xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยบุตร” แจง 112 มีปัญหาทั้งตัว กม.และอุดมการณ์ ป้อง “ก้าวไกล” “ดร.นิว” ซัด ความต้องการพวก “หนักแผ่นดิน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายปิยบุตร แสงกนกกุล แจงเหตุต้องการแก้ ม.112 ขอบคุณข้อมูล-ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul-ปิยบุตร แสงกนกกุล
“ปิยบุตร” ออกโรง จวก พรรคการเมือง ส.ส. เมินแก้ ม.112 แจงยิบมีปัญหาทั้ง “ตัว กม.” และ “อุดมการณ์” ป้อง “ก้าวไกล” ถูกตีตรา “ดร.นิว” เชื่อ “ปชช.” โดดเดี่ยว เป็นความต้องการพวกหนักแผ่นดิน “ดร.เสรี” ซัด บิดเบือน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (25 ต.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul-ปิยบุตร แสงกนกกุล ของนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์หัวข้อ

[“ปิยบุตร” โต้ “พรรคการเมือง” ย้ำ ม.112 มีปัญหาตัวบท อุดมการณ์เบื้องหลัง และการบังคับใช้]

โดยระบุว่า มาตรา 112 มีปัญหาทั้งในเชิงตัวบท อุดมการณ์เบื้องหลัง และการบังคับใช้

หลังจากที่พรรคก้าวไกลแถลงนโยบายด้านการเมืองเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในข้อเสนอนโยบายของพรรคก้าวไกล คือ เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยลดโทษจำคุก ย้ายออกจากหมวดความมั่นคง ให้สำนักพระราชวังเท่านั้น ที่เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และกำหนดให้มีเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ ในกรณีวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เพื่อประโยชน์สาธารณะ หลังจากนั้น ตลอดทั้งสัปดาห์มีหัวหน้าพรรค แกนนำพรรค และโฆษกพรรคต่างๆ ออกมาทำท่าทีขึงขังบอกว่าจะไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือประกาศว่าจะไม่ร่วมทำงานกับพรรคการเมืองที่เสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เด็ดขาด

เหตุผลที่ยกมาก็มีตั้งแต่บอกว่า ตัวบทกฎหมายไม่มีปัญหา ประเทศอื่นเขาก็มี ประเทศเราก็มี ไม่ใช่เรื่องแปลก ขณะคนธรรมดายังมีกฎหมายคุ้มครองเลย และข้ออ้างว่าถ้าไม่ทำผิดจะไปกลัวอะไร

ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับตัวบทนั้น การที่มาตรา 112 อยู่ในหมวดของความมั่นคงในราชอาณาจักร ทำให้แนวทางการวินิจฉัยคดีเป็นเรื่องของการควบคุมอาชญากรรมมากกว่าการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำไปสู่ทิศทางที่มักไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีการเรียกหลักประกันชนิดที่สูงมาก และการไม่แยกฐานความผิดอย่างชัดเจน ระหว่างหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้งที่เป็นการกระทำที่ไม่เหมือนกัน แนวทางการใช้จึงปะปนกันไป

นอกจากนี้ มาตรา 112 ไม่มีเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษ เช่น การวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เป็นการติชมโดยสุจริต หรือการพิสูจน์ได้ว่าสิ่งที่วิจารณ์นั้นเป็นความจริง อีกทั้งการมีอัตราโทษที่สูงถึง 3-15 ปี ซึ่งเป็นอัตราโทษที่สูงเกินไป แม้แต่เมื่อเทียบกับสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ลงโทษไม่เกิน 7 ปี และยังเป็นอัตราโทษหมิ่นประมาทที่สูงที่สุดในโลก ไม่มีที่ไหนสูงเท่านี้อีกแล้ว ซึ่งมีอุดมการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยกำกับอยู่ ที่สำคัญคือ การเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ประกอบกับแนวทางการปฏิบัติที่เจ้าหน้าที่มักไม่ยอมใช้ดุลพินิจ แต่เลือกที่จะสั่งฟ้องไว้ก่อน นำไปสู่การกลั่นแกล้งกันทั้งในทางส่วนตัวและในทางการเมือง

