เองในวันที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า นี่ไม่ใช่เป็นแค่การเห็นต่าง แต่เป็นการหมิ่นแคลน เย้ยหยัน เหยียบย่ำพระเกียรติขององค์พระมหากษัตริย์ที่คนไทยให้ความเคารพเทิดทูนมากที่สุดพระองค์หนึ่งในราชวงศ์จักรี กระทำสิ่งที่ตัวเองสะใจโดยไม่ได้คำนึงถึงความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ของประเทศเลยแม้แต่น้อย ถือเป็นการกระทำที่ต่ำช้าจนถึงที่สุด
จงใจไม่โพสต์พระบรมฉายาลักษณ์และข้อความสดุดีพระองค์ยังไม่เป็นไร แต่นี่โพสต์ภาพ โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวชาวฮ่องกง background ของภาพจงใจทำให้ดูเหมือนเป็น background ของพระบรมฉายาลักษณ์ แต่งกลอนอวยพรนายหว่อง ข้อความในบทกลอนยังไปแช่งประธานาธิปดี สี จิ้น ผิง ให้มอดม้วยเป็นผุยผง โดยแทนที่จะใช้ชื่อ สี จิ้นผิง ก็เลี่ยงไปใช้คำว่า “หมีพูห์” ลงท้ายบทกลอนด้วยข้อความว่า “ทรงพระเจริญ” ใต้ภาพมีข้อความว่า “ฮ่องกงเป็นประเทศ”
นี่ไม่ใช่เป็นเสรีภาพที่ทำได้อย่างที่อ้างกัน การใช้เสรีภาพต้องไม่เป็นการไปละเมิด เหยียบย่ำผู้อื่น กรณีนี้จัดได้ว่าอาจเป็นการกระทำที่เป็นความผิด 2 ประการ
ที่แน่ๆ คือ เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
อีกประการคือ เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน สาปแช่งประมุขของจีน อันเป็นการกระทบความมั่นคงของประเทศไทย
สโมสรนิสิตจุฬาฯในสมัย อ.ธีรยุทธ บุญมี เขามีแต่รณรงค์ให้สหรัฐอเมริกาถอนฐานทัพออกจากประเทศไทย รณรงค์ต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น แต่ อบจ. ในยุคนี้กลับไม่แตะต้องสหรัฐอเมริกา แต่เป็นปฏิปักษ์กับจีน
ท่านผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านต้องรู้สึกเดือดร้อนและอับอายที่องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงก่อตั้ง ไปกระทำการเช่นนี้ และคงไม่อาจนิ่งเฉยแล้วปล่อยผ่านไป คงต้องลงมาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งกับนายก และกรรมการ องค์การบริหารสโมสรนิสิต เพราะเชื่อว่า ท่านผู้บริหารคงไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปกับการกระทำอันน่าอับอายสำหรับชาวจุฬาฯครั้งนี้
เชื่อว่า นิสิตเก่าของจุฬาฯ ที่มีเป็นแสนเป็นล้าน กำลังเฝ้าติดตามอยู่ว่ามหาวิทยาลัยจะมีการดำเนินการอย่างไร”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ของ นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความระบุว่า
“กรรมของใครของมัน
กรรมของมันต์เป็นของมันต์
ตามนั้นเลย
พอโดนคดี ก็บอกว่า โดนกลั่นแกล้ง
หรือไม่ก็บอกว่า ถูกดำเนินคดีเพราะเห็นต่าง
แต่ไอ้ที่ทำเนี่ย ไม่ว่าฝ่ายมันหรือฝ่ายเรา ดูก็รู้ว่า คิดยังไง”
แน่นอน, กรณีแก้ ม.112, นิรโทษกรรมความผิดคดีเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง และ ม.112, การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศ คือ ความท้าทายครั้งใหม่ ที่พรรคการเมืองบางพรรคกล้าประกาศเป็นนโยบาย ขณะที่พรรคการเมืองอีกหลายพรรค ยังคงสงวนท่าที และมีสองพรรคที่ยืนยันชัดเจนว่า ไม่แก้ ม.112
จนทำให้ผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 3 นิ้ว อย่าง นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่พอใจอย่างมาก และนำมาเสียบประจานบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก ให้สาวกได้พิจารณา เอาที่สบายใจ
เมื่อเป็นเช่นนี้แทบไม่ต้องสงสัยว่า ขบวนการ “3 นิ้ว” มีพรรคการเมือง เป็นของตัวเองเรียบร้อย และความหวังที่พรรคอื่นจะแย่งคะแนนจากขบวนการ 3 นิ้ว แทบพูดได้ว่า หมดโอกาสไปแล้ว ก็ว่าได้?
โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย และ “ทักษิณ” ที่หวังจะได้ฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” อาจต้องลุ้นหนักว่า เหลือส่วนแบ่งไว้ให้มากน้อยแค่ไหน?
เหนืออื่นใด การเลือกตั้งครั้งหน้า อาจสร้างความสับสนไม่มากก็น้อย เพราะไม่รู้ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่กล่าวอ้างกัน มีพรรคไหนบ้าง ถ้าพรรคก้าวไกลไปทาง พรรคเพื่อไทยไปอีกทาง
และถ้าเพื่อไทย มีจุดยืนเหมือนหลายพรรค ที่ไม่แก้ ม.112 รวมถึงพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทยอยู่ฝ่ายไหนกันแน่ และทำไมหาว่าพรรคเหล่านี้ไม่เป็นประชาธิปไตย?