xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์ เจียม” ชี้ ขบวน นศ. “6 ตุลา” ส่วนหนึ่ง พคท. แย้ง “อาชญากรรมของรัฐ” โยงม็อบ 53 “ก้าวไกล” ถูกร้อง ป.ป.ช.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ “ยิ้ม” สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่ถูกอ้างถึง จากแฟ้ม
“สมศักดิ์ เจียม” ผิดหวังรำลึก “6 ตุลา” ย่ำอยู่กับ “โศกนาฏกรรม” ละเลย “ขบวนนักศึกษา” ชี้ เป็นส่วนหนึ่งของ “พคท.” แย้ง “อาชญากรรมของรัฐ” โยงม็อบ 53 “ก้าวไกล” งานเข้า “วรงค์-พี่ศรี” ร้อง ป.ป.ช. จัดสัมมนายัดไส้ 112

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (5 ต.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้ลี้ภัยคดี ม.112 ที่ฝรั่งเศส โพสต์ข้อความระบุว่า

“ทำไมสังคมไทยไม่ค่อยสนใจประวัติศาสตร์? เราคงได้ยินการพูดว่าประวัติศาสตร์ 6 ตุลา “ถูกลืม” แต่ถ้าเทียบกับเรื่องอื่นๆ แล้ว นับว่ามีการพูดถึงกันมากอยู่ แต่ที่สำคัญเท่าที่มีการ “พูดถึง” ก็พูดถึงแต่เรื่องโศกนาฏกรรมวันนั้น ดูเหมือนไม่สู้จะก้าวล่วงเรื่องนี้เลย (คนนั้นชื่ออะไร คนนี้ชื่ออะไร ตายอย่างไร คนที่อยู่ในภาพชื่ออะไร คนที่อยู่ในภาพหายไปไหน ตำรวจที่ยิงปืนชื่ออะไร? ฯลฯ ฯลฯ) ดูเหมือนว่า เรื่อง 6 ตุลาจะมีเพียงแค่นักศึกษาประท้วงการกลับของถนอม แล้วกลุ่มฝ่ายขวาก็อาศัยภาพหลอกปลุกระดมคนมาฆ่า ฯลฯ

จนบัดนี้ 46 กว่าปีแล้ว เรื่องเกี่ยวกับ 6 ตุลา ยังไม่มีการทำเป็นเรื่องเป็นราวนอกเหนือจากนี้ ผมจึงรู้สึกเสียดายที่หนังสือของ “ยิ้ม” สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เล่มล่าสุด ไม่ได้ก้าวพ้นจากที่มีการพูดๆ กันมา ที่สำคัญ ก่อนตายไม่นาน ผมได้คุยกับยิ้ม ได้ยินว่าเขาได้คุยกับพวก “คนเก่าๆ” จำนวนมาก ทั้งลุงธง ลุงประโยชน์ (ซึ่งไม่ยอมคุยกับผม) และบรรดามิตรสหายหลายคน ได้เก็บข้อมูลไว้จำนวนมาก นึกว่าคงจะได้เวลาเริ่มเขียนเรื่องราวอย่างจริงจังในฐานะขบวนการนักศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ พคท. เสียที ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมจึงไม่เป็นไปตามนั้น

ผมอยากจะเขียน แต่รู้ตัวว่าทำไม่ได้ เพราะหนึ่ง ผมเขียนเรื่อง 6 ตุลา และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องไม่ค่อยได้ มีความลำบากในการพูดเรื่องนี้อยู่ สอง ข้อมูลที่ผมรวบรวมได้ ไม่เพียงพอ

บางทีผมคิดว่าผมคงต้องพยายามเขียนเสียแล้ว แม้ข้อมูลไม่เพียงพอ แต่อาจกระตุ้นให้คนที่รู้เรื่องดีกว่าผมเขียนออกมา

พัฒนาการของขบวนการนักศึกษากับ พคท.ช่วง 14 ถึง 6 ตุลานั้น แบ่งได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ คือก่อนกลางปี 2518 กับหลังกลางปี 2518

จากกลางปี 2518 เป็นต้นมา ขบวนการนักศึกษาได้เปลี่ยนเป็นขบวนของ พคท โดยพื้นฐานแล้ว สมัยนั้นเรามีศัพท์เรียกว่า ความคิด-การเมือง-การจัดตั้ง หลังกลางปี 2518 ถือว่าในทางความคิด ขบวนการนักศึกษาเป็นเอกภาพ ถูกชี้นำด้วยวิธีคิดแบบ พคท. แล้ว

(เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ผู้ทำงานศึกษาการเคลื่อนไหวของชาวนาในช่วงนี้ กล่าวว่าไม่มี พคท. เป็นปัจจัยสำคัญ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ถึงกับไปขยายความเป็นตุเป็นตะ ความจริงขบวนการนักศึกษาในภาคเหนือที่ทำงานชาวนา ไม่มีใครจะใกล้ชิดพรรค และทำงานประสานพรรคมากเท่านี้อีกแล้ว)

