xs
xsm
sm
md
lg

จริงหรือ? “เทพมนตรี” แง้ม “ก.พ. 2566 ยุบพรรคก้าวไกล” “จรัล” เผย ช่วย “มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ” ลี้ภัย 112 ในฝรั่งเศส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ก้าวไกลเดินหน้าประกาศนโยบายแก้ ม.112
โหรเทพ? “เทพมนตรี” โพสต์สั้นๆ แต่เสียววาบไปทั้งพรรค “ก.พ. 2566 ยุบก้าวไกล” “จรัล” เผย ช่วย “มิ้นท์ นาดสินปฏิวัติ” หลังถูกปล่อยตัวจากศูนย์กักกันในฝรั่งเศสเดินหน้าลี้ภัยต่อ “นิพิฏฐ์” เตือน “นัก ปชต.” ต้องอดกลั้นสูง

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (20 ต.ค. 65) นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กสั้นๆ ว่า

“พรรคก้าวไกลอาจถูกยุบ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 สัตว์โลกเป็นไปตามกรรมครับ”

ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดี นอกจากพรรคก้าวไกล จะถูกร้องเอาผิดคดียุบพรรคอยู่แล้ว ยังพบว่า กำลังท้าทายอย่างสูงในการประกาศนโยบายแก้ไข ม.112 และ ม.116 ที่เกี่ยวกับสถาบันฯและความมั่นคง

โดยเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเปิดงานแถลงนโยบายชุดแรกของพรรค ได้แก่ “การเมืองไทยก้าวหน้า” ระบุว่า ชุดนโยบายของก้าวไกล เป็นบ้านนโยบายที่ชื่อว่า “ไทยก้าวหน้า” มีเป้าหมายคือการสร้างประเทศไทยที่ก้าวหน้าใน 9 ประเด็น คือ การเมืองไทยก้าวหน้า ราชการไทยก้าวหน้า ทุกจังหวัดไทยก้าวหน้า เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า เกษตรไทยก้าวหน้า สวัสดิการไทยก้าวหน้า การศึกษาไทยก้าวหน้า สุขภาพไทยก้าวหน้า และสิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า โดยทั้งหมดอยู่บนฐานคิดเดียวกัน คือ ประเทศไทยเป็นของประชาชน...

ภาพ นายรังสิมันต์ โรม แถลงนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้า แก้ม.112,116 นิรโทษกรรมทางการเมือง ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊กพรรคก้าวไกล
ที่น่าสนใจ นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล แถลงนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้า เรื่องศาลและกระบวนการยุติธรรม เริ่มจากการปฏิรูปศาลให้ยึดโยงรับใช้ประชาชน ให้ผู้พิพากษาต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน

และแก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ กฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เสนอแก้ไขไปแล้ว และขณะนี้ร่างแก้ไขชุดกฎหมายเหล่านี้ ได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาแล้ว ยกเว้นร่างแก้ไขกฎหมาย 112 ที่สภาไม่ยอมบรรจุเข้าวาระ โดยอ้างว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่พรรคก้าวไกลยืนยันจะเดินหน้าผลักดันต่อไปหากได้เป็นรัฐบาล และย้ำว่า การแก้ 112 ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ได้กระทบต่อพระราชสถานะองค์พระมหากษัตริย์ ในฐานะประมุขของประเทศ

นอกจากนี้ นายรังสิมันต์ ยังเปิดนโยบายการนำรัฐบาลไทยให้สัตยาบันรับเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เพื่อชำระสะสางคดีอาชญากรรมที่รัฐกระทำต่อประชาชน เช่น เหตุการณ์สังหารหมู่คนเสื้อแดงในปี 2553 รวมถึงโศกนาฏกรรมตากใบ และป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมเช่นนี้อีกในอนาคต ยุติวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลที่เกาะกินประเทศไทย

รวมถึงข้อเสนอใหญ่ที่สุดของพรรคก้าวไกล คือ การนิรโทษกรรมคดีการเมือง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา เพื่อคืนความเป็นธรรมและอนาคตให้กับประชาชนที่ต้องคดีการเมืองเพียงเพราะแสดงความเห็นต่าง และวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

ภาพ นายรังสิมันต์ โรม แถลงนโยบายการเมืองไทยก้าวหน้า แก้ ม.112
ขณะเดียวกัน นายจรัล ดิษฐาภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประธานสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน ซึ่งลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส โพสต์เฟซบุ๊กสั้นๆ ว่า

