xs
xsm
sm
md
lg

ศาล ปค.สูงสุดพิพากษาสั่ง บ.ไทยโมโนเรล รื้อรถไฟฟ้ารางเดียวในสวนสัตว์เชียงใหม่ใน 60 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาล ปค.สูงสุด พิพากษาสั่ง บ.ไทยโมโนเรล ซึ่งเคยได้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้ารางเดียวในสวนสัตว์เชียงใหม่ รื้อถอนอุปกรณ์-ปรับพื้นที่ให้แล้วเสร็จใน 60 วัน โดยเสียค่าใช้จ่ายเอง หลังชี้องค์การสวนสัตว์บอกเลิกสัญญาถูกต้อง และให้คืนเงินประกัน 3 แสน แก่บริษัท

วันนี้ (19 ต.ค.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้น ให้บริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด ซึ่งเคยเป็นผู้ได้รับสัมปทานระบบขนส่งมวลชนภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ เมื่อปี 2547 รื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และทรัพย์สินต่างๆ ของบริษัท ไทยโมโนเรล ออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อย ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด โดยบริษัท ไทยโมโนเรล เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น และให้องค์การสวนสัตว์คืนเงินตามหลักประกันสัญญา จำนวน 319,704 บาท ให้แก่บริษัท ไทยโมโนเรล โดยชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากองค์การสวนสัตว์ไม่คืนเงินภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่บริษัท ไทยโมโนเรล

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวบริษัท ไทยโมโนเรล จำกัด ได้ยื่นฟ้องขอให้องค์การสวนสัตว์ฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาให้ดำเนินกิจการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเดียวภายในสวนสัตว์เชียงใหม่

ส่วนเหตุที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาดังกล่าว ระบุว่า แม้บริษัท ไทยโมโนเรล จะได้มีหนังสือขอปรับปรุงอัตราค่าบริการจากผู้ใช้บริการแล้วโดยขอเพิ่มรายการส่งเสริมการขายบัตรรถไฟฟ้ารางเดียวแบบพิเศษ ไม่จำกัดรอบในราคา 100 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใหญ่ และให้สิทธิพิเศษสำหรับเด็กที่ซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้าประเภทนี้พร้อมผู้ใหญ่ในราคา 50 บาทแต่เมื่อยังไม่ได้รับอนุญาต หรือยินยอมจากองค์การสวนสัตว์ฯ ก็ไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ จึงเป็นการฝ่าฝืนข้อ 10 ของสัญญา ซึ่งองค์การสวนสัตว์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันได้ตามข้อ 19 ของสัญญาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อองค์การสวนสัตว์ฯมีหนังสือด่วนที่สุดที่ ทส. 1101/1333 ลงวันที่ 13 ต.ค. 57 บอกเลิกสัญญาให้ดำเนินกิจการระบบขนส่งมวลชนภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ สัญญาเลขที่ 1/2547 ลงวันที่ 19 ม.ค 47 และบริษัท ไทยโมโนเรล ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วจึงเป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยชอบและมีผลให้สัญญาดังกล่าวสิ้นสุดลงโดยบริษัท ไทยโมโนเรล เป็นฝ่ายผิดสัญญา อุทธรณ์ของบริษัท ไทยโมโนเรล ที่ว่า การบอกเลิกสัญญาขัดต่อเจตนารมณ์การทำโครงการระบบขนส่งมวลชนภายในสวนสัตว์เชียงใหม่จึงไม่อาจรับฟังได้

