xs
xsm
sm
md
lg

สิทธิฟ้องโต้แย้งผลการพิจารณาของแพทยสภา !

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

“องค์กรวิชาชีพ” อาทิ แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาทนายความ สภาวิศวกร เป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติและจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกใบอนุญาต การเพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาต รวมถึงอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งองค์กรดังกล่าวมิได้มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ หากแต่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองแทนรัฐในการควบคุมตรวจสอบการประกอบวิชาชีพต่าง ๆ จึงถือเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และถูกตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวได้โดยศาลปกครอง

ดังเช่นกรณีแพทย์ซึ่งถูกร้องเรียนกล่าวหาว่าทำการรักษาไม่เป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม แพทยสภาในฐานะเป็นองค์กรที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพเวชกรรมรวมทั้งจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพของแพทย์ จึงมีหน้าที่สอบสวนและพิจารณาวินิจฉัยให้ได้ความว่า แพทย์ผู้ถูกร้องเรียนได้ทำการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพหรือไม่ ซึ่งหากพบว่ามีมูลตามที่กล่าวหาจริง แพทยสภามีอำนาจลงโทษได้ตั้งแต่การว่ากล่าวตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต(ไม่เกิน ๒ ปี) ไปจนถึงบทลงโทษที่ร้ายแรงที่สุด คือ การเพิกถอนใบอนุญาต แต่หากข้อร้องเรียนใดตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่มีมูลความจริง หรือเห็นว่าแพทย์ได้ทำการรักษาเป็นไปตามหลักการและมาตรฐานทางวิชาชีพแล้ว แพทยสภาก็จะมีคำสั่งยกข้อกล่าวหาหรือยกข้อกล่าวโทษนั้น

สำหรับผู้ที่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรวิชาชีพ ในกรณีแพทยสภาดังที่ยกตัวอย่างมานั้น เป็นได้ทั้งผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งโดยตรง เช่น แพทย์ผู้ได้รับคำสั่งลงโทษ และผู้ร้องเรียนกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของแพทยสภาก็สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลปกครองตรวจสอบการทำหน้าที่ดังกล่าวได้

ในส่วนคดีที่ลุงถูกต้องนำมาเล่าในวันนี้ ... เป็นเรื่องของผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นมารดาของผู้ป่วย
ที่เสียชีวิตหลังจากได้รับการรักษาจากแพทย์ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง และได้ร้องเรียนกล่าวหาแพทย์

ผู้ทำการรักษาต่อแพทยสภา กรณีบุตรชายของตนซึ่งมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว โดยแพทย์ชายได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และได้ทำการรักษา
โดยฉีดยา Plasil และให้รอสังเกตอาการครึ่งชั่วโมง ผู้ป่วยอาการดีขึ้น จึงอนุญาตให้กลับบ้านได้และให้ไป

รอรับยา แต่ในระหว่างรอรับยาผู้ป่วยเกิดหมดสติ มีอาการหัวใจไม่ทำงาน เจ้าหน้าที่และแพทย์หญิงจึงได้ช๊อตไฟฟ้าและให้ยาเป็นเวลา ๔๕ นาที แต่ไม่เป็นผล ผู้ป่วยได้เสียชีวิต โดยแพทย์วินิจฉัยการเสียชีวิตว่า
เกิดจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการเสียชีวิตที่ผิดปกติ อันเกิดจากการประมาทของบุคลากรทางการแพทย์ จึงร้องเรียนให้แพทยสภาตรวจสอบแพทย์ชายและแพทย์หญิงที่ทำการรักษาบุตรชายของตน

คณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมได้รวบรวมเอกสารหลักฐาน รวมถึง
คำชี้แจงของผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียน และทำการพิจารณาประกอบความเห็นของราชวิทยาลัย