“เมื่อวานไปรับรองกับศาลว่า จะช่วยเหลือผู้มาลี้ภัยคดี 112 ที่ถูก ตม.กักตัวที่ศูนย์เมื่อคืนนี้ เธอถูกปล่อยตัวจากศูนย์กักกัน มีสิทธิอยู่ในฝรั่งเศส 8 วัน มีอิสรภาพ เสรีภาพ และจะเข้าขบวนการขอลี้ภัย ต่อไป เธอโชคดีมากๆ

ในขณะที่มีผู้แสดงความคิดเห็นสอบถามด้วยว่า ช่วยบอกกระบวนการด้วยว่า ทำอย่างไร ออกจากประเทศไทยอย่างไร เข้าเข้ากระบวนการขอลี้ภัยได้อย่างไร

ทั้งนี้ คาดว่า จะเป็น น.ส.กัลยมน สุนันท์รัตน์ หรือ เจ๊เขียว หรือ มิ้นท์ นักเคลื่อนไหวกลุ่มนาดสินปฏิวัติ ซึ่งศาลไทยได้ให้ประกันตัวในการต่อสู้คดีมาตรา 112 แต่เจ้าตัวได้หลบหนีออกนอกประเทศ ซึ่งล่าสุด เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้ออกหมายจับ และปรับนายประกัน 2 เเสนบาทแล้ว”

อย่างไรก็ตาม มีรายงานเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้ออกหมายจับ น.ส.กัลยมน สุนันท์รัตน์ หรือ เจ๊เขียว นักเคลื่อนไหวกลุ่มนาดสินปฏิวัติ อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาชั้นฝากขังในคดีหมายเลขดำที่ 360/2565 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ

ซึ่งก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนนำมายื่นฝากขังต่อศาลและได้รับอนุญาตปล่อยชั่วคราว จนอยู่ระหว่างฝากขังครั้งที่ 7 ซึ่งต้องมีนัดส่งตัวเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ต้องหาที่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวไม่มารายงานตัวตามกำหนดโดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องจึงให้ออกหมายจับปรับนายประกัน 2 แสนบาท

นอกจากนี้ น.ส.กัลยมน ยังมีคดีของศาลอาญาธนบุรี หมายเลขดำที่ อ.701/2565 พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ข้อหาความผิดต่อพระมหากษัตริย์ และ พ.ร.บ.ควบคุมโฆษณา โดยศาลนัดพร้อมวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 หาก น.ส.กัลยมน ไม่มาตามนัด จะถูกออกหมายจับอีกคดีตามขั้นตอน

ก่อนหน้านี้ นายประวิตร โรจนพฤกษ์ นักเคลื่อนไหว และผู้สื่อข่าวอาวุโสข่าวสดภาคภาษาอังกฤษ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pravit Rojanaphruk ว่า แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ยืนยันกับผมวันนี้ว่า หนึ่งในผู้ต้องหาคดี #ม112 ได้หนีลี้ภัยไปต่างแดนหลังได้รับการประกันตัวจากศาล – ในภาพคือผู้ลี้ภัยหลังถึงต่างแดน เคสนี้คงจะทำให้เกิดการถกเถียงอีกรอบเรื่องสิทธิในการประกันตัว

สำหรับ น.ส.กัลยมน หรือ มิ้นท์ เคยเป็นครูอาสาสอนนาฏศิลป์ให้แก่เด็กพิการ จนได้รับฉายานางฟ้าของเด็กพิการ

ภาพ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า

“บรรดานักประชาธิปไตยทั้งหลาย และ ทนายความตั้งสติเถิด...

1. ประชาธิปไตย วัดกันที่ความอดกลั้นต่อความเห็นต่าง สังคมไหน อดทนต่อความเห็นต่างได้ดีกว่ากัน สังคมนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยสูง คนกลุ่มไหนมีความอดกลั้นต่อความเห็นต่างน้อยคนกลุ่มนั้นมีความเป็นประชาธิปไตยน้อย ไม่ว่าเราจะตีลังกาอ่านตำราไหนทางรัฐศาสตร์ หรือปรัชญาว่าด้วยประชาธิปไตยเขาวัดกันอย่างนี้จริงๆ ผิดจากนี้ คือ “เผด็จการ”

2. ความอดกลั้นที่กล่าวถึง ตามข้อ 1. เป็นความอดกลั้นทางจิตใจ อดกลั้นต่อคำพูด ที่เราไม่เห็นด้วย มิใช่ความอดกลั้นหรืออดทนต่อการถูกทำร้ายทางร่างกาย เพราะหากมีการทำร้ายต่อร่างกาย ทุกประเทศในโลกนี้ มีกฎหมายรองรับให้คนในสังคมมีหลักในการ “ป้องกันตัว” ในอันตรายต่อชีวิตร่างกาย และเป็นภัยที่ใกล้จะถึง กม.ไทยก็บัญญัติไว้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