สำหรับข้ออ้างที่บอกว่าประเทศอื่นเขาก็มีประเทศเรามีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนั้น จริงๆ แล้ว กฎหมายว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทประมุขของรัฐมีอยู่จริงในหลายประเทศ สำหรับประเทศที่เป็นสาธารณรัฐ ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทประธานาธิบดี สำหรับประเทศที่มีประมุขเป็นกษัตริย์ ก็มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่กฎหมายของประเทศเหล่านั้นแตกต่างจากมาตรา 112 อย่างสิ้นเชิง บางประเทศมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นประมาทกษัตริย์ แต่ไม่เคยนำมาใช้หรือไม่นำมาใช้นานแล้ว บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ก็เพียงลงโทษปรับ และทุกประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ล้วนแล้วแต่กำหนดโทษต่ำกว่ามาตรา 112 มาก

และทิศทางแนวโน้มก็มีแต่จะยกเลิกโทษนี้ เช่น ในกรณีของเบลเยียม ศาลรัฐธรรมนูญเบลเยียมเพิ่งวินิจฉัยว่ากฎหมายความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ขัดรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรป ในประเด็นเรื่องขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออก หรือในกรณีของนอร์เวย์ ปัจจุบันประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ที่พึ่งประกาศใช้ในปี ค.ศ. 2015 ได้ยกเลิกความผิดฐานนี้ไปแล้ว

แม้ว่าไม่มีกฎหมายมาตรา 112 ไปแล้วก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาคุ้มครองอยู่ดี และการที่จะฟ้องหรือไม่ฟ้องใคร ก็ควรเป็นเรื่องส่วนตัว ให้แต่ละคนไปพิจารณากันเองว่าจะอย่างไร เสียหายหรือไม่ อาจคิดว่าไม่เสียหาย หรือเสียหายแต่ไม่อยากเอาความก็ได้ อย่างกรณีของตน ก็มีคนหมิ่นประมาทเต็มไปหมด ตนก็ไม่เคยได้ไปเอาความ เพราะถือว่าเข้ามาเป็นบุคคลสาธารณะแล้ว การถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ ก็ให้ประชาชนตัดสินว่าถ้ามาว่ากล่าว มาด่านั้น มีเหตุมีผลหรือไม่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน

กฎหมายหมิ่นประมาทควรคิดจากฐานนี้ให้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลไปพิจารณากันเอง และทิศทางแนวโน้มของประเทศประชาธิปไตยส่วนมากเขาก็ยกเลิกโทษทางอาญาจากการหมิ่นประมาทไปแล้ว ให้เหลือแต่โทษท่างแพ่ง แล้วก็ให้แต่ละคนไปพิจารณากันเองว่าจะฟ้องร้องเอาความหรือไม่ แต่ในกรณี 112 ลักษณะความผิดไม่ได้สัดส่วนกับโทษ และอยู่ในลักษณะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร และใครๆ ก็สามารถไปฟ้องร้องได้ด้วย เท่านั้นยังไม่พอ ยังสามารถไปฟ้องที่ไหนก็ได้ และยังไม่มีเหตุยกเว้นความผิด ยกเว้นโทษด้วย จึงเห็นได้ว่า กฎหมายมาตรา 112 มีปัญหาชัดเจน

นอกจากนี้ ข้อกล่าวอ้าง ที่บอกว่า ถ้าไม่ทำผิดจะไปกลัวอะไร ถ้าใช้ตรรกะนี้ต้องใช้คำพระว่า เถยจิต คิดแบบนี้ คิดในแง่ร้ายหมดเลย แบบที่คุณอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยบอกว่า ถ้าเราไม่คิดทำผิดกฎหมาย ทำไมต้องกลัวรับโทษทางกฎหมาย หากบอกแบบนี้ต้องไปเรียนอาชญวิทยาใหม่แล้วครับ ถ้าใช้ตรรกะเดียวกัน คุณอนุทินและพรรคภูมิใจไทยแก้ไขกฎหมายกัญชาทำไม ก็ชัดเจนว่าแก้ไขเพราะจะเปิดทางให้คนใช้ได้ เสพได้ ใช้รักษาโรคได้ เป็นพืชเศรษฐกิจได้

