เชื่อ “สมศักดิ์ เจียม” เถอะ! ค้านแก้ไข 112 “เพื่อไทย” อาจฝันค้าง กับความหวังจัดตั้งรัฐบาล ขณะ “ก้าวไกล” ไม่ได้ ส.ส.ก็สู้ต่อ “ปิยบุตร” ฟาด นักการเมือง-พรรคการเมือง เห็นแก่ตัว “กูรู” กม.ชี้ชัด เหตุให้ “ยุบก้าวไกล”
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 ต.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ ลี้ภัยคดี 112 ในฝรั่งเศส โพสต์ข้อความระบุว่า
“ความจริงพรรคเพื่อไทยก็คัดค้านการแก้ไข 112 มาแต่ไหนแต่ไร มีช่วงหนึ่งเท่านั้นที่บางคนในพรรคทำเกินเลย บอกจะพิจารณา แต่ก็เงียบหายไปโดยเร็ว สมัยหลัง (หลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชน) พรรคเพื่อไทยหันมาพูดแบบเลี่ยง “เอาเศรษฐกิจก่อน” ความจริงเป็นการ “ขยับ” ท่าทีนิดหน่อย คือ สมัยก่อนคนอย่าง เฉลิม อยู่บำรุง ออกมาคัดค้านเลย สมัยนี้ไม่พูดเสีย หลบเลี่ยงแทน และเมื่อมีเรื่องอื่นที่ยิ่งกว่า 112 เช่น งบประมาณวัง “ราชการในพระองค์” ก็ลงมติสนับสนุนเลยในสภา
ผมสงสัยว่า ในขณะที่ดูเหมือนเรื่องอื่นๆ “ร่วมกันได้” จึงมีกิจกรรม “ฝ่ายค้าน” ร่วมกันอยู่เสมอ จะเป็นอย่างนี้อีกนานเท่าไร? คราวหน้ามองอย่างเลวร้ายเลย ก้าวไกลอาจจะไม่ได้ที่นั่งในสภาหรือได้ไม่เท่าไร แล้วไง? คนที่มุ่งอยากได้เสียงจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ได้ ก็มองได้แค่นั้น
เป้าหมายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็ยังอยู่และเราก็หาทางต่อไป”
ขณะเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า
“นี่คือความเห็นของ “ผู้แทน” ของ “ราษฎร” หรือ “ผู้แทน” ของ “ใคร” กันแน่???
ตลอดสัปดาห์นี้ ได้เห็น “ปฏิกริยา” ของนักการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แกนนำพรรค และหัวหน้าพรรค หลายคน ต่อเรื่องมาตรา 112
ฟังๆ ดูแล้ว ก็นึกสงสัยว่า พวกเขาทำหน้าที่ “ผู้แทน” ของ “ราษฎร” หรือ “ผู้แทน” ของใครกันแน่?
นอกจากพวกเขาจะจงใจไม่เข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจประเด็นปัญหา มาตรา 112 แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่า คนเหล่านี้ คิดถึงอำนาจ เงินทอง ตำแหน่ง ของพวกตน มากกว่าการแก้ไขปัญหาระยะยาว
อยากถามประชาชนว่า คิดว่านักการเมืองพวกนี้ ต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์ หรือต้องการปกป้องตนเองให้อยู่ในอำนาจได้ตลอดไปกันแน่?
เชื่อหรือครับว่า คนพวกนี้ไม่พูดวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ในที่ลับ ในวงข้าว วงเหล้า กันเลย?
เชื่อจริงๆ หรือครับว่า คนพวกนี้ ไม่เคยมองเห็นปัญหาของมาตรา 112?