3. สภาทนายความแห่งประเทศไทย ควรออกคำเตือนบรรดา “ทนายความหิวแสง” ที่ลงในสื่อต่างๆ ว่า รับเป็นทนายความให้คนนั้น คนนี้ โดยรับว่าความให้ฟรี มันผิดจริยธรรมและมรรยาททนายความ ทำให้วิชาชีพทนายความตกต่ำ บางคนทำตัวเป็นคู่กรณีเสียเอง นายกสภาทนายความท่านใหม่ควรออกมาตักเตือน แนะนำ อย่าให้คนหลงผิด ว่า การกระทำของทนายความเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้อง แท้จริงแล้วคือการทำลายวิชาชีพทนายความ

#ผิดไปจากนี้ นักรัฐศาสตร์/นักการเมือง/ผู้อวดอ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตย/หรือทนายความ โต้แย้งมาเลย”

แน่นอน, ประเด็นก็คือ ความขัดแย้งทางการเมืองในเรื่อง ป.อาญา ม.112 ซึ่งผู้กระทำผิด มักอ้างว่า ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่างทางการเมือง แล้วถูกดำเนินคดี

แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่จงรักภักดี และปกป้องสถาบันฯ มองว่า การถูกดำเนินคดีเพราะเข้าข่ายทำผิด ไม่ใช่แค่เห็นต่าง

แต่ทั้งหลายทั้งปวงอยู่ที่กระบวนการยุติธรรม หรือ “ศาล” จะเป็นผู้ตัดสินว่า ผิดหรือไม่อย่างไร ซึ่งหลายคดีมีทั้ง “ยกฟ้อง” และถูกตัดสิน “จำคุก” ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานในการทำผิดจริงหรือไม่นั่นเอง

นั่นก็แสดงว่า หากไม่มีการละเมิดกฎหมาย ก็จะไม่มีการกระทำความผิด และไม่ถูกลงโทษ หรือ ฟ้องร้องเอาผิดได้ หรือไม่

สิ่งที่น่าวิเคราะห์ก็คือ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง มีขบวนการหนึ่งเกิดขึ้น ซึ่งอ้างว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง และหนึ่งในเป้าหมายของขบวนการนี้ก็คือ ปฏิรูปสถาบันฯ และเริ่มเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากพรรคการเมืองบางพรรคถูกตัดสิน “ยุบพรรค” คดีนายทุนพรรคให้กู้เงินกับพรรคโดยมิชอบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับสถาบันฯ แต่พรรคการเมืองพรรคนี้มีแนวคิด “ปฏิรูปสถาบันฯ” อยู่ก่อนแล้ว

จากนั้น การเคลื่อนไหวก็เริ่มหนักข้อ และรุนแรงขึ้น ด้วยการก่อม็อบอย่างต่อเนื่องแทบจะรายวัน หรือ แค่เว้นช่วงระยะ จนกระทั่งนำไปสู่การทำผิดกฎหมายหลายมาตรา และหนึ่งในนั้นก็คือ ม.112 เนื่องจากการม็อบต่อต้านพุ่งเป้าไปที่ “สัญลักษณ์” ของสถาบันฯ จนนำไปสู่การทำผิดนั่นเอง เรื่องนี้คนไทยทุกคนรู้ดี เพราะเป็นข่าวแทบจะรายวัน กระทั่งเป็นความขัดแย้งมาจนถึงทุกวันนี้

สรุปก็คือ ถ้าไม่มีความเคลื่อนไหว หรือ ไม่มีความต้องการปฏิรูปสถาบันฯ และหรือ ละเมิดกฎหมาย โดยจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันฯ ไปจนถึงบางคนเข้าข่ายอาฆาตมาดร้าย ก็คงไม่มีใครต้องคดี 112 หรือมีใครเอากฎหมายไป “กลั่นแกล้งรังแก”?

ถ้าไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ ก็ไม่มีทางที่จะนำไปสู่การพูดคุยแก้ปัญหาได้เลย ไม่ว่าเวทีไหน เหตุผลอะไร ก็ตาม เพราะความเห็นต่างที่แท้จริงคือ สิ่งที่ต้องการที่แท้จริงว่า คืออะไรต่างหาก


กำลังโหลดความคิดเห็น