ศาล ปค.สูงสุด พิพากษายืนเพิกถอน คำชี้ขาดอนุญาโตฯ ปมพิพาทสัญญาร่วมงานขยายโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ทรูไม่ต้องจ่าย 1,217.5 ล้านบาท ชี้ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย-ขัดต่อความสงบเรียบร้อยศีลธรรมอันดี
วันนี้ (27 ต.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 10/2551 หมายเลขแดงที่ 55/2557 ลงวันที่ 26 มิ.ย. 2557 ที่ให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ต้องชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาพิพาทเป็นเงินจำนวน 1,217.5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,217.5 ล้านบาท แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องว่า เมื่อปี 2534 ผู้ฟ้องคดีและบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ต่อมาเกิดข้อพิพาทขึ้นคู่กรณีจึงได้เสนอข้อพิพาทดังกล่าวต่อคณะอนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาท หมายเลขดำที่ 10/2551 หมายเลขแดงที่ 55/2557 โดยมีคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้ฟ้องคดีชำระเงินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงตามคำเสนอข้อพิพาท เป็นเหตุให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว
ส่วนเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากเห็นว่าการที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2546 และวันที่ 11 ก.พ. 2546 มีผลทำให้ส่วนแบ่งรายได้ของบริษัท ทีโอที ลดลง แต่ส่วนแบ่งรายได้ของบริษัท ทรู ยังคงเท่าเดิม จึงขัดต่อ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และเป็นมติที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ และให้บริษัท ทรู ชำระเงินผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาพิพาทเป็นเงินจำนวน 1,217,505,724.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,217,505,724.17 บาท นั้นเป็นคำชี้ขาดข้อพิพาทที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลต้องเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวอีกทั้งเป็นคำชี้ขาดข้อพิพาทที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่ศาลปกครองสูงสุดต้องปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวตามมาตรา 43(4) และมาตรา 44 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ 2545