นอกจากนี้ ตามสัญญาข้อ 20 กำหนดว่าเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงไม่ว่าโดยการบอกเลิกสัญญาหรือครบอายุสัญญาบริษัท ไทยโมโนเรล ต้องปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพสะอาดเรียบร้อยภายใน 60 วัน โดยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ดังนั้น เมื่อองค์การสวนสัตว์ได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยชอบและสัญญาได้สิ้นสุดลงแล้ว องค์การสวนสัตว์จึงมีสิทธิเรียกให้บริษัท ไทยโมโนเรล รื้อถอน ขนย้ายสิ่งปลูกสร้าง อุปกรณ์ และทรัพย์สินต่างๆ ออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย โดยบริษัท ไทยโมโนเรล เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายตามข้อสัญญาดังกล่าว และเมื่อระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนควบคุมอื่นๆอุปกรณ์และงานระบบต่างๆ ที่บริษัท ไทยโมโนเรล นำมายังเป็นของบริษัท เนื่องจากตามข้อ 15 ของสัญญากำหนดให้กรรมสิทธิ์ในสิ่งดังกล่าวจะตกเป็นขององค์การสวนสัตว์นับตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดให้ดำเนินกิจการตามสัญญาข้อ 4 ของสัญญา คือ 20 ปีนับตั้งแต่วันที่บริษัท ไทยโมโนเรล เปิดให้บริการระบบขนส่งมวลชนแก่ประชาชนทั่วไปได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 บริษัท ไทยโมโนเรล จึงมีหน้าที่ต้องขนย้ายสิ่งดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัท ไทยโมโนเรล ออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่ และปรับพื้นที่ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยโดยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเองด้วยและทรัพย์สินดังกล่าวของบริษัท ไทยโมโนเรล ไม่อาจถือว่าเป็นการงานที่บริษัท ไทยโมโนเรล ได้กระทำให้แก่องค์การสวนสัตว์แต่เป็นเพียงทรัพย์สินที่บริษัท ไทยโมโนเรล นำเข้ามาเพื่อใช้ในการดำเนินการตามสัญญาเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิเรียกให้องค์การสวนสัตว์ใช้เงินเป็นค่าการงานหรือค่าทรัพย์สินนั้นได้ตามมาตรา 391 วรรคสาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งกรณีนี้เป็นเรื่องการใช้สิทธิตามสัญญาไม่ใช่เป็นเรื่องการใช้อำนาจรัฐที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ให้คำนึงถึงหลักความได้สัดส่วนระหว่างผลประโยชน์ของส่วนรวมและเอกชนผู้ได้รับผลกระทบจึงมีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่แตกต่างจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.444/2555 ที่บริษัท ไทยโมโนเรล กล่าวอ้าง ดังนั้น อุทธรณ์ของบริษัท ไทยโมโนเรล ที่ว่าการรื้อถอนขนย้ายสิ่งปลูกสร้างอุปกรณ์และสิ่งต่างๆ ของบริษัท ไทยโมโนเรล ออกจากสวนสัตว์เชียงใหม่ขัดต่อเจตนารมณ์การจัดทำโครงการระบบขนส่งมวลชนภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ ทั้งยังขาดต่อหลักความได้สัดส่วนระหว่างประโยชน์ที่องค์การสวนสัตว์ฯจะได้รับจากโครงการรถไฟฟ้าและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้เข้าชมสวนสัตว์และองค์การสวนสัตว์ต้องคืนทรัพย์สินที่บริษัท ไทยโมโนเรล ได้ลงทุนให้แก่บริษัทนั้นจึงไม่อาจรับฟังได้

ส่วนองค์การสวนสัตว์ฯมีสิทธิเรียกให้บริษัท ไทยโมโนเรล ชำระเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เมื่อศาลปกครองชั้นต้นพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่างขององค์การสวนสัตว์แล้วเห็นว่าแม้ว่าตั้งแต่เปิดให้บริการรถไฟรางเดียวจนถึงวันที่องค์การสวนสัตว์บอกเลิกสัญญาองค์การสวนสัตว์จะยังไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ข้อ 5 ของสัญญาเนื่องจากรายได้จากการจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟฟ้ารางเดียวในแต่ละเดือนยังไม่เกินกว่าเงินค่าประกันรายได้ขั้นต่ำตามสัญญาก็ตาม แต่เมื่อบริษัท ไทยโมโนเรลเป็นผู้ลงทุนและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินกิจการระบบขนส่งมวลชนภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ตามสัญญาเองทั้งหมดโดยองค์การสวนสัตว์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงทุนแต่อย่างใดเบี้ยปรับจึงสูงเกินส่วนและลดเบี้ยปรับลงเหลือเพียง 1 ใน 4 ของจำนวนเงินเบี้ยปรับทั้งหมด 1 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวน 250,000 บาทนั้น ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่า เหมาะสมและเป็นคุณแก่บริษัท ไทยโมโนเรล มากแล้ว ดังนั้น องค์การสวนสัตว์ฯจะต้องคืนหลักประกันให้แก่บริษัท ไทยโมโนเรลเป็นเงินจำนวน 750,000 บาท แต่โดยที่บริษัท ไทยโมโนเรล มีหนี้ค่ากระแสไฟฟ้าค้างชำระแก่องค์การสวนสัตว์จำนวน 430,296 บาท องค์การสวนสัตว์ฯจึงต้องคืนเงินตามหลักประกันสัญญาเป็นเงินจำนวน 319,704 บาท ให้กับบริษัท ไทยโมโนเรล ดังนั้นการที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาดังกล่าวศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น