อายุรแพทย์แห่งประเทศไทยแล้ว เห็นว่า แพทย์ชายได้ทำการตรวจร่างกายผู้ป่วยแล้วพบว่าผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก โดยวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระเพาะอาหาร และได้อธิบายถึงทางเลือกในการรักษา ซึ่งผู้ป่วยได้ตัดสินใจรับการรักษาโดยการฉีดยา แพทย์ชายได้สอบถามถึงอาการแพ้ยาและประวัติโรคประจำตัวซึ่งผู้ป่วยแจ้งว่าไม่มีโรคประจำตัวและประวัติการแพ้ยา จึงได้เขียนใบสั่งการรักษาให้ฉีดยาแก้อาเจียน Plasil ให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งเป็นยาฉีดลดอาการอาเจียนชนิดเดียวที่ปรากฏอยู่ในรายการยาบัญชี ก. ของบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ถือเป็นยาสามัญที่สามารถใช้ได้ทั่วไป จึงเป็นยาชนิดเดียวที่แพทย์ทั่วไปใช้ได้ ส่วนยาฉีดลดอาการชนิดอื่น ๆ ที่มีอยู่ในรายการยาบัญชี ง. มีข้อบ่งชี้สำหรับอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเคมีบำบัดซึ่งใช้ได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ในกรณีนี้ยา Plasil จึงเป็นยาที่ไม่มี
ยาอื่น ๆ ทดแทนได้

ดังนั้น ถือว่าแพทย์ชายได้ตัดสินใจรักษาอย่างเหมาะสมแล้ว เนื่องจากผู้ป่วยรับประทานยาไม่ได้และจากบันทึกการรักษาพบว่าได้ตรวจสอบประวัติแพ้ยาและโรคประจำตัวของผู้ป่วยแล้ว ประกอบกับหลังฉีดยาได้ให้ผู้ป่วยนอนสังเกตอาการเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงและมีรถวางอุปกรณ์ช่วยชีวิตวางใกล้ผู้ป่วย อีกทั้งแพทย์และพยาบาลได้เฝ้าผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ ยังมีการยืนยันจากปากคำผู้ร้องเรียนว่าเพื่อนร่วมงานที่นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลได้รับแจ้งจากพยาบาลว่าต้องรอดูอาการสักพัก จึงเชื่อได้ว่าแพทย์ชายได้ใช้
ความระมัดระวังในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างเพียงพอแล้ว ถือได้ว่าแพทย์ชายให้การดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้ได้เหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น ๆ ภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่แล้ว

ส่วนแพทย์หญิงซึ่งได้รับรายงานให้มาร่วมรักษาผู้ป่วยเมื่อเวลาประมาณ ๒๐.๕๕ นาฬิกา
ว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น จึงได้มาร่วมดูแลในทีม CPR แพทย์หญิงได้ทำการกู้ชีวิตตาม CPR Guideline ทำการช๊อตไฟฟ้าและให้ยาต่าง ๆ โดยได้พยายามทำการกู้ชีวิตผู้ป่วยประมาณ ๔๕ นาที ผู้ป่วยไม่มีสัญญาณตอบสนองต่อการรักษา จึงได้หยุดการกู้ชีวิต ทั้งนี้ ตามความเห็นจากองค์คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นว่า ยา Diazepam ที่ให้ไม่มีผลส่งเสริมทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในระหว่างการช่วยฟื้นคืนชีวิตขั้นสูง เนื่องจากไม่มีผลต่อการเต้นของหัวใจ แม้ว่าอาจมีผลกดการหายใจได้ แต่กรณีในการช่วยชีวิตผู้ป่วยนั้นมีการช่วยหายใจเป็นปกติวิสัยอยู่แล้ว ยา Diazepam จึงไม่มีผลส่งเสริมให้ผู้ป่วยในกรณีนี้เสียชีวิต ดังนั้น จึงถือได้ว่าแพทย์หญิงได้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยได้เหมาะสมและเป็นไปตามมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพในระดับดีที่สุดในสถานการณ์นั้น ๆ ภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่แล้วเช่นกัน

คณะอนุกรรมการฯ จึงได้ทำความเห็นเสนอคณะกรรมการแพทยสภาว่า แพทย์ผู้ถูกร้องเรียนทั้งสองมิได้ประพฤติผิดข้อ ๑๕ หมวด ๔ ของข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๙ กรณีมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยมีมติยกข้อกล่าวหา คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้วเห็นพ้องด้วย จึงมีมติยกข้อกล่าวหา นายกแพทยสภาจึงได้ออกคำสั่งแพทยสภายกข้อกล่าวหาของผู้ฟ้องคดี

ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าคำสั่งยกข้อกล่าวหาของแพทยสภาไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยผู้ฟ้องคดีไม่ติดใจการพิจารณากรณีแพทย์หญิง แต่ติดใจการตรวจวินิจฉัยโรคของแพทย์ชาย

