xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่”อำนาจเต็มมือ กำหนดเกมเบ็ดเสร็จ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมืองไทย 360 องศา

สิ้นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา สรุปให้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปจนถึงวันที่ 23 เมษายน 2568 หรืออีกราว 2 ปี นั่นเท่ากับว่าอำนาจทั้งหมดได้กลับมาอยู่ในมือของเขาอย่างเต็มเปี่ยมอีกครั้ง เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมรอบตัวนั้นได้เอื้ออำนวยให้อย่างเหมาะเจาะพอดี

โดย 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัย ปมข้อสงสัย 8 ปีนายกรัฐมนตรี แล้ว มีมติออกมาว่า ให้นับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ คือเมื่อวันที่ 6 เม.ย.60 เป็นต้นไป ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ด้วยมติ 6 ต่อ 3 เสียง

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของส.ส.ฝ่ายค้านขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ โดยศาลมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง

โดยสรุปก็คือ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับในวันที่ 6 เม.ย.60 และผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของผู้ถูกร้องจึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ จึงอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 158 วรรคสี่ ทั้งนี้ การให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง

ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกร้องจึงดำรงนายกรัฐมนตรีตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.60 ถึงวันที่ 24 ส.ค. 65 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติเสียงข้างมาก จึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

เอาเป็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้จนถึงวันที่ 5 เมษายน 2568 หรือยังเหลือเวลาอีกร่วม 2 ปี เข้าใจง่ายๆ สั้นๆ แค่นี้ ส่วนใครอยากอ่านรายละเอียดก็ไปหาอ่านกันได้ทั่วไป

เมื่อผลออกมาแบบนี้ มันก็ชัดเจนว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “ได้ไปต่อ” แม้ว่าจะอีกแค่ 2 ปี หรือ “เหลือแค่ครึ่งเดียว” แทนที่จะเต็มแม็กวาระ 4 ปี อย่างไรก็ดี การเมืองไทยต้องมองกันทีละช็อตต่อช็อต

เริ่มจากเฉพาะหน้าก่อน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้วว่าให้ “ไปต่อ” ได้ มันก็ทำให้อำนาจในมือของนายกรัฐมนตรีที่ชะงักงันชั่วคราวจากคำสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาหนึ่งเดือนเศษที่ผ่านมา ได้กลับมาอย่างเต็มร้อยอีกครั้ง และเชื่อว่าจะมีการ “ขับเคลื่อน” อย่างเต็มกำลังนับจากนี้ไปทันที

หากสังเกตการเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ ทันทีที่รับทราบผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา ก็ได้เห็นการเคลื่อนไหวออกมาหลายอย่าง เช่น การสั่งการในฐานะนายกรัฐมนตรี การออกมาตรฐการป้องกันช่วยเหลือ กำหนดการเยี่ยมเยียนประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมไปถึงมาตรการบรรเทาเยียวยาเศรษฐกิจปากท้องสารพัด มองในทางการเมือง นี่คือการตอกย้ำให้เห็นถึงอำนาจนายกรัฐมนตรีที่ใช้ในการขับเคลื่อน

และที่ต้องจับตากันก็คือการ “ปรับคณะรัฐมนตรี” ที่ล่าสุดเริ่มมีการเคลื่อนไหวจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาล โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคที่แสดงท่าทีต้องการให้ปรับคณะรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคเพื่อทดแทนตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในโควตาของพรรค หลังจากนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคได้ลาออกไปเพื่อต่อสู้คดี

แน่นอนว่าสำหรับพรรคประชาธิปัตย์ย่อมต้องการให้ปรับคณะรัฐมนตรี มีการแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างเพื่อรักษาโควตา ซึ่งย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยเฉพาะในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ถือว่าสำคัญสำหรับพื้นที่เลือกตั้ง

อย่างไรก็ดี อำนาจการปรับคณะรัฐมนตรีขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี แม้ว่าสำหรับพรรคประชาธิปัตย์คงต้องปรับ แต่ขณะเดียวกันเขาจะฉวยโอกาสในการปรับพร้อมกันทีเดียวตามตำแหน่งที่ว่างลงสามสี่เก้าอี้หรือไม่ เพราะเวลานี้นอกจากสองตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการของพรรคพลังประชารัฐที่ว่าง ลงมานานนับปีแล้ว รวมตำแหน่งของ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาฯ จากพรรคภูมิใจไทย ที่ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จากคดีรุกป่าสงวนฯ นอกเหนือจากการลาออกของ นายนิพนธ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ดังกล่าว ซึ่งการปรับครม.ในรัฐบาลผสมหากมองอีกมุมหนึ่ง มันก็มีความเสี่ยงทุกครั้งในเรื่องของ “แรงกระเพื่อม” ในพรรค ในรัฐบาล เพราะอาจเกิดปัญหาแตกแตกบานปลายจนอาจทำให้รัฐบาลพังได้