ขณะนั้น กล่าวกันว่า “งานในเมือง” ของ พคท.มีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คือ หลังการกวาดล้างใหญ่ที่ ประเสริฐ เอี้ยวฉาย ต้องติดคุกนั้น พรรคฯได้แบ่งการทำงานออกจากกันเป็น “สองสายงาน” มีสายงาน “เมน” (นิยมเรียกกันแบบนี้ มาจากคำว่า main) ซึ่งผู้นำสูงสุดคือคนที่เขียนเรื่อง “ปรัชญาชาวบ้าน” ใช้นามปากกาว่า “ศักดิ์ สุริยะ” กับสายงานลุงประโยชน์ (มาโนช เมธางกูล) นอกจากนี้ ยังเปิดให้กรุงเทพ เป็นเขตพิเศษที่ทุกสายงานทั่วประเทศ (เหนือ ใต้ อีสาน) มาขยายสายงานได้ (แต่มีบางคนว่า ในระดับสูงสุดนั้น มีการประสานงานและประชุมกันอยู่ ระหว่างลุงประโยชน์กับ "ศักดิ์ สุริยะ" เรื่องนี้ไม่ชัวร์ ผมก็อยากรู้เหมือนกันว่าความจริงเป็นอย่างไร)”

ภาพ ปกหนังสือ ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ (4 ต.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul โพสต์ข้อความระบุว่า

“6 ตุลา : “อาชญากรรมของรัฐ”???
ตั้งแต่ปีแรกๆ ที่มีการรำลึก 6 ตุลา ได้มีผู้เสนอคำขวัญหรือคำบรรยายว่า “6 ตุลา คืออาชญากรรมของรัฐ” และภายหลังได้เชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์ครั้งหลังอย่างเหตุการณ์ปี 2553 เข้าทำนอง “ไม่มีผู้รับผิด”
ผมมีปัญหากับคำนี้ที่ใช้กับ “6 ตุลา” ตั้งแต่แรกๆ แต่ไม่เคยที่จะคิดถึงมันอย่างเป็นระบบ จนกระทั่งเร็วๆ นี้ เอง

ผมคิดว่า ไม่ควรบรรยายว่า 6 ตุลา เป็น “อาชญากรรมของรัฐ” ด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้าเราดูโดยรอบด้านแล้ว เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดขึ้นในขณะที่ขบวนการนักศึกษาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้ว ขณะนั้นแม้ส่วนใหญ่ของขบวนยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในเมือง แต่มีบางส่วนได้ย้ายตัวเองเข้าป่าแล้ว เช่นกลุ่มของเสกสรรค์-เหวง (กลางปี 2518) กลุ่มของธีรยุทธ-วิสา (ต้นปี 2519) กลุ่มที่ทำงานชาวนาโดยเฉพาะในภาคเหนือทำการปลุกระดมชาวนาโดยประสานกับฐานที่มั่น ฯลฯ

ในสภาพเช่นนี้ หากเราบรรยายว่า “6 ตุลา เป็นอาชญากรรมของรัฐ” เราจะบรรยายส่วนอื่นๆ ที่ขบวนนักศึกษาเข้าร่วมว่าอย่างไร? การกระทำของนักศึกษามีส่วนเป็นอาชญากรรมตามกฎหมายเดียวกันแน่ๆ รวมทั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธ และพอหลัง 6 ตุลา เมื่อนักศึกษาเข้าป่าจำนวนมาก การกระทำของนักศึกษารวมทั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธ จะพูดว่า “ไม่เป็นอาญากรรม” ไม่ได้แน่

ความจริง คำว่า “อาชญากรรมของรัฐ” เอามาจากฝรั่ง ที่ใช้บรรยายเหตุการณ์หนึ่งซึ่งรัฐกระทำ แต่ “6 ตุลา” เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการอันยาวนานและกว้างขวางใหญ่โตและมีระดับทั่วประเทศ ฝ่ายนักศึกษาย่อมไม่มองว่าการกระทำของตัวเองเป็น “อาชญากรรม” แต่ถ้าใช้บรรทัดฐานทางกฎหมายเดียวกันแล้ว จะนับเป็นอะไร?

“6 ตุลา” เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ระหว่างคนสองฝ่ายเพื่อแย่งชิงประเทศไทย การกระทำเมื่อ 6 ตุลา เป็นการกระทำที่ผิดและสมควรที่จะประณามโดยเฉพาะผู้ที่เป็น “แรงบันดาลใจ” ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น”

ภาพ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จ่อร้อง ป.ป.ช.เอาผิด “ก้าวไกล” ขอบคุณข้อมูล-ภาพจาก เพจเฟซบุ๊กของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม
ขณะเดียวกัน “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“#ตรวจสอบกรรมาธิการที่ยัดไส้ยกเลิกมาตรา112

