ศาล รธน.มติเสียงข้างมาก ชี้ขาดปมวุฒิสภาไม่เห็นชอบให้ “รัชนันท์ ธนานันท์” เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด ไม่ขัด รธน. ระบุ หากเจ้าตัวเห็นว่าถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องศาลอื่นได้
วันนี้ (12 ต.ค.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคําวินิจฉัยในคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีที่วุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ นายรัชนันท์ ธนานันท์ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขัดต่อหลักความเสมอภาค และความเป็นอิสระของการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครอง เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ อันเป็นผลจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และมาตรา 198 หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ที่โต้แย้งว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้ ก.ศป.เสนอชื่อผู้ได้รับการเลื่อนตำแหน่งหรือได้รับการคัดเลือกเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดต่อนายกฯ และให้นายกฯเสนอขอความเห็นชอบต่อวุฒิสภาภายใน 15 วัน เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วให้นายกฯนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มีความแตกต่างจากการแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม ที่ไม่ต้องให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ จึงขัดต่อหลักความเสมอภาคนั้น หลักความเสมอภาคเป็นหลักการคุ้มครองบุคคลโดยจำต้องปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระเหมือนกันอย่างเท่าเทียมกันและปฏิบัติต่อสิ่งที่มีสาระสำคัญแตกต่างกันให้แตกต่างกันไปตามลักษณะของเรื่องนั้นๆ
ซึ่งศาลยุติธรรมและศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ การจัดตั้ง และการพิจารณาคดีที่แตกต่างกัน ผู้พิพากษา หรือตุลาการแต่ละศาลจึงต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจกฎหมาย และความเชี่ยวชาญในคดีแต่ละประเภทตามความเหมาะสมของแต่ละศาล มีที่มาที่แตกต่างกัน การแต่งตั้งและการคัดเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งย่อมแตกต่างกันด้วย จึงไม่อาจนำความแตกต่างนี้มาพิจารณาเปรียบเทียบกับการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ และกระบวนการในการคัดเลือกตุลาการศาลปกครองสูงสุด ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ใช้บังคับกับผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น จึงไม่ขัดต่อหลักความเสมอภาค ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
ส่วนกรณีข้อโต้แย้งที่ว่า บทบัญญัติดังกล่าวแทรกแซงการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครอง และขัดต่อความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครองนั้น เห็นว่า วุฒิสภาถือเป็นองค์กรนิติบัญญัติมีบทบาทที่จะให้ความเห็นชอบบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งต่างๆที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 128 ซึ่งการที่กฎหมายกำหนดให้วุฒิสภาเข้ามามีบทบาทกลั่นกรองผู้เหมาะสมและสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีหลักการเพื่อให้ศาลปกครองอยู่ในฐานะที่มีเกียรติภูมิและศักดิ์ศรีเพื่อเป็นผู้กำกับดูแลหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอันจะทำให้ได้รับการยอมรับนับถือจากคู่กรณีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งนี้แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มิได้บัญญัติให้การแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา เหมือนในรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา แต่ยังคงหลักการเดิมในการคัดเลือกและแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองสูงสุดในพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่บัญญัติรับรองไว้แล้วจึงไม่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีก นอกจากนั้นการที่วุฒิสภาให้ความเห็นชอบของวุฒิสภาเป็นเพียงขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลัง ก.ศป.พิจารณาคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดแล้ว เป็นกระบวนการกลั่นกรองที่เกี่ยวกับความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขั้นตอนดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการคัดเลือกที่กระทำโดย ก.ศป. และองค์ประกอบของ ก.ศป. ไม่มีวุฒิสภาเข้าไปเกี่ยวข้อง การให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบของวุฒิสภาจึงไม่เป็นการใช้อำนาจขัดหรือแย้งกับ ก.ศป. และไม่กระทบต่อหลักความเป็นอิสระการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับตุลาการศาลปกครองสูงสุด ดังนั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 15 วรรคสาม ไม่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญมาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมาตรา 198
ส่วนที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่ามติหรือการกระทำของวุฒิสภาที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 มาตรา 15 วรรคสามเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และมาตรา 198 และขอให้เพิกถอนมติหรือการกระทำดังกล่าวนั้นเห็นว่า มติหรือการกระทำของวุฒิสภาตามที่กล่าวอ้างเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายมิใช่การใช้อำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหากมีผลกระทบต่อสถานภาพหรือสิทธิของบุคคลผู้ร้องเรียนสามารถใช้สิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมต่อศาลอื่นได้ ศาลจึงไม่รับวินิจฉัยคำขอในส่วนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุผลที่วุฒิสภามีมติไม่รับรองนายรัชนันท์เป็นตุลาการศาลปกครองถึง 2 ครั้งตามที่ ก.ศป.เสนอ มีรายงานว่า เนื่องจากวุฒิสภาพบข้อมูลว่าขณะนายรัชนันท์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ .กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี 2558 เคยไปต้อนรับ และถ่ายรูปร่วมกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้หลบหนีคดีทุจริตหลายคดีเมื่อครั้งไปเยือนฟินแลนด์ แม้นายรัชนันท์จะมีหนังสือชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด วุฒิสภา โดยยืนยันว่าไม่เคยรู้จัก หรือมีความสัมพันธ์ใดๆ ทั้งในหน้าที่ราชการหรือทางส่วนตัวและไม่เคยพบเห็นหน้าในทักษิณ มาก่อนตลอดชีวิตทั้งในหน้าที่ราชการและทางส่วนตัว รวมทั้งขณะปฏิบัติหน้าที่เอกอัครราชทูตฯ เมื่อทราบข่าวว่านายทักษิณเดินทางเข้าฟินแลนด์ไม่ได้ประสาน เพื่อดำเนินการเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก็เนื่องจาก ไทยไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับฟินแลนด์ และไม่เคยได้รับคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากกระทรวงการต่างประเทศหรือได้รับคำสั่งใดๆ จากกระทรวงการต่างประเทศเพื่อให้ดำเนินการกรณีนายทักษิณแต่อย่างใดทั้งสิ้น แล้วก็ตามแต่วุฒิสภาก็ยังคงเห็นว่ากรณีดังกล่าวอาจมีปัญหาเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง ขัดกับการดำรงตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่ไม่ควรฝักใฝ่ฝ่ายใด จึงมีมติไม่รับรองนายรัชนันท์