อย่างไรก็ดี แม้จะเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมา แต่ยังเชื่อว่าไม่ถึงขั้นบานปลายใหญ่โต ประกอบกับอย่างที่ระบุไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า “อำนาจ” ของ “บิ๊กตู่” เวลานี้ได้กลับมาอยู่ในมือได้เต็มร้อยอีกครั้ง และจะกลายเป็น “ผู้กำหนดเกม” ในระยะเวลาที่เหลืออยู่ อย่างน้อยในเฉพาะหน้า ที่เขาจะอยู่ในวาระของรัฐบาลที่เหลืออยู่ ว่าเขาจะกำหนดว่า “จะอยู่จนถึงตอนไหน” อยู่จนครบวาะในเดือนมีนาคมปีหน้า หรือ “ยุบสภา” ปลายปีนี้

ซึ่งทั้งสองแนวทางก็มีความเป็นไปได้พอๆ กัน แม้ว่าจะ“เหลื่อม” ไปทางหลังนั่นคือ การยุบสภา มากกว่าก็ตาม และที่คาดการณ์กันว่ายุบสภาปลายปี ก็น่าจะเกิดขึ้นหลังการเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ในเดือนพฤศจิกายนนั่นเอง เพราะถือว่าเป็นงานใหญ่ระดับโลก และสำหรับ “บิ๊กตู่” ก็ต้องการ “สร้างชื่อ” เป็นเกียรติกกับตัวเอง และประเทศชาติ อย่างน้อยก็สักครั้งในโอกาสที่ตัวเองเป็นผู้นำ เพราะหากทุกอย่างออกมาดี มันก็ย่อมส่งผลในด้านเครดิตทางการเมืองต่อเนื่องไปถึงอนาคตอีกด้วย
จากนั้น เวลาที่เหลืออีก 2 ปี สำหรับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าอาจจะไม่มาก แค่ “ครึ่งเดียว” จากวาระสภา 4 ปี หลังการเลือกตั้ง แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็ต้องถือว่า “พาวเวอร์” อันเต็มเปี่ยมของเขาที่กลับมาอยู่ในมือหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อพิจารณาจากปฏิกิริยาจากสังคมในช่วง “สุญญากาศ” ก่อนหน้านี้ราวเดือนเศษ แม้ว่าจะมีคนไม่ชอบ “บิ๊กตู่” ไม่น้อย แต่ขณะเดียวเขาก็ยังมี “แฟนคลับ” เหนียวแน่นจำนวนมากเช่นกัน และมองว่านี่แหละคือคู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อกับ “โทนี่แม้ว” นายทักษิณ ชินวัตร

แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามดัน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นมา แต่ถึงอย่างไรในทาง “กระแส” สังคมภายนอกก็ต้องยอมรับความจริงว่า ยังขายไม่ค่อยได้ แม้จะยอมรับความจริงว่าเขามี “บารมีในวงใน” ในระดับภายในพรรคพลังประชารัฐที่เขาคุมอยู่ แต่การเมืองมันก็ต้องมีกระแสภายนอกเป็นแรงส่ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเขายังมีจุดอ่อนมากมาย

ดังนั้นมันถึงได้ออกมาในสูตร “คนละครึ่ง” ในกลุ่ม “สองป.” คือ ป.ประยุทธ์ กับ ป.ป้อม สำหรับการเลือกตั้งคราวหน้า นั่นคือมีแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐสองคนแรกคือ พล.อ.ประยุทธ์ อันดับหนึ่ง และพล.อ.ประวิตร อันดับสอง แบ่งกันคนละสองปี ตามวาระ 8 ปีที่เหลืออยู่ จนถึงปี 2568 แม้ว่าสูตรนี้มองเผินๆ อาจจะไม่เวิร์ก เสี่ยงเป็นเป้าโจมตีหรือ “หาเสียงยาก” แต่มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเวลาที่เหลืออยู่ในตอนนี้ “บิ๊กตู่” สามารถสร้างผลงานได้เป็นที่จดจำได้แค่ไหน และถูกตอกย้ำให้เห็นว่า เขายังจำเป็นต้องสานต่องานใหญ่ให้เสร็จได้หรือไม่ โดยเฉพาะเป้าหมายในการ “สกัดกั้น” การกลับมาของ “นายโทนี่” หรือไม่อีกด้วย

เพราะหากต้องการแบบนี้มันก็ย่อมทำให้ “กระแสเรียกร้อง” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเลือกตั้งคราวหน้ามันก็ยังพอมีน้ำหนัก แต่หากในที่สุดแล้วเขาไม่เล่นด้วย ขอจบเกมหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการประชุมเอเปกในปลายปีนี้แล้วกลับบ้าน ก็จบกัน ทางใครทางมัน แต่สำหรับนาทีนี้ หากให้คาดเดาก็ยังมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นคนกำหนดเกมอย่างแน่นอน

แม้ว่าล่าสุดมีคนในพรรคพลังประชารัฐพยายามคิดสูตรเสนอแคนดิเดตบัญชีนายกฯ 3 ชื่อ คือ บิ๊กตู่- บิ๊กป้อม โดยเสนอชื่อ บิ๊กป้อม” เป็นนายกฯแล้วให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรองนายกฯ หรือรัฐมนตรีกลาโหม เชื่อว่าแบบนี้คิดได้ แต่คงเป็นไปไม่ได้ เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ถอยลงมาเป็นรัฐมนตรี หรือ “บทพระรอง” แน่นอน หากออกรูปนี้ขอสร้างผลงานให้เต็มที่ให้เสร็จสิ้นในเวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้แล้วกลับบ้านอย่างเท่ๆ ดีกว่า !!


กำลังโหลดความคิดเห็น