xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา” ร่วมวางพวงมาลารำลึก 6 ตุลา 19 เตือนรัฐอย่าทำซ้ำเพราะจุดจบจะไม่เหมือนเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า รำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ชงข้อเสนอแก้กติกา-สร้างระบบ ยุติเงื่อนไขรัฐในการปราบปราม-เข่นฆ่า-ยึดอำนาจประชาชน พร้อมเตือนชนชั้นนำอย่าคิดปลุกโมเดล 6 ตุลาอีก มั่นใจจุดจบไม่เหมือนเดิม

วันนี้ (6 ต.ค.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ร่วมเป็นตัวแทนพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า วางพวงมาลารำลึกครบรอบ 46 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 โดยบนพวงมาลามีจ้อความที่สอดคล้องกันคือ “ดาวศรัทธายังส่องแสงเบื้องบน” สำหรับพวงมาลาของพรรคก้าวไกล และ “ปลุกหัวใจปลุกคนอยู่มิวาย” บนพวงมาลาของคณะก้าวหน้า

หลังการร่วมพิธีทำบุญในช่วงเช้าตรู่และการวางพวงมาลาที่ลานปฏิมานุสรณ์ 6 ตุลา นายพิธา ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 คือ บทเรียนว่าสังคมไทยจะต้องร่วมกันทบทวนเงื่อนไขในการปราบปรามของรัฐ การรัฐประหาร ไปจนถึงการเข่นฆ่าประชาชน ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยพรรคก้าวไกล มีข้อเสนอทางการเมืองเพื่อให้ประเทศไทยสามารถเกิดความสมานฉันท์ ให้ความคิดที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทยจริงๆ และเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลา ไม่เกิดขึ้นอีก นั่นคือจะต้องมีการคืนความเป็นธรรมให้กับเหยื่อคดีการเมือง ผู้ต้องคดีการเมืองต้องได้นับการยุติการดำเนินคดี ยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และจะต้องมีการเสาะหาข้อเท็จจริง ทั้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 พฤษภา 35 และทุกเหตุการณ์การเมือง รวมถึงเหตุการณ์ในปี 2557 ด้วย

นายพิธา กล่าวต่อว่า ในสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน รัฐยังคงใช้ความรุนแรงและมีความพยายามกดปราบประชาชนในรูปแบบต่างๆ ทั้งการปราบปรามบนท้องถนนและการดำเนินคดีการเมืองกับกลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ซึ่งตัวเองขอเตือนว่ารัฐไม่อาจจะกดปราบและใช้ความรุนแรงกับประชาชนได้ดังในอดีตอีกต่อไปแล้ว เพราะประชาชนจะไม่ยอมอีกต่อไป

“ในสถานการณ์ที่แหลมคมเช่นนี้ ชนชั้นนำไทยเองกลับยังคงเห็นประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงเป็นอริราชศัตรู เดินหน้าใช้วิธีการปราบปราม เข่นฆ่า ยึดอำนาจ ซึ่งไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ 6 ตุลาเลย ยังคงมีความพยายามในการออกใบอนุญาตฆ่า สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว และถ้ามันจะเกิดขึ้นอีกครั้ง จุดจบจะไม่เหมือนเดิมอย่างแน่นอน” นายพิธา กล่าว

นายพิธา ยังระบุด้วยว่า การคืนความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหายจากคดีการเมือง แตกต่างจากการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นกระบวนการที่ผู้ต้องหาคดีการเมืองถูกตัดสินให้มีความผิดแล้ว แต่ได้รับการ “นิรโทษ” คือ พ้นจากโทษ แต่การคืนความเป็นธรรมคือการทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องมีคดีติดตัว ไม่ต้องถูกตัดสินตีตราว่าผิด รวมถึงไม่ต้องรับโทษ ซึ่งการ “คืนความเป็นธรรม” เป็นนโยบายหลักของพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลก็จะยังคงผลักดันการแก้กฎหมายมาตราที่ละเมิดสิทธิของประชาชน ใช้กลั่นแกล้งผู้เห็นต่าง ทั้งมาตรา 112 และ 116 รวมถึง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยที่ผ่านมาก็ได้เสนอร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว








กำลังโหลดความคิดเห็น