xs
xsm
sm
md
lg

“พิธา”ร่วมรำลึก 6 ตุลาฯ เสนอคืนความเป็นธรรมให้ผู้ต้องคดีการเมืองเป็นโมฆะ หวังให้เกิดความสมานฉันท์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า [ โมเดล 6 ตุลา ยังอยู่ในความคิดของชนชั้นนำไทย แต่หากทำอีกครั้งนี้จะจบไม่เหมือนเดิม ]

เมื่อเช้านี้ ผมได้ไปร่วมรำลึกวันครบรอบ 46 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นอีกหนึ่งการก่ออาชญากรรมของชนชั้นนำไทยเพื่อปรามปราบขบวนการนักศึกษาและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นอีกเหตุการณ์ที่ผู้กระทำยังคงลอยนวลพ้นผิด ไม่เคยต้องรับโทษ ไม่เคยออกมายอมรับผิดกับสิ่งที่เกิดขึ้น

แต่ท่ามกลางพยายามของผู้มีอำนาจในการลบเลือนความทรงจำของสังคมไทยต่อเหตุการณ์ 6 ตุลา มานานถึง 46 ปี ผลที่พวกเขาได้รับวันนี้ กลับคือการ “ยิ่งลบยิ่งไม่ลืม” กลายเป็นว่าความตื่นรู้ต้องการเข้าใจ 6 ตุลา ในหมู่คนรุ่นใหม่กลับเกิดมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง กิจกรรม และนิทรรศการต่างๆ อย่างที่เราได้เห็นมาตลอดช่วงไม่กี่ปีหลังที่ผ่านมา ที่ผู้เข้าร่วมงานรำลึกเกินครึ่งเป็นคนหนุ่มสาวและเยาวชนคนรุ่นใหม่

สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันของเราแหลมคมขึ้นมาก มีการตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจของชนชั้นนำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่แทนที่พวกเขาจะถอดบทเรียนและพยายามปฏิรูปตนเอง ชนชั้นนำไทยกลับยังคงเห็นผู้ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นอริราชศัตรู เดินหน้าใช้วิธีการปราบปราม เข่นฆ่า ยึดอำนาจ ไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ 6 ตุลาเลย

ในโอกาสนี้ ผมและพรรคก้าวไกล มีข้อเสนอทางการเมืองต่อสังคมไทย ว่าหากเราต้องการให้ประเทศไทยเกิดความสมานฉันท์ ความคิดที่แตกต่างกันอยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทย และเหตุการณ์อย่าง 6 ตุลา ไม่เกิดขึ้นอีก เราจะต้องมีการคืนความเป็นธรรมให้ผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งด้วยคดีการเมืองตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ด้วยการทำให้คดีความทางการเมืองเป็นโมฆะ ยุติการใช้นิติสงครามกับผู้เห็นต่าง

สำหรับผู้มีอำนาจ เราต้องยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ที่ทำให้ผู้เข่นฆ่าประชาชนไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการทำความจริงให้ปรากฏ ตั้งแต่เหตุการณ์ตุลา 19, พฤษภา 35, เหตุการณ์สังหารคนเสื้อแดงปี 53 รวมไปถึงผลพวงจากการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา

และที่สำคัญ เราจำเป็นต้องแก้กฎหมายละเมิดเสรีภาพประชาชน เช่นมาตรา 112, มาตรา 116, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้พรรคก้าวไกลได้ยื่นแก้ไขไปแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของสภา

ในสถานการณ์ที่แหลมคมเช่นนี้ การยังคงเห็นประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงเป็นอริราชศัตรู เดินหน้าใช้วิธีการปราบปราม กดทับ ปิดปากด้วยคดี และยังคงมีความพยายามในการออกใบอนุญาตฆ่าเหมือนในเหตุการณ์ 6 ตุลา จะไม่นำพาทั้งสังคมไทย คนไทย และแม้แต่ชนชั้นนำไทยเอง ไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนได้เลย หนำซ้ำกลับจะยิ่งทำให้ชนชั้นนำไทยไม่อาจอยู่ในสถานะเดิมอีกต่อไปได้ด้วยซ้ำ

ผมขอใช้โอกาสนี้ ทั้งในการรำลึกถึงความสูญเสียของวีรชน 6 ตุลา 19 เสนอทางออกให้กับสังคมไทย และขอเตือนชนชั้นนำไทยด้วยความหวังดี ว่าวันนี้เราจำเป็นต้องปรับวิธีคิดวิธีปฏิบัติต่อประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เพื่อให้สังคมไทยก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้าได้โดยไม่ต้องมีการทำลายล้างซึ่งกันและกันอีก