คดีมีประเด็นพิจารณาว่า คำสั่งแพทยสภาที่ยกข้อกล่าวหาแพทย์ชายที่ถูกร้องเรียน
ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า เมื่อศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ ทั้งหมดแล้ว พบว่าข้อมูลในเวชระเบียนที่บันทึกการรักษาผู้ป่วยในขั้นตอนต่าง ๆ จนกระทั่งเสียชีวิต มีการระบุช่วงเวลาที่ขัดแย้งกับคำชี้แจงของแพทย์ชายที่ชี้แจงต่ออนุกรรมการฯ หลายรายการ โดยที่ในขั้นตอนการรักษาดังกล่าวมีเพียงคำชี้แจงของแพทย์ชายเพียงฝ่ายเดียว เพราะไม่มีพยานบุคคลฝ่ายผู้ป่วยที่รู้เห็นขั้นตอนการรักษา จึงมีกรณีที่น่าสงสัยว่าแพทย์ชายได้ดำเนินการรักษาผู้ป่วยตามขั้นตอนที่ได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ จริงหรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นว่า ภายหลังจากที่ได้ฉีดยาลดอาเจียน Plasil ให้ผู้ป่วยแล้ว ได้มีการเฝ้าระวังสังเกตอาการผู้ป่วยเพื่อรอดูอาการกับผลกระทบจากการแพ้ยาและผลข้างเคียงของยาตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลหรือไม่

โดยในประเด็นเกี่ยวกับช่วงเวลาที่คลาดเคลื่อนระหว่างคำชี้แจงของแพทย์ชายกับพยานเอกสารหลักฐานสำคัญอื่น ๆ ฝ่ายผู้ฟ้องคดีได้กล่าวอ้างมาในคำคัดค้านคำให้การในการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น และได้กล่าวอ้างมาในคำอุทธรณ์แล้ว แต่คณะกรรมการแพทยสภาซึ่งวินิจฉัยตามความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ มิได้โต้แย้งคัดค้านแสดงพยานหลักฐานให้เห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำชี้แจงของแพทย์ชายแต่ประการใด จึงเห็นว่าพฤติการณ์และการกระทำของนายแพทย์ชายยังมีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีการกระทำตาม

คำร้องเรียนของผู้ฟ้องคดี และมีมูลอันควรสงสัยว่านายแพทย์ชายไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น ๆ ภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะ วิสัย และพฤติการณ์ที่มีอยู่ ตามข้อ ๑๕ ของข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๔๙ ซึ่งสมควรให้คณะอนุกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนในมูลดังกล่าวต่อไป ตามมาตรา ๓๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๕

จึงพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของแพทยสภาที่ยกข้อกล่าวหาของแพทย์ชาย (คำพิพากษา
ศาลปกครองสูงสุดที่ อร. ๕๗/๒๕๖๕)

จากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดข้างต้น จะเห็นได้ว่าศาลปกครองได้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งแพทยสภาที่ยกข้อกล่าวหาของแพทย์ผู้ถูกร้องเรียนว่า เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และได้วางหลักเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของแพทย์ว่า ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการจริยธรรมแห่งวิชาชีพ เวชกรรม นั้น จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ข้อเท็จจริงที่รับฟังมีความสอดคล้อง ตรงตามความเป็นจริงโดยปราศจากข้อสงสัย หากยังไม่ได้ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ยุติว่าแพทย์
ผู้ถูกกล่าวหาได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามมาตรฐานในระดับที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้น ๆ หรือไม่

ถือว่ากรณียังมีมูลอันควรสงสัยในเรื่องที่มีการร้องเรียนกล่าวหาอยู่ คณะอนุกรรมการฯ ยังคงมีหน้าที่สอบสวนเพื่อพิสูจน์ความผิดของแพทย์ผู้ถูกร้องเรียนต่อไป โดยไม่อาจมีมติยกข้อกล่าวหาได้ นั่นเองครับ

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่สายด่วนศาลปกครอง ๑๓๕๕ และสืบค้นเรื่องอื่น ๆ ได้จาก www.admincourt.go.th เมนูวิชาการ เมนูย่อยอุทาหรณ์จากคดีปกครอง)
กำลังโหลดความคิดเห็น