ลองคิดดูสิครับว่า ถ้า ส.ส.ในสภาพร้อมใจกันทำเรื่องนี้ อำนาจนอกระบบใดๆ จะทำลายได้
และต่อให้ทำลายได้ การเมืองไทยก็จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
คิดถึงอนาคตของสังคมไทย ของลูกหลาน
ของประชาธิปไตยไทย
และของสถาบันกษัตริย์ไทย บ้างเถิดครับ
อย่าเห็นแก่ตนเองกันมากเกินไปนักเลย”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักวิชาการชื่อดังด้านกฎหมายมหาชน และรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกล ประกาศนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า
ขณะนี้เข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ดังนั้น ทุกพรรคการเมืองจะต้องเสนอนโยบายเพื่อแข่งขันทางการเมืองและสร้างคะแนนนิยม เป็นสัญญาประชาคมให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง หรือเป็นแคมเปญสร้างกระแสทางการเมือง หากนโยบายเกี่ยวข้องกับใช้จ่ายเงิน ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ มาตรา 57 จะต้องแสดงวงเงินและที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ แต่จะต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ส่วนประเด็นมาตรา 112 เป็นนโยบายพรรคก้าวไกลที่เสนอแก้ไข ไม่เกี่ยวข้องกับการเงิน สามารถเสนอเป็นนโยบายพรรคได้ แต่ต้องพิจารณาถึง พ.ร.บ.พรรคการเมืองด้วยว่า ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งบทบัญญัติมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา เป็นเพียงกฎหมายในชั้นพระราชบัญญัติ ชั้นลำดับศักดิ์กฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีข้อห้ามแก้ไขตามมาตรา 255 ดังนั้น นโยบายแก้ไขมาตรา 112 ที่พรรคก้าวไกลเสนอ ย่อมไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาตรา 112 คุณธรรมทางกฎหมายมุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และบัญญัติอยู่ในภาค 2 ความผิด ลักษณะ 1 หมวดความผิดเกี่ยวด้วยความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี
หากพิจารณาถึง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 20 พรรคการเมืองมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการทางการเมืองตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตรงนี้ แม้นโยบายพรรคก้าวไกลไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่คาบเกี่ยวกับการกระทำและพฤติการณ์ “ล้มล้างการปกครอง” หรือ “ปฏิปักษ์การปกครอง” เป็นเหตุให้ยุบพรรคได้ ตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ได้แก่
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จะเห็นได้ว่า แม้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่มิบังควรหรือไม่ ตรงนี้ อาจนำไปสู่ช่องทางร้องยุบพรรคในที่สุด ที่ผ่านมา มีตัวอย่างให้เห็นในการเลือกตั้งปี 2562 ที่พรรคไทยรักษาชาติ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่กระทำผิดกติกานำไปสู่การยุบพรรคก่อนการเลือกตั้ง และเห็นว่า ไม่ควรไปแก้ไขกฎหมายอาญามาตรานี้
พรรคก้าวไกลต้องตอบประชาชนให้ได้ ว่า หากยกเลิกมาตรานี้ เป็นประชาธิปไตยอย่างไร ประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างไร ที่ผ่านมา จะเห็นเพียงนักการเมืองใช้มาตรา 112 ฆ่าศัตรูทางการเมืองอ้างเหตุไม่จงรักภักดี ตัวอย่างในอดีตมีคนตะโกนในโรงหนัง สมัยคุณปรีดี พนมยงค์ ยิ่งใหญ่ เรืองอำนาจ ว่าอะไร อย่างไร ไปศึกษากันเอง
ท่านทั้งหลาย อย่าลืมว่า ขณะนี้ กฎหมายเลือกตั้ง กรณีหาเสียงล่วงหน้า 180 วัน นับแต่วันที่ 24 กันยายน ถึงก่อนวันเลือกตั้ง กฎเหล็กควบคุมพรรคการเมือง ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง นโยบายปากท้องพี่น้องประชาชน มาแข่งนโยบายจะดีกว่า การแก้ไขมาตรา 112 จะกระทบกระเทือนพระราชอำนาจ เชื่อว่า ประชาชนคนไทย ส่วนใหญ่ไม่สบายใจกับนโยบายดังกล่าว
แน่นอน, นโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายนโยบายการเมืองก้าวหน้าของพรรคก้าวไกล ถือว่า ได้รับความสนใจในมุมที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรค มากกว่า “ประชาชน” จะเทคะแนนนิยมให้?
เนื่องเพราะ เป็นที่ทราบกันดีว่า การแก้กฎหมายดังกล่าว ก็เพื่อจะให้โทษเบาลง และเงื่อนไขในการฟ้องร้องที่ไม่ง่ายเหมือนกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งต้องการให้มีศักดิ์และสิทธิเสมอภาคกับคนทั่วไป
หรือ พูดให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ จากกฎหมายที่เป็นการปกป้องประมุขของรัฐ และเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีโทษหนัก คนไทยทุกคนถือเป็นผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ก็แก้มาเป็น กฎหมายหมิ่นประมาทเหมือนคนธรรมดา มีโทษเท่ากับคนธรรมดา และระบุชัดว่า ใครสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้
นี่คือ สิ่งที่หลายคนเชื่อว่า เป็นการ “มิบังควร” ทั้งยังถูกมองว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “กฎหมาย” แต่อยู่ที่ “คนทำผิดกฎหมาย” หรือ คนที่ต้องการจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันฯมากกว่า ที่ทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองที่พวกตัวเองต้องการต่อสู้
ที่สำคัญ เริ่มมีคนออกมาชี้แนะว่า คนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งยังมีความจงรักภักดีต่อ “สถาบันฯ” อาจไม่สบายใจ ที่พรรคการเมืองบางพรรค เสนอนโยบายที่ส่อกระทบกระเทือนพระราชอำนาจหรือไม่
ดังนั้น ถ้ารอด “คดียุบพรรค” ไปได้ ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนคนไทย ว่าจะไว้วางใจให้แก้ไข ม.112 หรือไม่