xs
xsm
sm
md
lg

ม.112 ชนวน พท.สะดุด การเมืองแบ่งขั้วชัด!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อนุทิน  ชาญวีรกูล  - จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
เมืองไทย 360 องศา


พิจารณาตามรูปการณ์แล้วในการเลือกตั้งครั้งหน้า นโยบายหลักที่หลายพรรคการเมืองนำมาใช้ในการหาเสียง ก็คือ การยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยอ้างเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือประชาชนมีส่วนร่วม ขณะเดียวกัน ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะทำให้เกิดการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน รวมไปถึงจะทำให้บางพรรคเกิดปัญหาในเรื่องพันธมิตรจัดตั้งรัฐบาลอีกด้วย

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม ก็คือ ประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่บางพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกลพยายามผลักดันขึ้นมา จะส่งผลกระทบไปถึงพรรคอื่นแบบคาดไม่ถึง นั่นคือ มีผลกระทบต่อการ “จับขั้ว” ทางการเมืองหลังการเลือกตั้งนั่นเอง และพรรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กลับเป็นพรรคเพื่อไทย

หากกล่าวในรายละเอียด จะเห็นว่า เวลานี้มีหลายพรรคการเมืองที่เริ่มประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ล่าสุด ก็เป็นพรรคประชาธิปัตย์ โดย นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช และประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกล มีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบก้าวหน้า 9 ประเด็น ว่า ที่ผ่านมา พรรค ปชป. เป็นพรรคเดียวที่สามารถเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ และวันนี้จุดยืนของพรรค ปชป. ชัดเจนว่า เราจะขอแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญทุกประเด็น โดยเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดังนั้น มีประเด็นใดก็แล้วแต่ที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เราไม่ขัดข้อง แต่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 112 และหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า พรรค ปชป.เห็นด้วยกับการทำประชามติ พร้อมการเลือกตั้งครั้งถัดไปเหมือนเคยพูดในสภามาแล้ว เพื่อให้ประชาชนร่วมแสดงความคิด ว่า จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ และประหยัดงบประมาณถึง 3 พันล้านบาท รวมทั้งให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรมนูญ ที่เคยมีคำวินิจฉัยออกมาว่า หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามติก่อน เพื่อที่จะได้ยึดมั่นตามประชามติของประชาชน

ส่วนความคิดเห็นของพรรคการเมืองอื่นจะเป็นอย่างไร คิดว่า ในช่วงเลือกตั้งจะได้มีการพูดคุยกับพี่น้องประชาชน เพื่อแสดงให้เห็นว่า พรรค ปชป. ยืนหยัดในอุดมการณ์ และยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ให้รัฐธรรมนูญสามารถตอบโจทย์พี่น้องประชาชน ที่เรียกว่า ประชาธิปไตยกินได้ ที่สำคัญที่สุด คือ ให้กฎหมายรัฐธรรมนูญเข้ามาควบคุมกระบวนการทางการเมือง ข้าราชการ ให้บริหารราชการแผ่นดิน ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และถ้าใครก็ตามมีการทุจริตคอร์รัปชัน พรรค ปชป. ไม่ยอมรับในการทุจริต

“ขอให้ทุกอย่างยึดตามหลักกฎหมาย แต่ถ้าใครดำเนินการเพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าพรรคที่จะดำเนินการเอาใครคนหนึ่งกลับบ้าน หรือพรรคที่จะดำเนินการ ที่มีนโยบายอาจจะไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเรื่องของพรรคนั้นๆ ที่ต้องรับผิดชอบ” นายชินวรณ์ กล่าว

โดยก่อนหน้านั้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยยืนยันชัดเจนในแบบเดียวกันมาแล้ว

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีอุดมการณ์ทางการเมือง ปกป้องสถาบันสำคัญของชาติ เป็นข้อแรก เป็นหัวใจในการทำงานของพรรค และเป็นอุดมการณ์ที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ทุกคน ยึดถือเป็นหลักในการทำงานรับใช้พี่น้องประชาชน

พรรคภูมิใจไทย ไม่มีนโยบาย ไม่มีความคิดเรื่องแก้ไข ม.112 และไม่เข้าใจว่าคนที่เสนอแก้ไข ม.112 เดือดร้อนอะไรกับกฎหมายอาญา ม.112

ถ้าเราไม่คิดทำผิดกฎหมาย ทำไมต้องกลัวรับโทษทางกฎหมาย ผมเชื่อว่า คนไทยส่วนใหญ่ ไม่รู้สึกว่ากฎหมายอาญา ม.112 เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ใช้ชีวิตประจำวัน จะมีก็แต่กลุ่มคนที่คิดจะท้าทาย คิดจะทำผิดกฎหมาย แต่ก็กลัวโทษตามกฎหมาย จึงมาเรียกร้องให้แก้กฎหมาย ให้สิ่งที่ตนจะทำ เป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย ไม่ต้องรับโทษ

“ผมมั่นใจว่า การแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 ไม่มีทางได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ใครจะคิดอย่างไร ลงมติอย่างไร ก็เป็นสิทธิของเขา แต่พรรคภูมิใจไทย หัวหน้าพรรคพูดแทนสมาชิกทุกคนได้เลยว่า เราไม่แก้ไข และจะคัดค้าน ขัดขวางถึงที่สุด รวมทั้งจะไม่ร่วมมือ ร่วมทำงาน กับพรรคการเมือง นักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองที่เสนอแก้ไข ม.112 ทุกระดับ รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า หรืออีกกี่ครั้งก็ตาม”