ตอนยังมีกฎหมายควบคุมอยู่ ก็แสดงว่า คนเหล่านี้ต้องการทำผิดกฎหมาย ณ วันนี้เลยต้องแก้ เพื่อทำให้ไม่ผิดกฎหมายไงครับ ผมไม่เคยใช้ตรรกะแบบนี้เลย เพราะผมเห็นว่านี่คือนโยบาย เป็นนิตินโยบาย ในเมื่อกฎหมายมีปัญหาก็ต้องแก้ ถ้ากัญชามีประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลก็ต้องแก้ ก็ต้องเปิดทางให้ทำ ถ้าจะเปิดให้คนได้เสพในที่จำกัดได้บ้าง ก็ต้องแก้กฎหมาย แล้วมันผิดอะไร ในทำนองเดียวกัน ถ้า 112 มีปัญหา โทษสูง ปล่อยให้ใครต่อใครไปแจ้งความก็ได้ แล้วคนโดนคดีกันสองร้อยกว่าคน เด็กโดนคดีกัน 17 คนเนี่ย แบบนี้ไม่มีปัญหาหรือครับ ถ้ามีปัญหาก็ต้องแก้ครับ ถ้าคุณอนุทินคิดแบบนี้ว่าใครคิดจะแก้ไขกฎหมายอาญาแสดงว่าจะเตรียมทำผิด ถ้าอย่างงี้ประเทศไทยแก้ไขกฎหมายอาญาไม่ได้เลยสักมาตราเดียว

และที่ไม่สบายใจที่สุด คือ พอแต่ละพรรค ส.ส. แต่ละคน ผู้มีอำนาจไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึงสื่อมวลชนบางส่วน บางฝ่ายที่ไม่ได้เห็นด้วย หรือแม้แต่ไอโอที่มีการไปปลุกระดม ปั่นกระแสต่างๆ ก็ไปทำในลักษณะที่ว่า พรรคก้าวไกลเขาแตะแต่เรื่อง 112 ไป Branding ตีตราให้พรรคเขากลายเป็นพรรคที่มีวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร ทำแบบนี้มีประโยชน์ตรงไหน ถ้ามัวแต่มาทำแบบนี้ พูดว่าพรรคก้าวไกลมีแต่เรื่อง 112 โดยจงใจไม่พูดถึงว่าเขาเป็นพรรคที่เตรียมทำเรื่องเศรษฐกิจ สวัสดิการสังคม ปฏิรูปกองทัพ กระจายอำนาจ ฯลฯ

หากหมกมุ่นพูดแต่ว่าก้าวไกลเป็นพรรคที่ทำแต่เรื่อง 112 แล้วพอถึงเวลาเขาลงเลือกตั้ง แล้วได้คะแนนเสียงมา หากได้เท่าเดิมเท่ากับตอนอนาคตใหม่คือ 6 ล้าน 3 แสนเสียง หรือได้เพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ได้ ส.ส. เข้าสภามา แล้วไป Branding ให้พรรคก้าวไกลเป็นแบบนี้ ถ้าเป็นเช่นนี้ใครเดือดร้อน พรรคก้าวไกลและประชาชนที่เลือกพรรคก้าวไกลไม่น่าจะเดือดร้อน แล้วเกิดลงเลือกตั้งแล้วเขาได้คะแนนมาเยอะ ได้มากกว่าพรรคที่ประกาศตัวทุกวันว่าจงรักภักดี ประชาชนจะคิดกันอย่างไร อยากให้ลองพิจารณากันให้ดีๆ ว่าควรใช้วิธีการแบบนี้หรือไม่ จะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่

#เอาปากกามาวง #มาตรา112

ภาพ นายศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” โต้ “ปิยบุตร” ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากเพจเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ของ นายศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความ ว่า

“พรรคการเมืองเกือบทั้งประเทศทำถูกต้องแล้ว ที่ต่างออกมาแสดงจุดยืนว่า จะไม่มีนโยบายแก้ไข ม.112 หรือยกเลิก ม.112 โดยเด็ดขาด เพราะ ม.112 ไม่ได้ทำให้ประชาชนคนปกติทั่วไปเดือดร้อน มีแต่คนที่คิดร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้นที่เดือดร้อน

