นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตุลาการศาลปกครองสูงสุด แถลงคดีให้ชาวบ้านชนะคดีโรงงานไทยฮั้วยางพาราบุรีรัมย์
วันนี้ (11 ต.ค.) ที่ศาลปกครองสูงสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ศาลปกครองสูงสุดนัดคู่กรณีเพื่อนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีที่ชาวบ้าน ต.บึงเจริญ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ รวม 106 คน ฟ้องเทศบาลตำบลบึงเจริญ กับพวกรวม 8 คน โดยมีบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ร้องสอด เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติและกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ
คดีนี้ผู้ฟ้องคดี ฟ้องว่า ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการประกอบกิจการโรงงานรีดยางพาราและเก็บรวบรวมเศษยาง-ยางแผ่น ของผู้ร้องสอดที่ปล่อยของเหลวและน้ำเสียทิ้งไปยังที่ดินบริเวณข้างเคียงโรงงาน และปล่อยให้มีกลิ่นเหม็นส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ฟ้องคดีทั้ง 106 คน (ประชาชนและนักเรียน) ในบริเวณดังกล่าว ทำให้มีการล้มป่วยจากการสูดดมสารพิษ โดยชาวบ้านได้พยายามร้องเรียนไปยังเทศบาลตำบลบึงเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ แต่กลับมิได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดระงับหรือยุติการประกอบกิจการ ทำให้ระชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา
ต่อมาศาลปกครองนครราชสีมาได้พิพากษาให้เทศบาลตำบลบึงเจริญ และอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ บังคับใช้อำนาจตามกฎหมายแก่โรงงานไทยฮั้วยางพารา ให้ดำเนินการป้องกัน ควบคุม และขจัดกลิ่นเหม็นและน้ำเสียจากการประกอบกิจการโรงงานรีดยางพารา และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ถึง 13 คนละ 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งคู่กรณียังไม่เห็นพ้องด้วยทั้งหมดต่อคำพิพากษาดังกล่าวจึงต่างคนต่างได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
โดยวันนี้ตุลาการผู้แถลงคดีในศาลปกครองสูงสุดได้แถลงความเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีคือนายเทศมนตรีบึงเจริญ ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติไม่ใช่อำนาจตาม ม.28 วรรคสอง และวรรคสาม ของ พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 และอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ใช้อำนาจตาม ม.39 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ.โรงงาน 2535 โดยไม่ใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นในการสั่งระงับการประกอบกิจการโรงงานหรือผู้ร้องสอด เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียหาย ถือว่าละเลยต่อหน้าที่ โดยสรุปตุลาการผู้แถลงคดีเห็นควรพิพากษาให้เทศบาลบึงเจริญ ใช้อำนาจตาม ม.28 วรรคสอง และวรรคสาม ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 และอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ใช้อำนาจตามกฎหมายตาม ม.39 วรรคหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.โรงงาน 2535 ที่เด็ดขาด หากผู้ร้องสอดยังคงเพิกเฉย ให้สั่งเพิกถอนใบอนุญาตทั้งหมดต่อไป นายศรีสุวรรณ กล่าวในที่สุด