“ปิยบุตร” เรียกร้องพรรคการเมือง ผ่าน “6 ตุลา” 5 เรื่อง “เลิก ม.112-นิรโทษ 3 นิ้ว-ลงนามกับ ICC-ปฏิรูปสถาบันฯ-ทำ รธน.ใหม่ทั้งฉบับ” “พิธา” ขานรับ “อัษฎางค์” ดักคอ ลงนามกับ ICC หวังฟ้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้?
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (6 ต.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ของ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความระบุว่า
“[46 ปี 6 ตุลา]
เมื่อปีก่อน 45 ปี 6 ตุลา ผมได้โพสต์ลงเพจว่า เราจะรำลึก 6 ตุลา ได้อย่างไร หากไม่พูดประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล
มาปีนี้ 46 ปี 6 ตุลา บรรยากาศเข้าใกล้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงอยากเรียกร้องไปยังพรรคการเมืองทุกพรรคที่เตรียมแข่งขันกันในการเลือกตั้ง
พรรคการเมือง นอกจากจะส่งตัวแทนเข้าร่วมรำลึก 6 ตุลา นอกจากจะส่งข้อความต่อสาธารณะเกี่ยวกับ 6 ตุลา แล้ว ก็ควรจะมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตอันสืบเนื่องจากความแตกต่างทางความคิดระหว่างเยาวรุ่น กับ ระบอบ/รัฐไทย ด้วย ก่อนที่จะลุกลามบานปลาย เกิดเหตุการณ์แบบเดิมๆ กลับมาได้อีก
1. ยกเลิกมาตรา 112 และปรับปรุงความผิดฐานหมิ่นประมาททั้งระบบ
(ไม่กี่วันหลัง 6 ตุลา 19 คณะรัฐประหาร ได้ใช้อำนาจดิบเถื่อนจากรัฐประหาร แก้ไขกฎหมายชุดนี้ทั้งชุด เพื่อเพิ่มโทษขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ)
2. ตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน ประชาชน จากการชุมนุมและการแสดงออกตั้งแต่ปี 2563 (112 113 116 ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และความผิดอื่นๆอันเกี่ยวกับการชุมนุมและการแสดงออก)
3. ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม 2002 ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ และทำคำประกาศฝ่ายเดียวยอมรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะช่วงเวลา เฉพาะกรณี ตาม ข้อ 12 (3)
4. ผลักดันเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา
5. ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
#6ตุลา”
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก การเมืองไทย ในกะลา แชร์ข่าว “พิธา” ประกาศจุดยืนว่า
“พิธา” ร่วมรำลึก 46 ปี 6 ตุลา 19 จี้รัฐยุติปราบปราม-คืนความเป็นธรรมประชาชน
“พิธา” พร้อมตัวแทนพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ร่วมวางพวงมาลารำลึก 6 ตุลา 19 เตือนรัฐอย่าทำซ้ำ เชื่อ จุดจบจะไม่เหมือนเดิมแน่นอน พร้อมจี้ยุติการปราบปราม-ยึดอำนาจ คืนความเป็นธรรมประชาชน
วันที่ 6 ต.ค. 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ร่วมเป็นตัวแทนพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า วางพวงมาลารำลึกครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 โดยบนพวงมาลามีข้อความที่สอดคล้องกัน สำหรับพวงมาลาของพรรคก้าวไกล มีข้อความว่า “ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน” และส่วนของคณะก้าวหน้า คือ “ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย” ซึ่งกิจกรรมจัดขึ้นที่ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา
จากนั้น นายพิธา ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คือ บทเรียนว่าสังคมไทยจะต้องร่วมกันทบทวนเงื่อนไขในการปราบปรามของรัฐ การรัฐประหาร ไปจนถึงการเข่นฆ่าประชาชน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอทางการเมืองเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเกิดความสมานฉันท์ ให้ความคิดที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทยจริงๆ และเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลา จะไม่เกิดขึ้นอีก
นั่นคือ ต้องมีการคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อคดีการเมือง ผู้ต้องคดีการเมืองต้องได้รับการยุติดำเนินคดี ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และจะต้องมีการเสาะหาข้อเท็จจริง ทั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และทุกเหตุการณ์การเมือง รวมถึงเหตุการณ์ในปี 2557 ด้วย
หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุต่อไปว่า ในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน รัฐยังคงใช้ความรุนแรงและมีความพยายามกดปราบประชาชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการปราบปรามบนท้องถนนและการดำเนินคดีการเมืองกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ขอเตือนว่า รัฐไม่อาจจะกดปราบและใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้ดังในอดีตอีกต่อไปแล้ว เพราะประชาชนจะไม่ยอมอีกต่อไป
“ในสถานการณ์ที่แหลมคมเช่นนี้ ชนชั้นนำไทยเองกลับยังคงเห็นประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงเป็นอริราชศัตรู เดินหน้าใช้วิธีการปราบปราม ยึดอำนาจ ซึ่งไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ 6 ตุลาเลย สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว และถ้ามันจะเกิดขึ้นอีกครั้ง จุดจบจะไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน”
ในช่วงท้าย นายพิธา ยังกล่าวอีกว่า การคืนความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายจากคดีการเมือง แตกต่างจากการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้ต้องหาคดีการเมืองถูกตัดสินให้มีความผิดแล้ว การได้รับการนิรโทษ คือ พ้นจากโทษ แต่การคืนความเป็นธรรมคือการทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องมีคดีติดตัว ไม่ต้องถูกตัดสินตีตราว่าผิด รวมถึงไม่ต้องรับโทษ ซึ่งการคืนความเป็นธรรมเป็นนโยบายหลักของพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลจะยังคงผลักดันการแก้กฎหมายมาตราที่ละเมิดสิทธิของประชาชน ใช้กลั่นแกล้งผู้เห็นต่าง ทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116 รวมถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยที่ผ่านมาได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว
https://www.thairath.co.th/news/politic/2519443
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค ของนายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความระบุว่า
“อัษฎางค์ มีคำถามถึง ปิยบุตร
ปิยบุตร พูดว่า
“ธรรมนูญกรุงโรม ต้องการแก้เผ็ดไอ้พวกรัฐ(ประเทศ)ต่างๆ ที่มีกฎหมายภายใน (เช่น ม.112 พูดไปตรงๆ เลยป๊อก) เพื่อสร้างความคุ้มกันให้ผู้นำเผด็จการตัวเอง”
ปิยบุตร พยายามจะบอกว่า “พระมหากษัตริย์ เป็นผู้นำเผด็จการ ที่รัฐสร้างกฎหมายมาคุ้มครอง” ใช่หรือไม่ ?
ดังนั้น ปิยบุตร จึงอยากให้ไทยลงนามกับ ICC กฎหมายระหว่างประเทศ เพราะกฎหมายไทยยกสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่สักการบูชา ใครจะล่วงละเมิด ฟ้องร้องมิได้ ใช่หรือไม่ ?
แต่ถ้าลงนามกับ ICC แล้ว ICC จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ใช่หรือไม่?
หมายความว่า ปิยบุตร คิดจะอาศัย ICC จัดการ ดำเนินคดี เอาผิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ใช่หรือไม่ ?
ป๊อกไม่รู้หรือว่า มาเลเซียลงนามกับ ICC ไปเพียงเดือนเดียวก็ขอถอนตัว เพราะเขาพบว่า มันมีปัญหา ใช่หรือไม่ ?
แหกมากี่ครั้งแล้วป๊อก
(ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.นิว เรื่องมาเลเซียยกเลิกการลงนามกับ ICC ที่เอามาแหกปิยบุตร)”
แน่นอน, สิ่งที่สะท้อนให้เห็นก็คือ เงื่อนไข “6 ตุลา” กำลังถูกใช้เป็นเหยื่ออันโอชะของ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักการเมืองบางส่วน เพื่อ “ตอกย้ำ” อำนาจเผด็จการ เข่นฆ่าประชาชน ตามแนวทางการต่อสู้ทางการเมืองของพวกตน ที่ใช้เยาวชนคนรุ่นใหม่เป็นหุ่นเชิด แม้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีที่มาที่ไป และ “เงื่อนไข” ของแต่ละเหตุการณ์ที่มิอาจโยงกันได้ หรือ เหมารวมว่า เป็นเนื้อเดียวกัน
อย่างที่ปลุกระดมกันอยู่ ก็มีเงื่อนไขต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจกับการเมือง และต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ตามที่มีการพูดออกมาแล้วหลายครั้ง จนมาถึงครั้งนี้ที่ชัดเจนที่สุด
ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ก็ดีเหมือนกัน พรรคการเมืองทั้งหมดน่าจะประกาศนโยบายให้ชัดไปเลยว่า มีพรรคไหนบ้าง จะเข้ามาผลักดัน “เลิก ม.112-นิรโทษ 3 นิ้ว-ลงนามกับ ICC-ปฏิรูปสถาบันฯ-ทำรธน.ใหม่ทั้งฉบับ” ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แล้วให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ควรทำตัวเป็น “อีแอบ” อีกต่อไป!?