ส่งผลให้ใครบางคนเดือดเนื้อร้อนใจเพราะท่าทีของบรรดาพรรคการเมืองที่มีต่อ ม.112 ในครั้งนี้ จนถึงกลับต้องออกมาดิ้นเร่าๆ เพราะอยู่เบื้องหลังการป้อนชุดความคิดกับวาทกรรมโกหกบิดเบือน คอยชี้นำให้คนอื่นทำผิดติดคุกติดตะรางแทนตัวเองอย่างอำมหิต

การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไข ม.112 หรือ ยกเลิก ม.112 จึงเป็นการโดดเดี่ยวจากประชาชนอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่ใช่ความต้องการอันแท้จริงของประชาชนแต่อย่างใด หากแต่เป็นความต้องการของคนหนักแผ่นดินกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีแต่จะสร้างปัญหาให้เกิดความแตกแยกในสังคมเท่านั้น”

ภาพ ดร.เสรี วงษ์มณฑา ซัด “ปิยบุตร” บิดเบือน จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า

“กะปิบูดอธิบายเหตุผลในการยกเลิกมาตรา 112 ด้วยข้อความที่บิดเบือน กล่าวหาว่าประเทศไทยใช้มาตรานี้มากมายหลายร้อย มากกว่าประเทศอื่นอย่างน่าละอาย

การที่ในประเทศไทยมีการดำเนินคดีดูหมิ่น หมิ่นประมาท ขมขู่ อาฆาตมาดร้ายองค์พระประมุขมากกว่าประเทศอื่น จึงมีการดำเนินคดีมากกว่าประเทศอื่น

กะปิบูดพูดแต่การถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของการทำผิด แต่ไม่พูดพฤติกรรมทำผิดกฎหมายที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ถูกดำเนินคดี

กะปิบูดถามว่าเราไม่อายต่างชาติบ้างหรือ ที่มีการดำเนินคดี 112 มากมายขนาดนี้ ก็อยากถามกลับไปว่า กะปิบูดไม่อายบ้างหรือที่พูดจาบิดเบือนความจริงเช่นนี้

สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เคยเป็นปัญหาของประเทศ มีแต่พระมหากรุณาธิคุณที่ปกเกล้าปกกระหม่อมให้คนไทยได้อยู่อย่างร่มเย็น

นักการเมืองอย่างกะปิบูดที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทย ด้วยความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”

แน่นอน, สิ่งที่เห็นได้ชัด และนำมาสู่ความต้องการแก้ไข ม.112 (หมิ่นสถาบันฯ) ก็คือ ความต้องการ “ปฏิรูปสถาบันฯ” ที่ “ปิยบุตร” พูดไม่หมด และอธิบายแค่ครึ่งเดียว

ความต้องการ “ปฏิรูปสถาบันฯ” ทำให้เกิดพรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่ต่อสู้เรื่องนี้ และเกิดม็อบเยาวชน “คนรุ่นใหม่” ที่ถูกปลุกปั่นจากนักการเมืองและนักวิชาการบางกลุ่ม จนนำมาสู่การทำผิดกฎหมาย ม.112 จำนวนมาก เพราะมีการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันฯมาตลอด นับแต่ก่อม็อบกระทั่งทุกวันนี้

ดังนั้น ความต้องการแก้ไข ม.112 จึงมีที่มาและที่ไป มิใช่อยู่ๆ ตัวบทกฎหมาย การบังคับใช้ ก็มีปัญหา หรือ อยู่ๆ ก็มีคนเอาไปใช้เป็นเครื่องมือ กลั่นแกล้งรังแกกันทั้งบุคคลทั่วไปและในทางการเมือง

ถามว่า ต้นเหตุอยู่ตรงไหน ปลายเหตุอยู่ตรงไหน ก็ลองคิดเอาเองว่า จะแก้ที่ปลาย หรือต้นเหตุ


กำลังโหลดความคิดเห็น