กมธ.การพัฒนาการเมือง จัดสัมมนาในโรงแรม ดึงนักเรียนจากสถานศึกษาต่างๆ ไปร่วมงาน แต่กลับเชิญ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวการเมือง มารณรงค์เรื่องยกเลิกมาตรา 112 และแจกหนังสือยกเลิกมาตรา 112
ที่เลวร้ายที่สุด ในเอกสารเชิญสถานศึกษา เป็นการเชิญมาร่วมสัมมนา ในหัวข้อ “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งของไทย” แต่กรรมาธิการคณะนี้ กลับยัดไส้ในเรื่องยกเลิกมาตรา 112

คำถามที่ต้องถาม คณะกรรมาธิการทำได้ด้วยหรือ ที่ขออนุมัติโครงการอย่างหนึ่ง แต่ไปยัดไส้จัดอีกอย่างหนึ่ง รวมทั้งมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้ไข เคยถูกตีตกไปแล้ว ไม่บรรจุระเบียบวาระ เพราะส่อขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังดื้อดึงใช้เวทีกรรมาธิการ มาปลุกระดม

ที่เลวร้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยว่า การยกเลิกมาตรา 112 ถือว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองฯ และคำวินิจฉัยนี้ต้องผูกพันทุกองค์กร รวมทั้งคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นองค์กร สังกัดรัฐสภา แต่กรรมาธิการก็ยังไม่เคารพ

พรรคไทยภักดีไม่นิ่งนอนใจ พร้อมที่จะยื่นเรื่องดังกล่าวต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบการกระทำของ คณะกรรมาธิการชุดนี้ โดยเร็วที่สุด”

ภาพ นายศรีสุวรรณ จรรยา จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า

“หมายข่าว : ศรีสุวรรณ

ตามที่ ประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทน พรรคก้าวไกล จัดสัมมนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตั้งไทย แต่กลับมีการสอดไส้ยกเลิก กม.112 ซึ่งมีชาวเน็ตเผยหลักฐานเด็ด หนังสือขอความอนุเคราะห์ให้โรงเรียนในจังหวัดนนทบุรี ส่งนักเรียน อาจารย์เข้าร่วม มีการนำผู้ต้องหาคดี 112 มาพูดด้วย แต่เนื้อหาหลักกลับมีโจมตีงบประมาณท้องถิ่น และมีการพูดถึงผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมของพรรคตัวเอง แบบนี้ทำได้ด้วยหรือ?

การกระทำดังกล่าว นอกจากจะเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง กระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงจะนำความไปร้องต่อ ป.ป.ช. นนทบุรี ให้ทำการไต่สวน สอบสวน และเอาผิดพฤติการณ์ดังกล่าวในวันพฤหัส ที่ 6 ต.ค. 65 เวลา 10.00 น.”

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ การรำลึก “6 ตุลา” ที่ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” มีความเห็นว่า ยังเป็นเรื่องเดิมๆ หนีไม่พ้นย้อนรำลึก “โศกนาฏกรรม” ใครฆ่าใคร ใครเสียชีวิตในเหตุการณ์บ้าง แถมพักหลังยังมีการนำเอามาโยงกับการปราบปรามม็อบในเหตุการณ์เมื่อปี 53 หรือม็อบคนเสื้อแดง เพื่อที่จะเบี่ยงเบนให้เข้ากับคำขวัญหรือคำบรรยายว่า “6 ตุลา คืออาชญากรรมของรัฐ” หรือ เกิดการกระทำจากรัฐคล้ายกัน และต้องการหาคนมารับผิด อะไรประมาณนั้นหรือไม่?

ประเด็นที่น่าคิดต่อ ก็คือ สมมติว่า มีขบวนการหนึ่งคล้ายขบวนการ นศ. “6 ตุลา” หรือ ม็อบปี 53 โดยมีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงประเทศ และเกิดสงครามกลางเมือง ก็อาจมีการ “เด็ดยอด” อธิบายเช่นกันว่า เป็น “อาชญากรรมของรัฐ” ซึ่งต้องมีคนรับผิดชอบ โดยตัดอีกฝ่ายออกจากการก่อเหตุ หรือ ต่อสู้ด้วยอาวุธ เหลือแต่รัฐเป็นผู้กระทำ เรื่องทำนองนี้ กลุ่มทะลุแก๊ส คือ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

นี่คือ ปัญหาที่แม้แต่ “สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” ซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อ “ขบวน 3 นิ้ว” ก็ยังไม่เห็นด้วย ว่า เกิดจากรัฐฝ่ายเดียวไม่ได้ หรือไม่

ที่สำคัญ แต่ละเหตุการณ์ต่างมีที่มา ที่ไป ของมัน “6 ตุลา” ก็มีที่มาที่ไป “ม็อบ 53” ก็มีที่มาที่ไป และ “ขบวน 3 นิ้ว” ก็มีที่มาที่ไป การทำผิดกฎหมายก็คือ “ผิดกฎหมาย” ไม่น่าจะมีคำอธิบายที่ให้ “อภิสิทธิ์” แก่ขบวนไหนทั้งสิ้น นี่ต่างหากที่น่าคิดและน่ารับฟัง


กำลังโหลดความคิดเห็น