ถามว่า แสดงว่า พรรคภูมิใจไทย จะไม่จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ที่เสนอแก้ไข ม.112 นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีทางอย่างแน่นอน ไม่ใช่เฉพาะพรรคก้าวไกล แต่พรรคภูมิใจไทยจะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่มีพรรคการเมืองที่มีนโยบาย มีแนวคิดแก้ไข ม.112 รวมอยู่ด้วย เพราะมีอุดมการณ์ขัดแย้งกันจนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้

นั่นเป็นท่าทีชัดเจนแล้วอย่างน้อยสองพรรค คือ ประชาธิปัตย์ กับ ภูมิใจไทย โดยเรื่องแรกคือพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่าง แต่ยืนยันไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะการคัดค้านการแก้ไข มาตรา 112 ขณะที่พรรคภูมิใจไทย ก็หนักแน่นไม่เอาด้วยกับการแก้ไข ม.112 และไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคที่มีแนวคิดแบบนี้อย่างเด็ดขาด

นั่นก็หมายความว่า ทั้งสองพรรคดังกล่าวไม่มีทางร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลอย่างเด็ดขาด เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นพรรคที่มีแนวคิด และผลักดันการแก้ไข มาตรา 112 มาตลอด ขณะเดียวกันยังมีอีกพรรคหนึ่งที่แม้ยังไม่ได้ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ คือ พรรคพลังประชารัฐ แต่ก็มั่นใจว่าไม่เอาด้วยอย่างแน่นอนกับเรื่องดังกล่าว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ที่เหลือ เนื่องจากต้องไปในทางเดียวกันอยู่แล้ว สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ขณะเดียวกัน ก็ต้องแยกบางพรรคการเมืองออกมาพิจารณากันแบบเฉพาะเจาะจง นั่นคือ พรรคเพื่อไทย ที่หลายฝ่ายมองเห็นตรงกันว่า น่าจะเป็นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง มี ส.ส.มากที่สุด แต่จะมีปัญหาในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะกลายเป็นว่า “มีข้อจำกัด” ในตัวเอง เนื่องจากแม้จะชนะ แต่โอกาสที่จะมาแบบ “แลนด์สไลด์” แบบถล่มทลาย เป็นไปได้ยาก เพราะมีหลายสาเหตุ เช่น ห่างหายจากอำนาจรัฐมานาน สถานการณ์เปลี่ยนไป หลายพรรคมีพัฒนาการปรับตัว โดยเฉพาะพรรคคู่แข่งในพื้นที่หลัก เช่น ภาคอีสาน และมวลชนที่เคยสนับสนุนก็ไม่ได้มีเอกภาพเหมือนเดิม จะขายของเก่าแบบเดิมไม่ค่อยได้ผลแล้ว

นอกเหนือจากนี้ ยังมีเงื่อนไขในสภาที่ยังมี 250 ส.ว.ที่ยังมีสิทธิโหวตนายกฯได้อีกครั้งยังเป็นกำแพงขวางอยู่ ดังนั้น หากจะตั้งรัฐบาลแบบสะดวก ก็ต้องมาให้ได้เกินสามร้อย เพื่อสร้างกระแสกดดัน แต่ในความเป็นจริงถือว่ายาก แม้แต่ 250 เสียงก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย

นอกเหนือจากนี้ ยังมีประเด็นแก้ไข มาตรา 112 ที่ล่าสุดพรรคเพื่อไทยยังสงวนท่าทีไม่ตอบรับ หรือปฏิเสธ “ไม่ฟันธง” แต่นั่นกลับทำให้เกิดผลลบมากกว่าผลบวก เพราะแม้อาจจะเข้าใจได้ว่า “ไม่อยากขัดใจมวลชน” บางกลุ่ม แต่นั่นกลับทำให้มวลชนอีกกลุ่มที่ยังลังเล ได้ตัดสินใจหันหลังให้ทันที หรืออาจยังคิดจะใช้พรรคก้าวไกลเป็นอะไหล่ร่วมรัฐบาล แต่อีกด้านหนึ่งยังไม่ออกตัวทางใดทางหนึ่ง ต้องการ “แทงกั๊ก” ไปก่อน แต่เรื่องแบบนี้ถือว่าละเอียดอ่อน กลับต้องชัดเจน ไม่ต้องอ้อมค้อม ลีลา เหมือนกับที่พรรคประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย ได้ประกาศไปแล้ว

ดังนั้น ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นแก้ไขมาตรา 112 จะทำให้ประชาชนตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในสนามเลือกตั้งแล้ว ยังได้เห็นถึงการ “แบ่งขั้ว” ทางการเมืองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังจะได้เห็นถึงความโดดเดี่ยวของบางพรรค เช่น พรรคเพื่อไทย ที่เวลานี้ยังไม่ชัดเจน ซึ่งกลายเป็นผลลบมากกว่าผลบวก เรื่องแบบนี้จะคลุมเครือไม่ได้เป็นอันขาด !!



กำลังโหลดความคิดเห็น